ร่ายพจน์รำพัน
๏ ระหว่างวรรคฉลักลายระบายบทประกอบกลนิพนธ์พจน์ประณตหนอ
พิศุทธิ์ศิลป์กวินหวานสะคราญคลอ
ประพันธ์เพลงเชลงล้อ..พะนอใน
๏ ประกิจกานท์สราญรินถวิลว่า
เจริญรัตน์พิพัฒน์พาอุษาใส
วิพุธเพียงเจรียงราวสกาวไกล
สะพร่างเพริศกระเจิดใจ..ไสววัน
๏ ลิขิตคมผสมสีวลีหลาย
เสบียงบุญละมุนหมายประกายกลั่น
พิลาสลองประคองคำระบำบรรณ
ประสานส่งผจงจันทร์..สุพรรณพิศ
๏ ละไมมองสนองเนตรวิเศษสวย
ประภาสเพชรสะเก็จกรวยกระบวยบิด
สว่างแวมแอร่มรับกระชับชิด
สลอนลักษมณ์ประจักษ์จิต..พินิจนาน
๏ สะบัดบอกกระฉอกฉายกระจายจัด
อรุณรินประทินทัศน์สวัสดิ์หวาน
วิจิตรจับสดับดลกมลมาน
ประภาพพาวิชาชาญ..สนานนี้
๏ พิศาลศาสตร์ประกาศเกลอเสมอเหมือน
ระฆังขับระยับเยือนสะเทือนถี่
เสนอนุ่มกระชุ่มชวนประมวลมี
พนมนบประสบศรี..พจีจินต์ ๚ะ๛
คอนพูทน
กลบทกินนรรำ กำหนดให้แต่ละวรรค เช่น
ระฆังขับระยับเยือนสะเทือนถี่ คำที่ ๑-๔-๗ (ระ-ระ-สะ) เป็นคำตายไม่มีตัวสะกด,
สัมผัสอักษรสามคู่คือคำที่ ๒-๓ (ฆัง-ขับ) คำที่ ๕-๖ (ยับ-เยือน) และคำที่ ๘-๙
(เทือน-ถี่) สัมผัสสระสองคู่คือคำที่ ๓-๕ (ขับ-ยับ) และคำที่ ๖-๘ (เยือน-เทือน)
นอกนั้นเหมือนกลอนสุภาพ ด้วยความขอบคุณ
ระฆังขับระยับเยือนสะเทือนถี่ คำที่ ๑-๔-๗ (ระ-ระ-สะ) เป็นคำตายไม่มีตัวสะกด,
สัมผัสอักษรสามคู่คือคำที่ ๒-๓ (ฆัง-ขับ) คำที่ ๕-๖ (ยับ-เยือน) และคำที่ ๘-๙
(เทือน-ถี่) สัมผัสสระสองคู่คือคำที่ ๓-๕ (ขับ-ยับ) และคำที่ ๖-๘ (เยือน-เทือน)
นอกนั้นเหมือนกลอนสุภาพ ด้วยความขอบคุณ