ห้องแต่งกลอนตามฉันทลักษณ์มีกติกาไม่เหมือนห้องอื่น...รบกวนอ่านก่อนนะครับ โดยคลิ๊กที่นี่อินทรวิเชียรฉันท ๑๑กฏ1. บทหนึ่งมี 2 บาท บาทหนึ่งมี 2 วรรค วรรคหน้ามี 5 คำ วรรคหลังมี 6 คำ รวมบาทหนึ่งมี 11 คำ จึงเรียกว่า ฉันท์ ๑๑
2. ครุ-ลหุ : คำที่ 3 ของวรรคหน้า กับคำที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ของวรรคหลังเป็นลหุ นอกนั้นเป็นครุ
3. ส่งสัมผัสแบบกาพย์ คำสุดท้ายของวรรคที่ 1 สัมผัสกับคำที่สามของวรรคที่ 2 (เป็นสัมผัสไม่บังคับ แต่ถ้ามีจะทำให้ฉันท์บทนั้นไพเราะยิ่งขึ้น) และ คำสุดท้ายของวรรคที่ 2 สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ 3
สัมผัสระหว่างบท คือคำสุดท้ายของวรรคที่ 4 ของบทแรก จะต้องสัมผัสกับ คำสุดท้ายของวรรคที่ 2 ในบทถัดไป
4. ความนิยม อินทรวิเชียรฉันท์ นิยมใช้แต่งข้อความที่เป็นบทชมหรือบทคร่ำครวญนอกจากนี้ยังแต่งเป็นบทสวด หรือพากย์โขนด้วย
คำครุได้แก่คำที่ประสมด้วยสระเสียงยาวในแม่ ก กา เช่น กา ตี งู กับคำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นหรือยาวก็ได้ที่มีตัวสะกด เช่น นก บิน จาก รัง นอน และคำที่ประสมด้วยสระ อำ ไอ ใอ เอา ซึ่งถึอว่าเป็นเสียงมีตัวสะกด
คำลหุได้แก่คำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก กา เช่น จะ ติ มุ เตะ และคำที่ใช้พยัญชนะคำเดียว เช่น ก็ บ่ ณ ธ นอกจากนี้คำที่ประสมด้วย สระอำ บางทีก็อนุโลมให้เป็นคำลหุได้ เช่น ลำ
คำลหุ เวลาเขียนเป็นสัญลักษณ์ ใช้เครื่องหมายเหมือนสระอุ แทน
ตัวอย่างธมฺโม หเว รกฺ- ขติ ธมฺมจารึ
ชนใดหทัยอิง สติยึดประพฤติธรรม
ซื่อสัตย์วิรัติชั่ว บมิกลั้ว ณ บาปกรรม
เว้นทิฏฐิสารัม ภกิเลสและโทษผยอง
พร้อมกายวจีจิตร สุจริตพินิจตรอง
ธรรมแลจะคุ้มครอง นรนั้นนิรันดร
ให้ปราศนิราศทุกข์ ประลุสุขสโมสร
หลักฐานสถาพร ธุระกอบก็เกิดผล
ธรรมแลจะแผ่กั้น และก็กันมิให้ตน
ตกต่ำถลำจน เจอะอบายวิบัติเขว
ฉตฺตัง มหนฺตัง วิย วสฺสกาเล
เหมือนเมื่อวสันต์เท ชลหลั่งถะถั่งสาย
ร่มใหญ่ผิกางกั้น จะประกันมิเปียกกาย
ธรรมดุจร่มหมาย เฉพาะธรรมจารี
เหตุนี้ประชาชาติ ละประมาทประพฤติดี
ยึดธรรมประจำชี วิตเถิดประเสริฐแล
ที่มา :
www.kruwallapa.comและ หนังสืออ้างอิง รศ.วิเชียร เกษประทุม,2550,ลักษณะคำประพันธ์ไทย,สำนักพิมพ์พัฒนาศึกษา,หน้า 22,139