ขอร่วมแสดงอรรถถกถา ตามกำลังสติปัญญาเท่าที่พอจะรำลึกได้ เผื่อจะมีผู้รู้มาทำให้เรื่องนี้กระจ่างยิ่งขึ้นต่อไป จำได้ว่านานมาแล้ว ท่านกามนิตได้เคยชวนแปลลิลิตยวนพ่ายบทแรกไปครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นมีผู้เข้ามาถกกันหลายท่านและสืบข้อความไปหลายกระทู้ ซึ่งกล่าวได้ว่ายังไม่ได้ข้อสรุปโดยสมบูรณ์
ทราบกันแล้วว่า ลิลิตยวนพ่าย เป็นลิลิตสดุดีวีรกรรมพระมหากษัตริย์ สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2(พ.ศ.๒๐๑๕-พ.ศ. ๒๐๗๒) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ(พ.ศ.๑๙๗๔-พ.ศ.๒๐๓๑) เมื่อครั้งทรงมีชัยชนะเหนือพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาที่ยกทัพมารุกรานกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏนามผู้แต่งแน่ชัด แต่ต้องเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางอักษรศาสตร์และพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
แต่เนื่องจากลิลิตยวนพ่ายใช้ภาษา(ไทยโบราณ,เขมร,บาลี,สันสกฤต) พงศาวดารและหลักปรัชญาทางพระพุทธศาสนาค่อนข้างลึกซึ้งและเข้าใจยากจึงไม่ใคร่ได้รับความนิยม (“แต่หนังสือเรื่องยวนพ่าย ถ้าจะกล่าวแล้วเป็นหนังสืออาภัพ ผิดกับกลอนตำราเรื่องอื่น เช่น ลิลิตพระลอและเตลงพ่ายเป็นต้น เพราะมิใคร่จะมีใครอ่าน เหตุด้วยในคำนมัสการและคำยอพระเกียรติข้างตอนต้นหนังสือยวนพ่าย ผู้แต่งใช้ศัพท์และแสดงอรรถอันลึกซึ้งเข้าใจยาก ผู้อ่านๆแต่ต้นไปไม่ได้เท่าใดก็มักฉงนสนเท่ห์แล้วเลยเบื่อหน่ายปิดหนังสือทิ้งเสีย”-สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
ลิลิตยวนพ่าย ประกอบด้วยร่ายดั้น ๒ ตอนและโคลงดั้นบาทกุญชร ๓๖๕ บท บทที่เจ้าของกระทู้ยกมาให้ช่วยแปลความนี้เป็นส่วนต้นๆ ที่กล่าวยอพระเกียรติฯ โดยเริ่มจากร่ายดั้น และโคลงดั้นบาทกุญชรที่มีลักษณะคล้ายโคลงกระทู้ คือส่วนแรกใช้คำกลายๆกระทู้ว่า “พระมา”คือเสด็จทรงจุติมา ส่วนที่สองกล่าวถึงพระกฤษฎาและพระปรีชา และใช้จำนวนนับในภาษาบาลีเป็นกระทู้(จากเอกะถึงทสสะ)และสำแดงความสอดคล้องในพระอัจฉริยภาพต่อหลักธรรมอันขมวดไว้เป็นพระสูตรตามจำนวนนับในภาษาบาลีดังกล่าว
บทที่คุณToshare นำมาลงไว้เป็นบทที่กล่าวถึงพระสูตรที่ประกอบด้วยจำนวน๕ (คือเบญจ)
ผมขอแปลเท่าที่พอจะแปลความได้และไม่ยืนยันว่าเป็นที่สุด
๏ เบญจาวุทราษฎรบั้น เบญจางค
เบญจมารเบญญา ผ่าแผ้ว
เบญจาพิชานาง คฌาเณศ
เบญจนิวรณแร้วร้าง ร่างเหน ฯ
เอาหลักๆหรือกระทู้ก่อนนะครับ
เบญจาวุท-อาวุธ ๕
๑.สักกัสสะ วะชิราวุธัง คือ วชิราวุธ ของ พระอินทร์
๒.ยะมะนัสสะ นะยะนาวุธัง คือ นัยน์ตา ของ พระยายม
๓.เวสสุวัณณัสสะ คะทาวุธัง คือ กระบอง ของ ท้าวเวสสุวรรณ
๔.นารายะสะ จักกราวุธัง คือ จักร ของ พระนารายณ์
๖.อาฬะวะกัสสะ ทุสาวุธัง คือ บ่วงบาศ ของ ท้าวอาฬวกยักษ์
เบญจมาร-มาร ๕
๑. ขันธมาร มารคือขันธ์ ๕ ร่างกายไม่อำนวยให้ทำความดี เช่น เจ็บป่วย ทุพพลภาพทำให้หมดโอกาสดี ๆ ในชีวิต
๒. อภิสังขารมาร มารคือบุญบาป ความชั่วทำให้ขัดขวางมิให้บรรลุคุณธรรม และบางทีบุญก็ขัดขวางเช่นเดียวกัน เพราะเป็นเหตุให้เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ ผู้ที่ทำบุญไปเกิดในภพภูมิที่ดีเช่นสวรรค์ ก็หลงมัวเมาไม่รู้สร่าง อย่างนี้แหละที่ท่านว่าบุญก็เป็นมารมิให้บรรลุธรรม
๓. กิเลสมาร มารคือ กิเลส โลภ โกรธ หลง เป็นมารเพราะขัดขวางมิให้บุคคลบรรลุผลสำเร็จดีงาม
๔. มัจจุมาร มารคือความตาย ความตายทำลายทุกสิ่งในชีวิต บางทีกำลังก้าวหน้าใน ชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม ก็มาด่วนตายเสียก่อน ความามตายจึงตัดโอกาสดี ๆ ในชีวิต
๕. เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร เทวดาที่เกเรคอยขัดขวางมิให้คนทำดี หมายเอาเทวบุตรฝ่ายอันธพาลทั้งหลายอย่างสูง หมายเอาพญามารชื่อวสวัตตีที่กล่าวข้างต้น
เบญจาพิชา-อภิญญา ๕
๑. อิทธิวิธี คือ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ เช่น เหาะ , เหิน , เดินอากาศ , เดินทะลุกำแพง , ดำดิน , เดินบนน้ำ , เอามือไปลูบพระอาทิตย์ , หายตัวได้ เป็นต้น ทำได้ด้วยฌานสมาบัติ ไม่ใช่คาถาอาคมเหมือนวิชาไสยเวทของวิทยาธร ...
๒. ทิพพโสต คือ หูทิพย์ , สามารถฟังภาษาสัตว์ต่างๆรู้เรื่องได้
๓. เจโตปริยญาณ คือ ญาณที่รู้ใจคนอื่นได้ รู้ความคิดของผู้อื่นได้ ทายใจคนอื่นได้
๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ รู้เรื่องราวในอดีตของตัวเองได้
๕. ทิพพจักขุ คือ มีตาทิพย์ , มองเห็นทั้ง 3 ภพ โลก นรก สวรรค์ ฯลฯ
อาจมีหลายท่านเคยได้ยิน อภิญญา ๖ คือ
๖. อาสวักขยญาณ คือ ญาณที่ทำให้ กิเลส อาสวะ หมดสิ้นไป จนเป็นพระอรหันต์ในที่สุด
ซึ่งเป็นญาณที่ปถุชนยังมิอาจเข้าถึงได้
เบญจนิวรณ-นิวรณ์ ๕
นิวรณ์ ๕ หมายถึง สิ่งที่ขวางกั้นจิตทำให้สมาธิไม่อาจเกิดขึ้นได้ มี 5 อย่างคือ
๑.กามฉันทะ คือ ความยินดี พอใจ เพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์ ได้แก่ ความยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สิ่งสัมผัสทางกาย) อันน่ายินดี น่ารักใคร่พอใจ รวมทั้งความคิดอันเกี่ยวเนื่องด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น (คำว่ากามในทางธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงเรื่องเพศเท่านั้น)
๒. พยาบาท คือ ความโกรธ ความพยาบาท ความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ
๓. ถีนมิทธะ แยกเป็นถีนะ คือ ความหดหู่ท้อถอย และมิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน ถีนะและมิทธะนั้นมีอาการแสดงออกที่คล้ายกันมาก คือทำให้เกิดอาการเซื่องซึมเหมือนกัน แต่มีสาเหตุที่ต่างกันคือ
ถีนะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เกิดจากการปรุงแต่งของจิต ทำให้เกิดความย่อท้อ เบื่อหน่าย ไม่มีกำลังที่จะทำความเพียรต่อไป
ส่วนมิทธะนั้นเกิดจากความเมื่อยล้าอ่อนเพลียของร่างกาย หรือจิตใจจริง ๆ เนื่องจากตรากตรำมามาก หรือขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่มากเกินไป มิทธะนี้ไม่จัดเป็นกิเลส (พระอรหันต์ไม่มีถีนะแล้ว แต่ยังมีมิทธะได้เป็นบางครั้ง)
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ แยกเป็นอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านของจิต และกุกกุจจะคือความรำคาญใจ
อุทธัจจะนั้นคือการที่จิตไม่สามารถยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน จึงเกิดอาการฟุ้งซ่าน เลื่อนลอยไปเรื่องนั้นที เรื่องนี้ที
ส่วนกุกกุจจะนั้นเกิดจากความกังวลใจ หรือไม่สบายใจถึงอกุศลที่ได้ทำไปแล้วในอดีต ว่าไม่น่าทำไปอย่างนั้นเลย หรือบุญกุศลต่างๆ ที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ ว่าน่าจะได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้
๕. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ หรือไม่ปักใจเชื่อว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด หรือควรทำแบบไหนดี จิตจึงไม่อาจมุ่งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างเต็มที่ สมาธิจึงไม่เกิดขึ้น
นิวรณ์ทั้ง 5 ตัวนี้ มีเฉพาะอุทธัจจะเท่านั้นที่เกิดขึ้นตัวเดียวได้ ส่วนนิวรณ์ตัวอื่น ๆ นอกนั้น เมื่อเกิดจะเกิดขึ้นร่วมกับอุทธัจจะเสมอ
ทีนี้ลองแปลไปทีละวรรค
เบญจาวุทราษฎรบั้น เบญจางค
เบญจาวุท-อาวุธทั้งห้า
ราษฎร-(สก.)แปลว่า ชาวเมือง,แว่นแคว้น,บ้านเมือง
บั้น-ส่วน
เบญจางค-อวัยวะทั้งห้า หัว๑ แขน๒ เข่า๒
แปล: มีราษฎรดั่งอาวุธวิเศษทั้งห้าอยู่ข้างพระวรกาย(เป็นมือเป็นแขน)
เบญจมารเบญญา ผ่าแผ้ว
เบญจมาร-มารทั้ง๕
เบญญา-ปัญญา
แปล: มารทั้งห้าจะมาผจญก็ทรงใช้ปัญญาขจัดไปจนสิ้น
เบญจาพิชานาง คฌาเณศ
เบญจาพิชา-อภิญญา ๕
คฌาเนศ-พระพิฆเนศ
แปล: ทรงบรรลุอภิญญาห้าเสมอเท่าพระพิฆเนศ
มีสงสัยอยู่นิดตรงคำว่า”นาง”เพราะพระพิฆเนศมีเพศเป็นชาย แต่โดยความเข้าใจน่าจะมีลักษณะเหมือนที่เราเห็นคำเรียกบุรุษที่สามว่า”ท้าวเธอ”
เบญจนิวรณแร้วร้าง ร่างเหน ฯ
เบญจนิวรณ์-นิวรณ์ ๕
แร้ว-บ่วงดักสัตว์
ร้าง-ก. ทอดทิ้งไว้, ไปจาก. ว. ว่างเปล่า, ปราศจากผู้คน.
แปล:ทรงขจัดนิวรณ์ทั้งห้าจนไม่มีสิ่งใดหลงเหลือให้เห็นได้เลย
ดีใจที่คำแปลของผมก็คล้ายๆของท่าน ดาว อาชาไนยเหมือนกัน
รอท่านผู้รู้อื่นๆมาเฉลยต่อครับ
พรายม่าน
สันทราย
๐๘.๐๒.๕๗