สงสัยว่าคนถามอาจเขียนกลอนส่งประกวด แล้วใช้วรรณยุกต์แตกต่างไปจากที่กำหนดกันมาจนกลายเป็นเกณฑ์ เช่น แทนที่จะเขียนว่า
แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
ก็อาจจะเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์เป็นว่า
แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลดเลี้ยวทั้งเคี้ยวคด
ถึงเถาวัลย์พันล้ำเหลือกำหนด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
แล้วถูกกรรมการปรับตก หรือท้วงติงว่าผิดฉันทลักษณ์ เจ้าตัวก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่าที่ผิดนั้นใครกำหนดกฎเกณฑ์เอาไว้แต่ครั้งไหน ถ้าจะว่าผิดวรรณยุกต์ก็เอาระเบียบที่ตราไว้แต่โบราณมาให้ดูหน่อย
การเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์แบบที่ยกตัวอย่างมาข้างบน เห็นบ่อยในปัจจุบัน ว่ามีการลงเสียงวรรณยุกต์กันตามใจชอบ เมื่อไม่มีใครท้วงติง อีกหน่อยก็คงใช้ตามๆกันไปจนกลายเป็นเสียงที่อนุโลมใช้ได้ไปเอง
แต่ส่วนตัวดิฉันไม่เปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์ตามนี้ ด้วยเหตุผลเดียวคือรู้สึกว่ามันไม่ไพเราะเท่านั้นละค่ะ
เทาชมพู (ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม)
http://www.reurnthai.com/