ห้องแต่งกลอนตามฉันทลักษณ์มีกติกาไม่เหมือนห้องอื่น...รบกวนอ่านก่อนนะครับ โดยคลิ๊กที่นี่โคลงสี่สุภาพ โคลงสี่สุภาพหนึ่งบทจะมี ๔ บรรทัด บรรทัดหนึ่งเรียกว่า "บาท" เพราะฉะนั้นโคลงสี่สุภาพหนึ่งบท จะมี ๔ บาท ในบาทหนึ่งจะมี ๒ วรรค วรรคหน้าจะมี ๕ คำ วรรคหลังของบาทที่ ๑ บาทที่ ๒ และบาทที่ ๓ จะมี ๒ คำ ส่วนวรรคหลังของบาทที่ ๔ จะมี ๔ คำ ซึ่งรวมแล้วโคลงสี่สุภาพหนึ่งบทจะมีจำนวนคำทั้งสิ้น ๓๐ คำ
จำนวนพยางค์ต้องมีตามหน่วยที่ได้เขียนไว้ในแผนผัง ถ้าหากเป็นพยางค์ลักษณะของลหุอาจจะมีได้มากเกินกว่าที่แผนผังได้กำหนดไว้ก็ได้ แต่จะต้องไม่ยาวจนมีความรู้สึกว่าเยิ่นเย้อจนทําให้อ่านไห้ถูกทํานองและจังหวะไม่ได้
การสัมผัส โคลงสี่สุภาพมีรูปแบบการสัมผัสดังแผนผัง นอกเหนือจากการสัมผัสบังคับตามแผนผังแล้ว นั้น ยังมีการสัมผัสอีกสองรูปแบบที่ช่วยเพิ่มความไพเราะให้กับคำประพันธ์ที่เป็นโคลงสี่สุภาพยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งได้แก่
สัมผัสใน ได้แก่คำที่คล้องจองกันและอยู่ในวรรคเดียวกัน จะเป็นสัมผัสคู่เรียงคำไว้ติดต่อกัน หรือจะเป็นสัมผัสสลับ คือเรียงคำอื่นแทรกคั่นไว้ระหว่างคำสัมผัสก็ได้ สุดแต่จะเหมาะทั้งไม่มีกฎเกณฑ์จํากัดไว้ว่า จะต้องมีอยู่ตรงนั้นตรงนี้เหมือนอย่างสัมผัสนอก และไม่จำเป็นจะต้องใช้สระอย่างเดียวกันด้วย เพียงแต่ให้อักษรเหมือนกันหรือเป็นอักษรประเภทเดียวกันหรืออักษรที่มีเสียงคู่กันก็สามารถนำมาใช้ได้ สัมผัสในสามารถแบ่งแแกได้เป็น ๒ ชนิดได้แก่ สัมผัสสระ และสัมผัสอักษร
สัมผัสอักษร การสัมผัสอักษรระหว่างวรรคคือการให้คำสุดท้ายของวรรคหน้า สัมผัสอักษรกับคำหน้าของวรรคหลังเช่น ขึ้น กับ เคียง กา กับ กู่ ตา กับ ตาม จ้อง กับ จึ่ง ดัง
วรรณยุกต์- โคลงหนึ่งบทจะมีวรรณยุกต์เอก ๗ ตำแหน่ง และวรรณยุกต์โท ๔ ตำแหน่ง ดังที่แสดงไว้ในแผนผัง
- ตำแหน่งวรรณยุกต์เอก และวรรณยุกต์โทในบาทที่ ๑ สามารถที่จะวางสลับตำแหน่งกันได้ คือเอาวรรณยุกต์ที่เป็นเอกไปวางไว้ในคำที่ ๕ และเอาวรรณยุกต์ที่เป็นโทมาไว้เป็นคำที่ ๔ ก็ได้ ในบรรดาโคลงทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นโคลงสุภาพ หรือโคลงดั้น สามารถนํามาสลับกันได้เสมอ ดังตัวอย่าง
ไยแม่ย่างเท้าเยี่ยง หญิงวัง
กะเดียดกะทายเพียงพัง พับล้ม
พิศผ่องผ่ายผอมพลัง เพลาซีด เซียวแม่
อยู่พี่แย่เยงก้ม กัดก้อนเกลือกิน
เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ
- คำที่ ๗ ของบาทที่ ๑ และคำที่ ๕ ของบาทที่ ๒ และบาทที่ ๓ ห้ามใช้คำที่มีรูปวรรณยุกต์
- ห้ามใช้คำตายที่ผันด้วยวรรณยุกต์โท ในตำแหน่งโท และห้ามนำมาใช้เป็นคำสุดท้ายของบท
คำตายคือ1. คำที่ประสมสระเสียงสั้นแม่ ก กา (ไม่มีตัวสะกด) เช่นกะ ทิ สิ นะ ขรุ ขระ เละ เปรี๊ยะ เลอะ โปีะ ฯลฯ
