ตามสมุดข่อยโบราณที่พบเห็น มักจะเห็นบัณฑิตเก่าๆเขียนในพระราชพงศาวดารไว้ว่า “ร้อนแรมไปในป่าครบ ๗ เวร ก็ลุยัง...”
คำว่า “ร้อน-แรม” ที่เราได้เห็นเช่นนี้ เราเข้าใจกันว่า โบราณท่านเขียนผิด ที่ถูกควรเป็น รอนแรม หรือ แรมรอน ซึ่งปทานุกรมแปลว่า หยุดพักนอน
แต่เมื่อพิเคราะห์ดูให้ดีแล้ว คำว่า ร้อน-แรม นั้น หาได้อยู่ในคำที่เขียนผิดดั่งกล่าวมานั้นไม่ เป็นคำที่เขียนขึ้นด้วยอักขระวิธีที่ถูกต้อง เพราะคำว่า ร้อน-แรม นั้น ปรากฏอยู่ในหมายกำหนดระยะทางยกทัพ ที่จารึกครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และในจดหมายเหตุโบราณว่า “ประทับร้อน-นอนแรม”
ดังนั้น จึงยืนยันได้ว่า คำ “ร้อน” นั้น ย่อมาจากคำ “ประทับร้อน” หรือ พักร้อน คือ หยุดพักกลางวันเพราะแดดร้อนจัด ส่วน “นอนแรม” นั้นคือ การแรมคืน หรือ พักกลางคืน นั่นเอง
คำร้อนแรม เป็นคำที่มีมาแต่โบราณกาล ควรจะอธิบายไว้เพื่อไม่ให้สูญไป ดั่งนี้...(จากหนังสือ “ปาริชาต” ปีที่ ๒ เล่ม ๔ ปักษ์หลัง กุมภาพันธ์ พ.ศ๒๔๙๓ หน้า ๒๕)
ชาคริต เพชรอินทร์ - เรียบเรียง
Facebook : ข้าวคำน้ำขัน
http://pantip.com/topic/32326208