เห็นด้วยกับท่านระนาดเอก ครับ ....ลองดูตัวอย่างจากนักกลอนรางวัลพระราชทาน กันนะครับ....
เพชรน้ำหนึ่ง
๏...กลอนเก้าคำ จำไว้ ด้อยไพเราะ
เขียนให้เหมาะ แปดคำ เพชรน้ำหนึ่ง
แต่ละวรรค หนักแน่น ดุจแกนกลึง
กลอนจะซึ้ง ติดใจ และให้คุณ
..คำสุดท้าย วรรคแรก แยกพิเศษ
สามัญเขต หวงห้าม ตามเกื้อหนุน
ท้ายวรรคสอง ต้องรู้ อยู่เป็นทุน
เอก-โทจุน จัต วาประพนธ์
..ท้ายวรรคสาม วรรคสี่ นี้จำมั่น
เสียงสามัญ -ตรีใช้ ได้ทุกหน
สัมผัสซ้ำ จำจด งดปะปน
จงคิดค้น ถ้อยคำ ที่จำ เป็น
..ไม้ไต่คู้ใช้กับ ไม้ไต่คู้
เมื่อฟังดู เด่นดี ดั่งที่เห็น
เสียงสั้นยาว ก้าวก่าย หลายประเด็น
อย่าบำเพ็ญ พ้องกัน นิรันดร
..อย่าเขียนให้ ใจความ ตามเพ้อนึก
จงตรองตรึก ตระหนัก เรื่องอักษร
คติธรรม นำใส่ ให้สังวร
รวมสุนทร ถ้อยไว้ ให้งดงาม
..จุดจบก็ ขอให้ กินใจหน่อย
มิควรปล่อย เปะปะ เหมือนสะหนาม
จบให้เด่น เห็นชัด จำกัดความ
ให้ตรงตาม เค้าโครง เรื่องโยงใย
..เขียนเสร็จสรรพ กลับมา ตรวจตราผิด
ตรวจชนิด เรียงตัว ทั่วกันใหม่
เมื่อเห็นเพราะ เหมาะดี จี้หัวใจ
จึงเผยให้ ประชา ชนตราตรึง
..กลอนเก้าคำ จำไว้ ด้อยไพเราะ
เขียนให้เหมาะ แปดคำ เพชรน้ำหนึ่ง
แต่ละวรรค หนักแน่น ดุจแกนกลึง
ผู้อ่านจึง จะชอบ ชมขอบคุณ ๚๛
ส. เชื้อหอม ผู้ประพันธ์