2. คำที่สะกดด้วยแม่ กก กบ กด เช่น เลข วัด สารท โจทย์ วิทย์ ศิษย์ มาก โชค ลาภ ฯลฯ
- คำสุดท้ายของบท ห้ามใช้คำตายและคำที่มีรูปวรรณยุกต์อื่น ๆ หากแต่ว่ากันว่าการลงท้ายบท การใช้เสียงจัตวาที่ไม่ปรากฎรูปจะเป็นที่นิยมและไพเราะยิ่ง
- คำที่เป็นเอกโทษคือใช้เอกในที่ผิด เช่น หน้า เขียนเป็น น่า ฯลฯ และ โทโทษ คือใช้โทในที่ผิด เช่น หรือ เขียนเป็น รื้อ , เล่น เขียนเป็น เหล้น ฯลฯ คำชนิดนี้โบราณผ่อนผันให้ใช้ได้ แต่มาบัดนี้ไม่ใคร่นิยมใช้เพราะเป็นการขอไปทีอย่างมักง่าย ทั้งทําให้รูปของคำที่นำมาใช้เสียไปด้วย
คำสร้อย ถ้าเนื้อความยังไม่สิ้นกระแส จะเติมสร้อยลงในท้ายบาทที่ ๑ บาทที่ ๒ บาทที่ ๓ และบาทที่ ๔ ก็ได้ แต่ในปัจจุบันไม่นิยมที่จะเติมสร้อยในบาทที่ ๔ จึงไม่ใคร่จะได้เห็นในการแต่งโคลง ๔ สุภาพทั่ว ๆ ไป แต่หากในหนังสือโคลงรุ่นเก่า ๆ เราอาจจะพบเห็นได้บ่อย แม้หากเราจะแต่งเล่นบ้างก็สามารถที่จะทําได้ไม่ผิดข้อบัญญัติแต่ประการใด คำสร้อยซึ่งใช้ต่อท้ายโคลงสี่สุภาพในบาทที่ 1 และบาทที่ 3 นั้น จะใช้ต่อเมื่อความขาด หรือยังไม่สมบูรณ์ หากได้ใจความอยู่แล้วไม่ต้องใส่ เพราะจะทำให้ "รกสร้อย"
คำสร้อยที่นิยมใช้กันเป็นแบบแผนมีทั้งหมด 18 คำ1.พ่อ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล
2.แม่ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล หรือเป็นคำร้องเรียก
3.พี่ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล อาจใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 หรือบุรุษที่ 2 ก็ได้
4.เลย ใช้ในความหมายเชิงปฏิเสธ
5.เทอญ มีความหมายเชิงขอให้มี หรือ ขอให้เป็น
6.นา มีความหมายว่าดังนั้น เช่นนั้น
7.นอ มีความหมายเช่นเดียวกับคำอุทานว่า หนอ หรือ นั่นเอง
8.บารนี สร้อยคำนี้นิยมใช้มากในลิลิตพระลอ มีความหมายว่า ดังนี้ เช่นนี้
9.รา มีความหมายว่า เถอะ เถิด
10.ฤๅ มีความหมายเชิงถาม เหมือนกับคำว่า หรือ
11.เนอ มีความหมายว่า ดังนั้น เช่นนั้น
12.ฮา มีความหมายเข่นเดียวกับคำสร้อย นา
13.แล มีความหมายว่า อย่างนั้น เป็นเช่นนั้น
14.ก็ดี มีความหมายทำนองเดียวกับ ฉันใดก็ฉันนั้น
15.แฮ มีความหมายว่า เป็นอย่างนั้นนั่นเอง ทำนองเดียวกับคำสร้อยแล
16.อา ไม่มีความหมายแน่ชัด แต่จะวางไว้หลังคำร้องเรียกให้ครบพยางค์ เช่น พ่ออา แม่อา พี่อา หรือเป็นคำออกเสียงพูดในเชิงรำพึงด้วยวิตกกังวล
17.เอย ใช้เมื่ออยู่หลังคำร้องเรียกเหมือนคำว่าเอ๋ยในคำประพันธ์อื่น หรือวางไว้ให้คำครบตามบังคับ
18.เฮย ใช้เน้นความเห็นคล้อยตามข้อความที่กล่าวหน้าสร้อยคำนั้น เฮย มาจากคำเขมรว่า "เหย" แปลว่า "แล้ว" จึงน่าจะมีความหมายว่า เป็นเช่นนั้นแล้ว ได้เช่นกัน
ที่มา :
www.dekgeng.com www.st.ac.thความรู้เพิ่มเติม (มีประโยชน์มาก) :
www.drnui.com