ดูภูเขา
๏ โดยใช้ตาเนื้อ-จึงเหนื่อยเนื้อ
โดยใจไม่เอื้อ-จึงไม่ถึง
โดยผูกใจมัด-จึงรัดรึง
โดยห่วง-ใจจึงเหมือนตรึงใจ
๏ คล้ายไกล-จึงคล้ายมองไม่เห็น
สีเก่าจึงเป็นเหมือนสีใหม่
คล้ายเพ่ง-จึงพร่องไม่ว่องไว
ภาพนิ่งจึงไหว-ในวงตา
๏ เห็นไม้-เพียงเห็นเป็นหมู่ไม้
เห็นเมฆ-เพียงคล้ายประหนึ่งว่า
เป็นกลุ่มสิ่งทึบ ขาว-เทาทา
พร้อมพร้อมพร่าพร่าในตาตัว
๏ ทั้งทั้งคล้ายคล้ายจะไร้แดด
แต่ร้อนคล้ายแผดอยู่ถ้วนทั่ว
ตาใส-แต่ตากลับพร่ามัว
ด้วยหัวใจยังกลัว-ยังกริ่งเกรง ฯ
๏ บัดนี้, ภูเขาเบื้องหน้ายังผ่าเผย
สงบนิ่งวางเฉย-ไม่ร้อนเร่ง
รอรับตาเห็น-เช่นนั้นเอง
และคล้ายคล้ายยังสร้างเพลงแห่งอิสรา ๚ะ๛
ปีกเริง
๏ โดยบ่ายเบิกลมมาห่มบ่าย
จึงร่อนใบไม้จากในสวน
คว้างคว้างในบ่ายเป็นกระบวน
ขณะไม้ดอกอวลกรุ่นกลิ่นกราย
๏ เป็นลมห่มปีกผีเสื้อป่า
อันเร้นร่างมากับลมบ่าย
บอบบาง, สีฉาบอาบระบาย
เลื่อมเหลืองสลับลาย – ละลานตา
๏ ปีกเริงร่อนร่างในทางรก
ซึ่งแต้มสีปก - ดอกไม้ป่า
โดยใดจึงรู้ – จึงเร่งมา
ไฉนจึงรู้ว่า ดอกไม้บาน
๏ ไฉนจึงรู้ทางอันร้างรก
ที่ป่าคลุมปกเป็นดงด่าน
แรงขับแรงฝันใดบันดาล
ให้ลุแอ่งน้ำหวาน – เรณูนวล
๏ ในบ่ายอันลมไล้ห่มแดด
อันลามลงแผดอยู่ทุกส่วน
ผีเสื้อไม่ตอบ – ไม่ถามทวน
แสดงเพียงภาพขบวนการโบยบิน ๚ะ๛
พนม นันทพฤกษ์
นายสถาพร ศรีสัจจัง เป็นชาวพัทลุง
ใช้นามปากกานี้สำหรับวรรณกรรมเยาวชน
นวนิยาย รวมเรื่องสั้น และกวีนิพนธ์
ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ
ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี ๒๕๔๘