จริงๆแล้ว กระผมขี้เกียจเปิดหนังสือค้นข้อมูลนะครับ
แต่ยังรับผิดชอบกระทู้อยู่บ้าง มัคคุเทศก์ คนธรรพ์จึงกลับมาอีกครั้ง
ภาพพระพิฆเนศบนสมุดข่อย พระกรข้างขวาทรงดอกบวก ข้างซ้ายทรงตรี
พระพิฆเนศวรหรือพระพิฆเนศ ถือเป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ
ตามตำรับนารายณ์ประทมสินธุ์กล่าวว่า พระพิฆเนศอุบัติจาก
พระกรรณเบื้องขวาของพระอัคนี
พระโกญจนาเนศวรศิวบุตร อุบัติจากเปลวเพลิงที่พวยพุ่งออกทาง
พระกรรณเบื้องซ้ายของพระอัคนี
อ้อ ที่แท้เป็นพี่น้องต่างพระกรรณกับพระพิฆเนศนี่เอง
เทพเจ้าองค์นี้ ทรงประทานกำเนิดช้างเผือกตระกูลอัคนีพงศ์
สมุดภาพตำราคชลักษณ์ เป็นสมุดไทยขาว เขียนด้วยหมึกดำ ตัวอักษรภาษาไทย
เล่มที่นำมาแสดงนี้ เป็นฉบับหลวง เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่งด้วยกาพย์ฉบัง
อธิบายลักษณะของช้างประเภทต่างๆ ทั้งที่เป็นช้างศุภลักษณ์ และช้างทุรลักษณ์
ภาพตอนต้นเป็นเทพยดาสำคัญในการคชกรรม
มาตังคกรีเทพ คือเทพเจ้าทั้ง ๒๖ องค์ที่สถิตรักษา ส่วนต่างๆตามร่างกายของช้างสำคัญ
ช้างคิริเมขล์ มี ๓ เศียร ประกอบด้วยคชลักษณ์งดงาม เป็นช้างทรงของพญาวสวัตดีมาร
ภาพนี้ วาดได้สวยงามมากครับ จนผมต้องเพ่งดูซ้ำหลายครั้ง
ช้างสวมชฎาเสียด้วย เป็นถึงช้างทรงของพญามาร แต่ก็ดูเป็นช้างอารมณ์ดี
กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสฯ ได้กล่าวถึงช้างคิริเมขล์ไว้ในลิลิตตะเลงพ่าย
หัสดินทร์ปิ่นธเรศไท้ โททรง
คือสมิทธิมาตงค์ หนึ่งช้าง
หนึ่งคือคิริเมขล์มง คลอาสน์ มารเอย
เศียรส่ายหงายงาคว้าง ไขว้แคว้งแทงโถม
โคลงบทนี้ ทำให้เรารู้ว่า ช้างทรงของพระเจ้าแผ่นดิน
๑ สมิทธิมาตงค์ (ยังค้นรูปไม่พบ)
๒ คิริเมขล์
บาทสุดท้ายบอกถึง อาการของช้างสาร ยามใช้งาเข้าจู่โจมประจัญกับข้าศึก
เข้าสู่เนื้อหาตำราคชลักษณ์เสียที
คันธหัตถี มีสีกายดังไม้กฤษณา อุจาระ ปัสสาวะ และกายมีกลิ่นหอม (ใครเป็นควาญ เคยพบรึเปล่า)
มีบริวารเป็นอันมาก ช้างคันธหัตถี ๑๐ ช้าง จึงจะมีกำลังเท่าช้างมงคลหัตถี ๑ ช้าง
ปิงคลหัตถี ผิวกายสีเหลืองอ่อน ดวงตาประหนึ่งตาแมว มีกำลังมากและห้าวหาญในการศึก
มีกำลังน้อยกว่าคันธหัตถี ปิงคลหัตถี ๑๐ ช้าง จึงจะมีกำลังเท่าคันธหัตถี ๑ ช้าง
วันนี้ขอหยุดที่ ๒ ช้างก่อน
เรื่องช้างๆเป็นงานที่หนักและเหนื่อย
แต่จะพยายามเข็นช้างออกมาอาทิตย์ละสองสามเชือก
สำหรับท่านผู้สนใจวรรณคดีตำรับช้าง ขอแนะนำหนังสือดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง
ไว้อ่านประดับความรู้เรื่องช้างๆ
พิมพ์ครั้งที่๒ ปี ๒๕๒๗ ส่วนเล่มที่พิมพ์ครั้งหลังสุดไม่นานมานี้ หาซื้อได้ที่ร้านศึกษาภัณฑ์
ขอบอกไว้อย่าง หากท่านมุ่งมั่นจะอ่านตำรับช้างอย่างจริงจัง
ถ้ายังไม่มีพจนานุกรมไทยที่บ้าน ก็ขอให้ซื้อติดมือมาด้วย
รึชอบสะดวกเคาะแป้นพิมพ์หาความหมายทางระบบออนไลน์ก็ตามใจ
โปรดติดตามตอนต่อไป อาทิตย์หน้า
มัคคุเทศก์ คนธรรพ์๖/๓/๕๖