เสร็จกำนัล ธ พลัน สั่งอำมาตย์
ให้ประกาศ ราชโองการ ตามถนน
ทั่วทุกแห่ง แยกแพร่ง แหล่งชุมชน
ขอให้จง คลายทุกข์ เป็นสุขกัน
บัดนี้องค์ เทวี มีทายาท
ไว้สืบชาติ เผ่าไท มไหศวรรย์
สมมุ่งมาด ราษฎร์บพิตร ที่คิดกัน
จงสุขสันต์ บันเทิง เริงสราญ
เร่งประดับ จัดแต่ง แหล่งอาศัย
ให้วิไล ไฟตระการ ตามสถาน
มโหรี ปี่พาทย์ มากสำราญ
ต่อเนื่องกาล เจ็ดวันมี จากนี้ไป
เหล่าทวยราษฎร์ ทราบความ ตามประกาศ
ให้เอิบอาบ ซาบจิต คิดสมหมาย
เปล่งไชโย โห่ร้อง แซ่ซ้องไกล
ทุกข์มลาย หายไป ในบัดดล
ฝ่ายจอมไท้ ใจโล่ง โปร่งเป็นสุข
ไม่ต้องผุด ลุกนั่ง ช่างสุขสม
หลับสนิท จิตคลาย หายกังวล
ยามบรรทม กรนลั่น สนั่นไป
คืนวันเลื่อน เคลื่อนไป ไม่หวนกลับ
เกิดสลับ ดับวน ไม่สงสัย
สุขไม่เที่ยง เวียนทุกข์ คลุกเคล้าไป
เกิดในใจ มนุษย์ ปุถุชน
จนวันครบ ทศมาส ทายาทคลอด
เสียงลั่นลอด ห้องดัง ฟังฉงน
เปี่ยมพลัง แกร่งกล้า น่าพิกล
เด็กมากล้น พ้นเปรียบ จักเทียบทัน
กุสราช ราชกุมาร นามเสนาะ
ฟังไพเราะ เพราะชื่อ สื่อสุขสันต์
แต่ขนง วงพักตร์ ไม่รับกัน
เป็นเพราะกรรม ทำผิด ติดตามองค์
พอชันษา พี่ยา พาทีออก
อ่อนไท้คลอด กุมาร ช่างงามสม
ดั่งเทวัญ ชั้นฟ้า มาอีกองค์
ตามประสงค์ เทวะ มัฆวา
กุมารรอง น้องขวัญ ชยัมบดี
เปี่ยมราศี มีโอภาส ยากจักหา
ชายใดเปรียบ เทียบได้ ในพารา
แต่ปัญญา นั้นสั้น ช่างกระไร
ธ สองศรี พี่น้อง ปรองดองรัก
ทั่วมัลละ ประจักษ์ ภักดิ์เลื่อมใส
พี่รักน้อง น้องรักพี่ มีตอบไป
องค์จอมไท ให้คลาย ใจกังวล
จวบองค์ใหญ่ ล่วงวัย ได้สิบหก
ผ่านพิภพ ทบทวน ควรเหมาะสม
ให้ขึ้นครอง ผองหล้า ธราดล
หวังจักปลง ภาระ พักสบาย
จึงรับสั่ง ยังยาม ทหารเฝ้า
แจ้งแม่เจ้า เล่าความ ตามคิดหมาย
ให้มาร่วม ดำริ อธิบาย
ควรหรือไม่ อย่างไร ในกมล
ครั้นอ่อนไท้ ไปถึง ซึ่งตำหนัก
ธเรศตรัส ทันใด ใคร่ประสงค์
ยกสมบัติ สละให้ บุตรใหญ่ตน
พร้อมสนม นงราม ตามต้องการ
แถมนางฟ้อน ยองใย วัยละอ่อน
ไว้ออดอ้อน นอนหลับ คอยขับขาน
แลรับใช้ ในยาม ตามต้องการ
ให้หวาบหวาม สราญรื่น ชื่นฤทัย
ฤาลูกรัก สมัครใคร ในแผ่นหล้า
เหล่าธิดา นารี ธานีไหน
สูงขาวคล้ำ ดำเหลือ ชาติเชื้อใด
พี่จะไป ขอให้ ได้เชยชม
ยุพยง องค์อร ไม่ข้องขัด
เห็นพ้องสรรพ ตรัสไป ให้เหมาะสม
แล้วขอองค์ ทรงกลับ ตำหนักตน
หวังบอกผล องค์ไท ให้บุตรฟัง
ถึงวังสั่ง กำนัล พลันเร่งแจ้ง
ถ้อยแถลง จอมไท มไหศวรรย์
เรื่องยกทรัพย์ สมบัติ กับบัลลังก์
พร้อมนางรำ นางใน ให้บุตรชาย
มหาสัตว์ ตรับความ ตามดำรัส
ให้อึดอัด หนักจิต คิดมากหลาย
ด้วยไม่งาม ปานเปรียบ เทียบน้องชาย
หญิงไม่หมาย ชายทราม เคียงข้างตน
