~"เคล็ดลับการเขียนกลอนแปด?"~
๐
๐ กำหนดจิตสู่ธรรมนำประทีป
บานเป็นกลีบบัวรับกานท์อักษร
อัญเชิญจิตบรมคุณท่านสุนทร
พร่างคำกลอนดุจคล้ายสายธารา
๐ เป็นไอเย็นอ่อนอุ่นละมุนถ้อย
ใครยินคล้อยหลงใหลไอภาษา
ดั่งปี่แก้วพระอภัยฯร่ายมนตรา
เชิญท่านมาดื่มด่ำทิพย์คำกลอน..
๐ แต่งให้บ่อยน้องพี่ดีที่สุด
เพราะคือจุดสำคัญกว่าการสอน
ยิ่งจะคิดเขียนงานกานท์บวร
ถ้านิ่งนอนที่ไหนใครจะเป็น
๐ เขียนเยอะเยอะเขียนไว้มันไม่เสีย
ไม่อ่อนเปลี้ยเพลียแรงแจ้งให้เห็น
เพียงเขียนกลอนรู้ไว้ใจเย็นเย็น
ลองเคี่ยวเข็ญความเก่งเบ่งบานมา
๐ เพียงแต่เราปล่อยอารมณ์จะสมจิต
มิยึดติดคำใดเอาไว้หนา
หากเช่นนั้นจะเวียนเศียรทันตา
เพราะรอท่าแก้คำแค่คำเดียว
๐ การเล่นคำมีมากอยู่หลากหลาย
แต่ความหมายต่างกันพลันเฉลียว
หากงงงันเปิดตำราอย่าช้าเชียว
อย่าได้เที่ยวใช้คำนอกตำรา
๐ สื่อกฎเกณฑ์ความหมายจะได้รู้
มิให้ใครหยามหลู่สู่ภาษา
สรรพนามครั้งใดใช้ทุกครา
ทั้งขึ้นหน้าลงท้ายต้องคล้ายกัน
๐ เพราะบางคนขึ้นฉันลงท้ายผม
ใส่ผสมเขียนมาช่างน่าขัน
ควรสังเกตให้ดีชี้ให้ครัน
เวลาสรรค์งานได้ไม่อายคน
๐ เวลาแต่งคิดเรื่องให้หลากหลาย
แต่งบรรยายเรื่องราวเคล้าเหตุผล
ควรสร้างงานเป็นเอกเฉกของตน
อย่าไปสนลอกใครนั้นไม่ดี
๐ หากได้ดูผลงานของท่านอื่น
มาปรับฟื้นงานตนจะถูกที่
ดูเป็นแนวพัฒนาอย่ารอรี
จะทวีฝีมือระบือไกล
๐ ถ้าหากย่ำรอยเท้าเก่ากับที่
เหมือนชีวีมิก้าวเข้าใจไหม
แต่งก็วนเรื่องก็วนทนอ่านไป
เดี๋ยวก็ได้ปิดฉากจากบทกลอน
๐ ด้วยจะเป็นกวีนี้ควรคิด
เพียงอยู่ติดเรื่องฝันนั้นไว้ก่อน
หากกวีขาดฝันพลันม้วยมรณ์
แต่งทุกตอนจะกร่อยด้อยค่าลง
๐ เหมือนครูกลอนสุนทรภู่ดูเป็นหลัก
คิดผูกยักษ์รักคนชนใหลหลง
แนวกวีมีวิญญาณงานบรรจง
เยี่ยมที่ตรงคิดได้แล้วร่ายกานท์
๐ แต่งไปเถอะมานะจะสนุก
น้องจะสุขในทิพย์หยิบความหวาน
หนึ่งในร้อยน้อยใครได้พบพาน
แต่ผู้จารงานกลอนพบก่อนใคร?"
ระนาดเอก
"เทคนิคการเขียนกลอน ๖ บทครับ?"
๐
๐ การร่ายพจน์รดใจมีหลายหลาก
ควรเริ่มจากเรื่องราวเตรียมกล่าวอ้อน
คิดพล็อตเรื่องซึ้งซึ้งตรึงสุนทร
บทแรกก่อนขึ้นให้ใคร่ติดตาม
๐ คิดพยางค์คำคมอารมณ์ใส่
คนอ่านไซร้เพลิดเพลินเกินหักห้าม
ฝึกหัดเขียนหกบทสร้างพจน์ความ
คล้ายในนามเรื่องสั้นบรรยายไป
๐ ปูท้องเรื่องสองบทสะกดจิต
แต่งแต้มนิดเติมหน่อยปล่อยคำไข
บทสาม,สี่ผูกปมกลมเกลียวใย
ชักชวนให้ใครอ่านพานติดลม
๐ บทที่ห้าพาทีที่เร่งเร้า
เตรียมส่งเข้าบทท้ายคล้ายเพาะบ่ม
พอเข้าสู่บทหกฉกฉวยปม
เร่งระดมปิดฉากกระชากใจ
๐ เสร็จแล้วตรวจเนื้อเรื่องอย่าเคืองขัด
ถ้อยอึดอัดแย้งกันอย่าพลันใส่
ดูสัมผัสฉันทลักษณ์หลักกลอนไทย
เสียงที่ใช้ไล่ทวนถ้วนต้น,ปลาย
๐ ชิงสัมผัสหรือซ้ำย้ำอย่าใช้
เรื่องถูกใจแต่คำทำเสียหาย
แล้วอย่าลืมตั้งชื่อสื่อคมคาย
คนอ่านดูก็ฉายลายคำกลอน..
ระนาดเอก