ข่า(บรู)ในจ.อุบลราชธานี
Notice: Undefined variable: return in /var/www/vhosts/mapculture.org/httpdocs/mambo/index.php on line 47
14 พ.ย. 2006 10:55น.
ปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานียังคงมีชนเผ่าพื้นเมืองเดิมในสายวัฒนธรรมมอญ-เขมร คือ ชนเผ่าข่า (บรู) ชาวอีสานเรียกพวกที่อยู่ในป่าและใกล้ภูเขาว่า "ข่า" เป็นคำเรียกรวมๆ แต่เขาเรียกตนเองว่า "บลู" หรือ "บรู" ซึ่งแปลว่าภูเขา หรือคนที่อยู่ในป่าใกล้เขานั่นเอง ชนกลุ่มนี้มักอาศัยอยู่ตามป่าเขา ตามแนวริ่มฝั่งแม่น้ำโขงทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว มีภาษาบรูเป็นภาษาพูดของตน (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544 : 17)
ชาวบรูเป็นชนเผ่าที่อพยพเข้ามาจากประเทศลาว และมีชาวส่วยส่วนน้อยอาศัยอยู่ด้วยกัน ทั้งนี้อพยพมาจากบ้านหนองเม็ก (ชาวป่าที่อพยพเร่ร่อน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ตามป่าเขา ที่สูง ) บ้านลาดเสือ (ชาวที่ราบอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำโขง) และบ้านเวินขัน (บ้านใหม่ตั้งระหว่างสองหมู่บ้าน) เนื่องจากถูกกดขี่และให้ทำงานหนัก อีกทั้งยังต้องเสียภาษีให้ฝรั่งเศส จึงอพยพข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ทางฝั่งไทยตามริมแม่น้ำโขง เช่น ที่บ้านเวินบึก บ้านท่าล้ง และบ้านหนองครก อ.โขงเจียม จ.อุบลฯ ตอนแรกอพยพมาอยู่ที่บ้านท่าล้งที่ขึ้นไปทางเหนือ และบ้านหินครก (บริเวณทางเข้าหมู่บ้านเวินบึกในปัจจุบัน) แต่เนื่องจากมีกรณีลักขโมยวัวควายของชาวบ้าน ทางราชการจึงให้ราษฎรบริเวณบ้านหินครก มาตั้งหมู่บ้านใหม่ที่บ้านเวินบึก
ชนเผ่าบรูหรือข่านี้ นับถือผีสาง มีทั้งผีประจำตัว ประจำครอบครัว ประจำตระกูล ประจำคุ้ม และประจำหมู่บ้าน ซึ่งความสำคัญลดหลั่นตามฐานะของผี เป็นเผ่าที่จารีตแปลกไปจากกลุ่มอื่น เช่น ถ้ามีลูกชายเมื่อไปขอหญิงแต่งงานเป็นสะใภ้ ย่อมไม่ให้สะใภ้ขึ้นบนบ้านของย่า (แม่ของสามี)ตลอดชีวิต ทั้งไม่ให้ใช้เครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น กระจก หวี น้ำมันแต่งผม แป้ง ฯลฯ นอกจากนั้นความเชื่อทางไสยศาสตร์เกี่ยวกับภูติผีประจำตัว และบ้านมีบันได 2 ทาง คือ ขึ้นด้านหนึ่งแล้วไปลงอีกด้านหนึ่ง ส่วนการไปแอ่วสาวบนบ้านของสาว หากขึ้นบันไดไม่ถูกด้านแล้ว อาจต้องทนคุยกับพ่อแม่ของสาวตลอดคืนแทนที่จะได้คุยกับสาวตามปรารถนาเป็นต้น (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544 : 286 ; ศูนย์ข้อมูลสำนักศิลปะและวัฒนธรรมอำเภอราชธานี) --------------------------------------------------------------------------------
http://www.mapculture.org/mambo/index.php?option=com_content&task=view&id=310&Itemid=56มองอดีต เพื่อรู้ความเป็นมา มองอนาคต เพือกำหนดความเป็นไป