เทศกาล หนึ่งนั้น คืนจันทร์เพ็ญ
ที่ลอยเด่น ส่องสว่าง กลางเวหน
กำหนดดี ปีครั้ง วางแยบยล
ไม่สับสน เดือนหงาย หลายวันมี
สิบห้าค่ำ เดือนสิบสอง ต้องจำเพาะ
กำหนดเหมาะ มุ่งไว้ ในคืนนี้
ริมตลิ่ง เหนือลำคลอง นองวารี
ประเพณี มีหมาย ได้แสดง
เชื่อกันว่า มาแต่ สุโขทัย
ในสมัย พ่อขุน รามคำแหง
ประวัติเก่า เล่ามี พอชี้แจง
เพียงแต่แจ้ง เรื่องย่อ พอรู้กัน
นางนพมาศ เริ่มต้น ผู้ค้นคิด
ได้ประดิษฐ์ กระทง ตรงวันนั้น
ยังนำดอก บัวหนึ่ง ซึ่งยืนยัน
ความสำคัญ บานวันนี้ มีจันทร์เพ็ญ
ใส่กระทง ลงลอย เทียนประทีป
ใบตองจีบ จับเคียง เรียงให้เห็น
แต่หลักฐาน อ้างอิง สิ่งจำเป็น
เรื่องโดดเด่น กลับไม่ใช่ ได้อ้างมา
กล่าวกันว่า มีสมัย ใน ร.สาม
ภาพสวยงาม บันทึกไว้ ใช้ค้นหา
ก่อนจากนั้น เรื่องยาว เล่ากันนา
ไม่เกินกว่า รัตนโกสินทร์ ถิ่นขวานทอง
คือความเชื่อ นานหนอ ขอขมา
แม่คงคา ลูกทำ ให้ช้ำหมอง
ปฏิกูล ทุกสิ่ง ทิ้งลงคลอง
หลายคัลลอง นำใช้ ได้ดื่มกิน
ลอยความทุกข์ ความเหงา ความเศร้าโศก
รวมทั้งโรค มีหลาย ให้หมดสิ้น
และจะกล่าว วอนขอ พอได้ยิน
ขอทรัพย์สิน ด้วยหนา จนมานาน.