ข้อห้ามในกลอนแปด ท้ายวรรค น่าจะมาจาก ปฐยาวัตตฉันท์ ในคัมภีร์วุตโตทัย นะครับ ขอนำประวัติที่มาของ กลอน มาลงให้อ่าน
และพิจารณาดูว่า เป็นไปได้ไหม
ที่มาของ “กลอน”
หลวงธรรมาภิมณฑ์ ( ถึก ) เชื่อว่า กลอน มีที่มาจากคำฉันท์ในหมวดวิสมพฤตมีกำหนด
วรรคละ 8 คำ แต่ไม่กำหนด ครุ – ลหุ แบบฉันท์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ได้สนับสนุนแนวคิดนี้ โดย สันนิษฐานว่า กลอนแปด
น่าจะมาจาก ปฐยาวัตตฉันท์ ในคัมภีร์วุตโตทัย
กลอน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1.กลอนสำหรับอ่าน เช่น กลอนเพลงยาว
2.กลอนสำหรับขับร้อง เช่น กลอนบทละคร, กลอนเสภา, กลอนสักวา, กลอนดอกสร้อย
กลอน น่าจะมีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาตอนต้น แต่ยังขาดหลักฐานที่แน่นอน เช่น กลอนเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา,
“กลอนกลบทสิริวิบุลกิติ” ของหลวงศรีปรีชา ( เซ่ง ), กลอนเพลงยาวเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร
กลอน บทหนึ่งมี 2 บาท บาทหนึ่งมี 2 วรรค วรรคหนึ่งมี 6 – 7 – 8 คำ ( ถ้าเป็นกลอนเสภา วรรคหนึ่งมีได้ถึง 9 คำ ) มีทั้งสัมผัสนอก, สัมผัสใน,
สัมผัสระหว่างบท
ตัวอย่าง กลอนเพลงยาว ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
........................ โฉมหอมหอมเหิรเวหาหวล
แต่โหยหามิได้เว้นทิวาครวญ ............................................
กลอนเพลงยาว จะขึ้นต้นด้วย วรรคที่ 2 ของคำกลอน เหมือนกับ กลอนนิราศ
ที่มาของ “โคลง”
โคลง มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พ.ศ. 1893 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
( พระเจ้าอู่ทอง ) ได้พัฒนามาจากร่ายโบราณ ที่มีคำสร้อย ( คำสร้อยนั้นสามารถส่งสัมผัสได้เพียงแต่ส่งกระโดดข้ามไปวรรคหนึ่ง )
เรียกว่า “โคลงมณฑกคติ” หรือกบเต้น เช่น โคลงมณฑกคติ ในลิลิตโองการแช่งน้ำ
นานาอเนกน้าวเดิมกัลป์ จักร่ำจักรวาฬเมื่อไหม้
กล่าวถึงตระวันเจดอันพรุ่ง น้ำแล้งไข้ขอดหาย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นำโคลงบทนี้มาวางแผนผังใหม่ในแบบโคลงโบราณที่เป็นกลบท เรียกว่า
“กลบทเก็บบท” (ซึ่งยังไม่เคร่งครัดเรื่องสัมผัสและคำเอกคำโท)
นานาอเนกน้าว เดิมกัลป์
จักร่ำจักรวาฬ เมื่อไหม้
กล่าวถึงตระวันเจด อันพรุ่ง
อันพรุ่งน้ำแล้งไข้ ขอดหาย
โคลงที่เก่าที่สุดของเมืองเหนือ คือ โคลงอุสสบารส แต่งเมื่อประมาณ พ.ศ. 1900 หลังจากมีโคลงมณฑกคติ มา 7 ปี
( จาก “มหากาพย์ท้าวบาเจือง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์” ดร.ประคอง นิมมานเหมินทร์, วิทยานิพนธ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530 )
ประเภทของโคลง โคลงแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
(1.) โคลงโบราณ มี 8 ชนิด ได้แก่ 1. วิชชุมาลี 2. มหาวิชชุมาลี 3. จิตรลดา 4. มหาจิตรลดา
5. สินธุมาลี 6. มหาสินธุมาลี 7. นันททายี 8. มหานันททายี
(2.) โคลงดั้น มี 4 ชนิด ได้แก่ 1. โคลงสองดั้นวิวิธมาลี 2. โคลงสามดั้นวิวิธมาลี
3. โคลงสี่ดั้นวิวิธมาลี 4. โคลงสี่ดั้นบาทกุญชร
(3.) โคลงสุภาพ มี 8 ชนิด ได้แก่ 1. โคลงสองสุภาพ 2. โคลงสามสุภาพ
3. โคลงสี่สุภาพ 4. โคลงห้า 5. โคลงจัตวาทัณฑี
6. โคลงตรีพิธพรรณ 7. โคลงกระทู้ 8. โคลงกลบท
ตัวอย่าง โคลงกลบทเก็บบท
กล่าวถึงน้ำฟ้าฟาด ฟองหาว
ฟองหาวดับเดโช ฉ่ำหล้า
ฉ่ำหล้าปลาดิ้นดาว เดือนแอ่น
เดือนแอ่นลมกล้าป่วน ไปมา ( จากลิลิตโองการแช่งน้ำ )
ตัวอย่าง โคลงโบราณมหาวิชชุมาลี ( ที่มีลักษณะข้อบังคับของโคลงดั้น )
บุญเจ้าจอมโลกเลี้ยง โลกา
ระเรื่อยเกษมสุขพูน ใช่น้อย
แสนสนุกศรีอโยธยา ฤๅร่ำ ถึงเลย
ทุกประเทศชมค้อยค้อย กล่าวอ้างเยิรยอ ( จากลิลิตพระลอ )
(คำโท 2 ที่ เป็นบัญญัติของโคลงดั้น ลักษณะของโคลงดั้นเคร่งครัดในเรื่อง จำนวนคำ, สัมผัส, และเอกโท ทำให้แต่งได้ยาก )
ตัวอย่าง โคลงจัตวาทัณฑี
โคลงหนึ่งนามแจ้งจัต วาทัณ ฑีนา
บังคับรับกันแสดง อย่างพร้อง
เลบงแบบแยบยลผัน แผกชนิด อื่นเอย
ที่สี่บาทสอดคล้อง ท่อนท้ายบทประถม
ที่มาของ “ ร่าย ”
ร่ายโบราณ ของไทยมีที่มาจาก ร้อยแก้วชนิดพิเศษ ที่มีจังหวะและมีสัมผัส ในศิลาจารึก
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยพัฒนามาเป็น “คัทยกาพย์” คือครึ่งร่ายครึ่งร้อยแก้ว
ร่าย มี 4 ประเภทคือ 1. ร่ายโบราณ 2. ร่ายสุภาพ 3. ร่ายดั้น 4. ร่ายยาว
วิธีดูประเภทของร่าย
1.ร่ายโบราณ ถ้าร่ายบทใด ตอนจบไม่มีการเปลี่ยนสัมผัส ร่ายนั้นคือ ร่ายโบราณ
2.ร่ายดั้น ถ้าร่ายบทใด ตอนจบไม่มีสัมผัส ( ลงแบบสองบาทท้ายของโคลงดั้นวิวิธมาลี ) ร่ายนั้น คือ ร่ายดั้น
3.ร่ายสุภาพ ถ้าร่ายบทใด ตอนจบย้ายสัมผัส ( ลงแบบโคลงสองสุภาพและเป็นวรรณยุกต์โท
คือย้ายจากการส่งสัมผัสจากตัวที่ 1 – 2 – 3 ไปเป็นตัวที่ 5 และคำส่งสัมผัสเป็นคำโท
คำรับสัมผัส ก็เป็นคำโท ) ร่ายนั้น เรียกว่า ร่ายสุภาพ
4.ร่ายยาว ถ้าร่ายบทใด มีจำนวนคำในแต่ละวรรค มากกว่า 5 คำ ร่ายนั้นคือ ร่ายยาว
การสัมผัสของร่าย มีการส่งสัมผัสท้ายวรรค และมีสัมผัสเชื่อมกับต้นวรรคหน้า ต่อไปเช่นนี้จนจบ
การส่งและรับสัมผัส ต้องเป็นคำชนิดเดียวกันเช่น ส่งคำเป็น ก็ต้องรับคำเป็น ส่งคำตาย ก็ต้องรับคำตาย
ส่งคำเอก รับคำเอก, ส่งคำโท รับคำโท ดังนี้เสมอไป ถ้าเป็นร่ายวรรคละ 5 คำ มักจะใช้รับกับคำที่ 1 – 2 – 3 คำใดคำหนึ่ง ของวรรคหน้า
( ที่มา “หลักภาษาไทย” พระยาอุปกิตศิลปสาร, 2514 หน้า 417 )
T.พรสรวง (คนเดิม)
http://www.vcharkarn.com/vcafe/210428