เมื่อถึงครา เดือนเด่น เพ็ญสิบสอง
กระทงทอง ตองกล้วย ดูสวยใส
ไม้ไผ่กลัด จัดเรียง เคียงฤทัย
จีบคว่ำไว้ ใช้ประกบ อย่างครบครัน
ดอกดาวเรือง เติมลง ตรงกลางหนอ
ชีวิตต่อ แต่นี้ อย่ามีผัน
จงประสบ แต่สุข ทุกคืนวัน
เรืองรองพลัน ทันที มีมั่นคง
อีกดอกเข็ม เต็มกรวย ช่วยแซมเข้า
หลักแหลมเท่า เทียมทัน อันประสงค์
เปรียบนักปราชญ์ ฉลาดแท้ แปลตามตรง
เคียงกระทง เสร็จสรรพ งามจับใจ
นำธูปเทียน ปักใส่ ไว้กลางด้วย
จัดให้สวย ตามจินต์ สิ้นสงสัย
ตัดเล็บมือ เล็บเท้า ใส่เข้าไป
อธิษฐาน ลอยเคราะห์ให้ ไปไกลตา
ความไม่ดี ทั้งหลาย จงกลายลับ
ความทุกข์ทับ ถมอยู่ โปรดรู้ว่า
ให้ล่องหน หายไป ในคงคา
ให้สุขมา ประชิด ติดกายตน
ขอให้จิต เย็นดั่งชล กมลพร้อม
ขอนอบน้อม แม่วารี อย่ามีหม่น
ลูกสำนึก ถึงคุณ ค้ำจุนคน
สิ่งชั่วฉล หล่นหลบ พบแต่ดี..เทอญ
พันทอง
๑๗/๑๑/๕๖
เหตุผลและความเชื่อของการลอยกระทง สาเหตุที่มีประเพณีลอยกระทงขึ้นนั้น เกิดจากความเชื่อหลาย ๆ ประการของแต่ละท้องที่ ได้แก่
1.เพื่อแสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ตลอดจนเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในน้ำ อันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด
2.เพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ และได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนหาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุทท
3.เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพราะการลอยกระทงเปรียบเหมือนการลอยความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้ลอยตามแม่น้ำไปกับกระทง คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์
4.เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ที่ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล โดยมีตำนานเล่าว่าพระอุปคุตเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้
5.เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
6.เพื่อความบันเทิงเริงใจ เนื่องจากการลอยกระทงเป็นการนัดพบปะสังสรรค์กันในหมู่ผู้ไปร่วมงาน
7.เพื่อส่งเสริมงานฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ เพราะเมื่อมีเทศกาลลอยกระทง มักจะมีการประกวดกระทงแข่งกัน ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เกิดความคิดแปลกใหม่ และยังรักษาภูมิปัญหาพื้นบ้านไว้อีกด้วย