สวัสดี เป็นคำทักทายของคนไทย โดยจะใช้เมื่อแรกพบกัน หรือ เมื่อต้องการบอกลา
โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า "สวัสดี (สวัสดิ์)" ว่าหมายถึง
ความดี ความงาม ความเจริญรุ่งเรือง และความปลอดภัยสวัสดี ในส่วนที่นำมาใช้เป็นคำทักทายนั้น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)
ได้เล่าถึงต้นเหตุเดิมไว้ว่าเจ้าหน้าที่วิทยุกระจายเสียงได้ใช้คำ "ราตรีสวัสดิ์" ลงท้ายคำพูดเมื่อจบการกระจายเสียงตอนกลางคืน
โดยอนุโลมตามคำว่ากรู๊ดไนต์ (Goodnight) ของอังกฤษ แต่มีผู้ไม่เห็นด้วย ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง
จึงขอให้กรรมการชำระปทานุกรมของกระทรวงธรรมการในสมัยนั้นช่วยคิดหาคำให้ ตกลงได้คำว่า"สวัสดี" ไปใช้
และเมื่อ พ.ศ. 2476 พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้นำไปเผยแพร่ให้นิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้เป็นคำทักทายเมื่อพบกัน จึงได้แพร่หลายใช้กันต่อมา
ครั้นต่อมาในยุคบำรุงวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชาติ รัฐบาลในสมัยนั้นก็เห็นชอบกับการใช้คำว่า "สวัสดี" ในโอกาสแรกที่ได้พบกัน
ได้มอบให้กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) ออกข่าวประกาศเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2486 ดังต่อไปนี้ (ตัวสะกดและการันต์ในสมัยนั้น)
"ด้วยพนะท่านนายกรัถมนตรีได้พิจารนาเห็นว่าเพื่อเปนการส่งเสริมเกียรติแก่ตนและแก่ชาติ
ให้สมกับที่เราได้รับความยกย่องว่าคนไทยเปนอารยะชน คำพูดจึงเปนสิ่งหนึ่งที่สแดงภูมิของจิตใจว่าสูงต่ำเพียงใด
ฉะนั้นจึงมีคำสั่งให้กำชับบันดาข้าราชการทุกคนกล่าวคำ "สวัสดี"ต่อกันไนโอกาสที่พบกันครั้งแรกของวันเพื่อเป็นการผูกไมตรีต่อกัน
และฝึกนิสัยไห้กล่าวแต่คำที่เปนมงคล ว่าอะไรว่าตามกัน กับขอไห้ข้าราชการช่วยแนะนำแก่ผู้ที่อยู่ไนครอบครัวของตน
ไห้รู้จักกล่าวคำ "สวัสดี" เช่นเดียวกันด้วย "
นี่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ทางราชการในสมัยนั้นได้กำหนดให้ใช้คำว่า สวัสดี ไว้แล้วตั้งแต่พ.ศ. 2486
ที่มา
http://www.praphansarn.com/new/c_lift/detail.asp?ID=123