ใช้จิตนำ จำถ้อย ร้อยความคิด
อย่ายึดติด ผิดข้าง ต่างสับสน
หากกลับกลอก หลอกกลิ้ง ยิ่งพาจน
อันปากคน พูดพล่อย ด้อยราคา
ถึงคราวพูด หยุดคิด สักนิดหนึ่ง
คนฟังซึ้ง ตรึงจิต พินิจหนา
ขืนพูดไป ไพเบี้ย เสียน้ำตา
มีภัยมา ถึงตัว มั่วพูดไป
หากใคร่ครวญ สักหน่อย ค่อยประสาน
พูดประมาณ อย่าข่มกัน กลั่นกรองใหม่
พูดไม่คิด ผิดซ้ำ ทำฉันใด
เปล่งวาจา ออกไป ให้กล้ำกลืน
จักได้อาย ขายหน้า ประชาเขา
ว่าตัวเรา ไร้ค่า ระอาฝืน
เปรียบปลาหมอ มอดม้วย ยากช่วยคืน
ปากตนตื้น ขื่นขม จึงล้มตาย
พูดเพ้อเจ้อ เจอใคร ใส่ไม่ยั้ง
พูดเพราะคลั่ง อุดมการณ์ จักพาลหน่าย
พูดพร่ำเพรื่อ เชื่อพลาด อาจวอดวาย
พูดมากมาย น้ำท่วมทุ่ง ยุ่งลำเค็ญ
เป็นเจ้านาย ขายฝัน กลั่นละเอียด
อย่าหยามเหยียด ผู้น้อย พลอยเขม่น
มองมุมต่าง เพียงนิด ใช่ผิดประเด็น
เปิดใจเป็น ดั่งมหานที สีทันดร
พันทอง
๑๙/๑๑/๕๖
คำว่า นทีสีทันดร ประกอบด้วยคำว่า นที กับคำว่า สีทันดร. คำว่า นที แปลว่า แม่น้ำ. ส่วน สีทันดร คือสายน้ำทั้ง ๗ สาย ที่อยู่รอบเขาพระสุเมรุ และคั่นอยู่ระหว่างภูเขา ๗ เทือก ที่ล้อมเป็นวงกลมรอบเขาพระสุเมรุอยู่. สายน้ำ ๗ สาย นั้น คั่นอยู่ระหว่างเทือกเขาเทือกหนึ่งกับอีกเทือกหนึ่ง ซึ่งเรียงซ้อนกันมาเป็นชั้น ๆ. ภูเขา ๗ เทือกนั้น มีชื่อว่า
ยุคุนธร
อิสินธร
กรวิก (อ่านว่า กอ-ระ -วิก)
สุทัสนะ (อ่านว่า สุ -ทัด-สะ -นะ)
เนมินธร วินตกะ (อ่านว่า วิน-ตะ -กะ)
และ อัสกัณ (อ่านว่า อัด-สะ -กัน)
รวมเรียกว่า เขาสัตบริภัณฑ์ (อ่านว่า สัด-ตะ -บอ-ริ-พัน) หรือ เขาสัตภัณฑ์ (อ่านว่า สัด-ตะ -พัน) ก็ได้.
สีทันดร แปลว่า เป็นสายน้ำที่มีน้ำใสสะอาด ซึ่งฝุ่นและตะกอนจมลงหมด มีความกว้างและลึก และจะลดความกว้างและลึกน้อยลงจากสายที่อยู่ใกล้ภูเขาเรื่อยมาจนถึงสายที่อยู่นอกสุด.