เห็นควรเรา อยู่เหย้า เฝ้าพ่อแม่
ยามท่านแก่ ยักแย่ยักยัน ความจำหลง
บำรุงใจ ให้คลาย หายทุกข์ทน
ให้ท่านพ้น ลำบาก จากสบาย
ส่งดุสิต บิดา มารดาแล้ว
หวังใจแผ้ว ผ่องผุด ทุกข์สลาย
ควรถือพรต งดกรรม นำอบาย
เข้าป่าใหญ่ ฝึกใจ ให้ใฝ่ธรรม
หลังพินิจ คิดจน ปลงใจแน่
จึงตรัสแก่ กำนัล ดังมุ่งหวัง
ขอพี่สาว กล่าวแจ้ง แถลงคำ
สิ่งเราตั้ง ใจมั่น ยังชนนี
บอกบุตรา หาใคร่ ในสมบัติ
หวังเพียงจัก พักอยู่ ดูสองศรี
ตราบชีวัน ท่านลับ ดับชีวี
หลังจากนี้ ขอลา เข้าป่าไพร
บวชอยู่ดง พงพี หนีวัฏฏะ
เพียรสละ ตัดทอน ถอนหลงใหล
ปลงปลิโพธ โกรธเคือง เครื่องทุกข์ใจ
จวบสลาย ตายพนา ป่าลำเนา
นางรับใช้ ได้ฟัง พลันก้มกราบ
แทบสองบาท จากไป ใจอับเฉา
ฟังโอรส ระทดใจ ให้ซึมเซา
แจ้งแม่เจ้า เล่าบอก ถอดเนื้อความ
เมื่อนั้น อรทัย อ่อนไท้ทราบ
บุตรพิลาป ปลาบใจ ให้สงสาร
ฟังนางข้า หน้าเศร้า เล่าเนื้อความ
แต่ไม่พาน ตามใจ ในลูกตน
ผ่านสองวัน พลันสั่ง กำนัลใหม่
ให้กลับไป ถามซ้ำ ย้ำอีกหน
โพธิสัตว์ ตรัสตาม ความจำนง
ไม่ประสงค์ ทรงรับ สมบัติไท
ถามกลับไป กลับมา สามคราครั้ง
บุตรยืนยัน คงมั่น ไม่หวั่นไหว
แต่ขืนนิ่ง ยิ่งนาน เกรงบานปลาย
จึงอุบาย อ่อนไท้ ให้อับจน
ทรงรับสั่ง ยังยาม ทหารเฝ้า
จงไปเล่า แจ้งความ ตามประสงค์
บอกช่างทอง ขนทองมา หาพระองค์
อย่าได้สง สัยถาม ความใดใด
ล่วงพักใหญ่ ไกลมอง จ้องแลเห็น
สองรถเข็น เอียงแปล้ แอ้เอี๊ยดไส
ค่อยกระดืบ คืบมา ช้าเหลือใจ
ทองแท่งใหญ่ ไสวเรือง เหลืองเต็มคัน
ถึงเบื้องพักตร์ พระโอรส คนรถหยุด
ทิ้งตัวทรุด ฟุบแข้ง ไม่แข็งขัน
พะงาบหอบ หมอบกราบ ยากกล่าวคำ
บอกน้อมนำ คำก้อน พร้อมบัญชา
ขัตติยะ ประทับมอง ช่างทองกล่าว
เนตรยิ้มวาว ละไม ไม่ถือสา
สี่นายช่าง นั่งดิน สิ้นกริยา
ตรัสวาจา ลำบากแล้ว พ่อแก้วเอย
แล้วเอ่ยคำ ดำรัส กับเหล่าช่าง
บอกจงตั้ง ใจฟัง คำเฉลย
เราอยากได้ อนงค์ มาชมเชย
ใกล้เขนย ห้องนอน มองบรรทม
ขอท่านนำ คำก้อน ไปหลอมหล่อ
นวลลออ นงราม งามสวยสม
ให้เลิศลักษณ์ ตระการ อร่ามยล
หวังคงสม ใจเรา จักเฝ้ารอ
หนึ่งรถเข็น เต็มทอง ของพวกท่าน
จงเร่งนำ ทำตาม อย่างที่ขอ
คันสองดัน ไปหลัง ตำหนักพอ
เสร็จพวกพ่อ จงกลับ ที่พักไป
สี่ช่างทอง น้อมรับ ดำรัสสั่ง
หลังได้ฟัง พลันแยก แตกสองสาย
หนึ่งเข็ญกลับ พำนัก ที่พักไป
หนึ่งมุ่งใน ทิศทาง ตามบัญชา
ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน |
![]() |
06 เมษายน 2025, 03:20:AM
![]() |
|||
|
![]() |
ผู้เขียน | หัวข้อ: กุสติณราช ประพันธ์โดย สืบ ธรรมไทย (อ่าน 14670 ครั้ง) |
| ||||||||||
Email:
