ผ่านโมงยาม ทรมาน ช่างนานเหลือ
นั่งนอนเบื่อ เหงื่อก็ไหล ไคลเหนอะหลาย
เสื้อเปียกชุ่ม กลิ่นเหม็นคลุ้ง ฟุ้งกระจาย
ยิ่งนานสาย กระวายกระวน จนรำคาญ
หยิบศรใหญ่ ยืดกายดึง ตึงสุดแขน
หน้าไม่แดง แรงยังพอ รอสังหาร
เจ้าคชินทร์ ให้แดดิ้น สิ้นชีพปราณ
แต่ช้างสาร ช่างนานมา พาร้อนรน
นั่งกลัดกลุ้ม ซุ่มลำพัง สองวันผ่าน
เข้าวันสาม คชาธาร ลงธารสรง
หลังขึ้นสระ ฉัททันต์ พลันปลีกองค์
ปล่อยพลายพล ตรงมาลาน สำราญใจ
ยืนโดดเดี่ยว เดียวดาย รอกายแห้ง
ตรงตำแหน่ง แห่งเดิม เพลินลมไหว
หลับตาปิด จิตภวังค์ ช่างสบาย
เย็นพระพาย ชายชื่น รื่นสราญ
น้ำเกาะกาย เจ้าพลายไพร ไหลลงขา
เป็นทางมา หน้าหลุม ซุ่มสังหาร
ซึมดินหยด ตกตัว หัวกบาล
พรานพุ่งพล่าน ดันฝาโหว่ โผล่มายิง
เสียงศรพิษ ขวับมิดท้อง สารร้องลั่น
เจ้าพรานพรั่น ลั่นดาลหลบ กบดานสิง
เสียงกรีดดัง ฟังกังวาน จากลานดิน
เหล่าพลายสิ้น วิ่งยกโขลง ลัดดงมา
ถึงลานใหญ่ ใจเต้น เห็นเจ้าสาร
ทรมาน อาการหนัก เป็นนักหนา
เลือดไหลหลาก จากท้อง นองพสุธา
ให้โกรธา กราดเกรี้ยว เหลียวรอบกาย
เพ่งตาหา ปัจจามิตร คิดขยี้
ไม่เห็นมี ที่เร้น คงเผ่นหาย
จึงแผดเสียง สำเนียงคลั่ง ลือลั่นไพร
ออกตามไล่ ใคร่กระชาก พรากชีวา
อึกทึก ครึกโครม โจนสับสน
เหล่ามาตงค์ ลนลาน เที่ยวตามหา
เจ้าคนชั่ว ทั่วพนัส ชัฏพนา
หมายเข่นฆ่า พร่าแดดิ้น ให้สิ้นใจ
ฝ่ายมหา สุภัททา ชายาสาร
เห็นนรการ นั่งทรุด ลุกไม่ไหว
เข้าแนบข้าง ไม่ห่างชู้ คู่ฤทัย
คอยชิดใกล้ ดำไรเจ้า เฝ้าระวัง
ท้าวคเชนทร์ เห็นภรรยา หน้าเศร้าสร้อย
จึงเอ่ยถ้อย ค่อยปลอบนาง จางโศกศัลย์
บอกบาดแผล แม้ดูใหญ่ ไม่ฉกรรจ์
ของามขำ ทำใจ ให้ผ่อนคลาย
เหล่าบริวาร ควานหา ปัจจามิตร
ทั่วทุกทิศ ประชิดตาม ไม่ห่างหาย
ไฉนเจ้า เฝ้าข้าง ไม่ห่างกาย
ไม่ละอาย ใจพวกพ้อง ฤาน้องยา
จงเร่งรุด บุกตาม บริวารเถิด
อย่าให้เกิด เล็ดลอด ออกนอกผา
มัวช้าอยู่ ศัตรูไป ไกลลับตา
ผองคชา จักพาโกรธ โทษนงราม
ท้าวชายา น้ำตาไหล จำใจจาก
เจ้าโขลงนาค ยากขัดใจ ให้เกรงขาม
ละล้าละลัง รังรอ ท้อดวงมาน
สุดสงสาร สางไท้ ตัดใจลา
พอลับตา ชายา คชาเจ้า
พลันย่างก้าว เข้าหาหลุม กรุ่นนาสา
กลิ่นเหม็นแตก ต่างที่ เคยมีมา
จึงใช้ขา แทนงาคุ้ย ตะกุยดิน
เห็นกระดาน ใต้ดินดาน คชสารโกรธ
เจ้าคนโฉด ใจโหดร้าย ซ่อนกายสิง
อยู่ใต้ไม้ นิ่งในหลุม ซุ่มใต้ดิน
ท้าวคชินทร์ สิ้นกลั้น พลันเหยียบลง
ไม้ลั่นเปรี้ยง สำเนียงดัง พลันหักแตก
เจ้าพรานแอบ ต้องแถกดิ้น กลิ้งสับสน
หลบไม้หัก พุ่งปักดิน เกือบทิ่มตน
กระเสือกกระสน ทรงกายยืน ฝืนสบตา
ท้าวคชา หน้าแดง แรงโทสะ
ไม่ปล่อยปละ ละเว้น เผ่นเข้าหา
พอเห็นผ้า กาสาวะ งามจับตา
ความโกรธา บังตาครอบ มอดมลาย
นึกถึงองค์ สมณะ พระปัจเจก
ผู้เป็นเอก อเนกคุณ บุญมากหลาย
นำพาสัตว์ สลัดทุกข์ สุขใจกาย
โมโหหาย คลายโกรธ ไม่โทษพราน
จึงหยุดองค์ ปลงใจ ไม่เข่นฆ่า
เอ่ยวาจา ปราศรัย ให้สงสาร
บอกคนเขลา เมากิเลส ซ่องเสพกาม
ไม่ควรหาญ ห่มกาสาว์ น่าอับอาย
แล้วเอื้อนถาม พรานไพร ใจฉกาจ
ท่านพยาบาท อาฆาตเรา แต่คราวไหน
จึงพิฆาต เข่นฆ่า พร่าถึงตาย
หรือมีใคร ใช้ท่าน ดั้นด้นมา
โสณุดร อ่อนล้า หน้าสลด
ยืนคอตก ไม่ปดตอบ บอกอาสา
องค์เทวี มเหสี สุภัททา
ในราชา กาสิกราช ราษฎร์แซ่ไกล
องค์ชายา ปรารถนา ซึ่งงาท่าน
ด้วยนางฝัน จำติด จิตหลงใหล
มีกุญชร ครองป่า พนาไพร
แสนยิ่งใหญ่ เกินใครเทียบ เรียกฉัททันต์
แม้ไม่ได้ งางาม ของช้างนี้
ดวงฤดี มีแต่เศร้า เฝ้าโศกศัลย์
มีชีพไป ก็เหมือนไร้ ซึ่งชีวัน
เหลือสังขาร ซมซานอยู่ ไม่สู้ตาย
ภูวไนย ร้อนพระทัย ในนงนาฏ
จึงประกาศ ราชโองการ พรานทั้งหลาย
ทั่วกาสี มีรวม จำนวนใด
ให้รีบไป รายงานเข้า เฝ้าราชินทร์
ใครสามารถ พรากชีวา คชาได้
เหนือหัวให้ ส่วยทาส มากทรัพย์สิน
เรือกสวนไร่ ใกล้ไกล ให้ทำกิน
แลกสองกิ่ง งาวาว เจ้าฉัททันต์
หกหมื่นพราน ลนลานมา บัญชาไท้
ตัวข้าให้ นางต้องใจ เหมือนในฝัน
จึงบัญชา มาฆ่าสาร ผลาญชีวัน
ตัดงาท่าน กำนัลตอบ มอบเทวี
เมื่อนั้น…มหาสัตว์ สดับพราน พลุ่งพล่านนัก
เจ้าจุลล สุภัททา มารศรี
น้องเคืองโกรธ โทษพี่จาง ร้างไมตรี
จึงแค้นพี่ ข้ามชาติ พิฆาตกัน
เจ้าบอกกล่าว เล่าความ งางามพี่
สวยกว่ากรี หัตถีใด ในไพรสัณฑ์
ล้ำเลอค่า กว่าสินทรัพย์ นับอนันต์
หลับยังฝัน จำติด จิตฝังตรึง
ไม่ได้ครอง สองงา อุราเศร้า
ตรมปวดร้าว เปล่าเปลี่ยวจิต เฝ้าคิดถึง
มีชีพไป ก็ไม่คลาย หายคำนึง
ร่ำนึกถึง แต่งาคู่ อดสูใจ
แท้กานดา อาฆาต พยาบาทพี่
แสร้งทำที มีน้ำตา อุราสลาย
หวังราชโกรธ พิโรธฆ่า พี่ยาไป
อรไท จึงคลายจิต คิดจองเวร
ผิเยี่ยงนั้น ชีวันพี่ จักพลีให้
มอบเจ้าไป ให้เจ้าได้ คลายทุกข์เข็ญ
สิ้นอาฆาต สิ้นชาติภพ จบกรรมเวร
สิ้นเยื่อใย อาลัยเห็น เป็นสามี
จึงบัดนั้น ฉัททันต์ เจ้าพังสาร
เอ่ยเรียกพราน ชำนาญไพร อย่าไกลหนี
เข้ามาหัก ตัดงาไป ให้เทวี
เราน้อมพลี ชีวัน กำนัลนาง
บอกชายา เจ้ากาสี ที่ผูกโกรธ
จงงดโทษ โปรดอภัย ในช้างสาง
ที่ยังรัก ภักดี มีให้นาง
แม้ว่ากาล ผ่านไป ไม่เปลี่ยนแปลง
ฝ่ายพรานใหญ่ ให้ขื่นขม ระทมยิ่ง
ยินคชินทร์ กรินทร์กล่าว เศร้าเหลือแสน
ค่อยขยับ จับเลื่อย เนือยอ่อนแรง
ซ้ำเข่าแข้ง เคยแกร่งโรย ระโหยไป
เขย่งขา เอื้อมคว้า งาไม่ถึง
หวังจักดึง งาให้ต่ำ ช่างยากหลาย
ท้าวคเชนทร์ เห็นยื้อยุด จึงทรุดกาย
พรานสบาย คลายเกร็ง เขย่งยืน
คชาธาร วางพักตร์ ลงทับหล้า
พรานเถื่อนพา อุราไหว จำใจฝืน
ขึ้นเหยียบงวง ราวพวงเงิน เดินไปยืน
ช้างไม่ขืน ฝืนขัด ยอมตัดใจ
ถึงกระพอง นรการ เจ้าพรานหยุด
ลงนั่งทรุด ซุกเข่าต้อน ก้อนเนื้อไหล
ย้อยข้างปาก ยากจักผลัก ดันกลับไป
กว่าเข้าได้ ใคร่ถอดใจ ไปหลายครา
หมดเนื้อย้อย ห้อยบัง จึงพลันเห็น
โคนงาเด่น เปล่งอร่าม งามนักหนา
ลงกระพอง พร้อมจับ เลื่อยตัดงา
สอดหน้าขา กรรไกร ไสขึ้นลง
เสียงเลื่อยสี กรีสะท้าน สรรพางค์ร่าง
ไม่ครวญคราง ร้าวรานทน ตรมขื่นขม
เจ็บปวดแสน ไม่แค้นโกรธ โทษอนงค์
หวังตัดวง เวียนกรรม สะบั้นไป
ผ่านพักใหญ่ เหงื่อพรานไหล ไคลรินหยด
แรงก็หด หมดกำลัง ยังฝืนไส
มหาสัตว์ กัดฟันทน ปนเห็นใจ
จึงถามไถ่ ให้ตนเสริม เพิ่มอีกแรง
พรานได้ยิน คชินทร์เจ้า รวดร้าวจิต
นึกตำหนิ ผิดเพราะตัว ชั่วเหลือแสน
ก่อแต่บาป หาบนรก หมกไฟแดง
ระบายแค้น แทนเขา เรารับกรรม
จึงร้องบอก ตอบไป ใจช้ำเศร้า
โอ้พ่อเจ้า เกล้าสิ้นแรง ไม่แข็งขัน
คงยากหัก ตัดงาไป ให้ทรงธรรม
มอบจอมขวัญ กัญญา มหาเทวี
แม้นพ่อเจ้า เหล่ากุญชร ไม่ยอมช่วย
เกล้าคงม้วย ด้วยอาญา เจ้ากาสี
มีชีพกลับ ก็คงดับ ลับชีวี
ยากจักหนี ผีหัวขาด อนาถใจ
เจ้าพญา คชาธาร ฟังพรานกล่าว
ตอบพรานเจ้า เราก็เพลีย เปลี้ยเหลือหลาย
วานท่านงัด งวงทับเลื่อย เหนื่อยคงคลาย
จึงจักง่าย ได้ผ่อนหนัก ผลัดกันดึง
พรานเถื่อนฟัง พลันยกงวง ถ่วงบนด้าม
เลื่อยงางาม ไม่นานครัน พลันขาดผึง
โลหิตสาร ดั่งธารไหล ให้ตะลึง
เจ้าสารดึง ดันเปรย เผยความนัย
สหายพราน เราประทาน งางามท่าน
ใช่เพราะชัง มันหนัก จึงผลักไส
ใช่ไม่รัก ไม่หวง ห่วงอาลัย
หรืออยากใหญ่ ในสงสาร โลกมารพรหม
แต่เรารัก พระสัพพัญญุตญาณ
กว่าสังขาร ไม่นานตาย กายทับถม
ดินกลบร่าง ต่างบุญกรรม นำวกวน
เดี๋ยวสุขสม เดี๋ยวตรมเศร้า คละเคล้ากัน
ขออานิสงส์ ผลทาน ในการนี้
จงเกิดมี อานุภาพ มากเสกสรร
ให้ได้พบ สงบทุกข์ สุขนิรันดร์
ข้ามสงสาร โอฆะ ละโลกไป
แล้วเอ่ยถาม พรานไพร ใจฉกาจ
มากสามารถ ยากฝ่า พนาไศล
ท่านบุกดง พนมสิงค์ สิ้นเท่าใด
นานแค่ไหน เท่าไรบอก วานตอบที
ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน |
23 พฤศจิกายน 2024, 05:46:PM | |||
|
ผู้เขียน | หัวข้อ: โพธิสัตว์ฉัททันต์คำกลอน ๕ ประพันธ์โดย สืบ ธรรมไทย (อ่าน 1338 ครั้ง) |
| ||||||||||
Email: