มโนจินต์พร่างแก้ว ปรารถนา
ผิพรั่นบ่ชูกล้า ห่มเถ้า
คั้นแท้แห่งปัญญา แพร้วทิพย์
สิผ่านอวิชช์ก้าว มิ่งฟ้าจักรวาลฯ
ขังอัตตาเขื่องแท้ มโนคติ
ตรึกเพ่งสมาธิ ผ่านข้าม
ปัญญาเร่งช่อผลิ แก้วค่า
ใครกริ่งเทวาคร้าม ร่วงรุ้งมณีเสมอฯ
อันความรู้แหล่งหล้า ทศทิศ
ปราชญ์เคร่งจารลิขิต แก่นซึ้ง
บอกแจ้งสิ่งใดพิษ เปื่อยเน่า
ผิบ่เชื่ออย่าขึ้ง นิ่งนั้นดีเสมอฯ
เนื้อเหล็กสนิมกร่อนแท้ เนื้อใน
กัดแก่นแข็งเหล็กวาย ป่นปี้
นพคุณค่าแก้วไซร้ สนิมพ่าย
เช่นดั่งเปลือกกระพี้ แกร่งสู้ไม้ไฉนฯ
***นี่คือ โคลงชิ้นแรกๆ ที่เขียนจากความทรงจำ (ไม่น่าเกิน 10 ชิ้นแรกในชีวิต เขียนในช่วงปี 2530 มากกว่า หรือน้อยกว่าบวกลบ 5 ปี ไม่แน่ใจ) คือเขียนประมาณนี้ เป็นการผสมผสานระหว่างจารีตนิยมและอิทธิพลของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ (ท่านได้ซีไรต์ปี 2529) หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยกลับไปเขียนแนวนี้สักเท่าไร เขียนประมาณเล่าเรื่องที่พบเห็นทั่วไปในชีวิตจริงๆ ที่ “ตา” เห็น และ “หัวใจ” สัมผัสได้ แล้ว “กลั่น” มาเป็น “อารมณ์กวี” สื่อออกไปยังผู้เสพ
***นักกลอนมุ่งความไพเราะ, อ่านสละสลวยเพลิดเพลิน, เน้นความเริงรมย์แห่งสุนทรีย์, งามทั้งฉันทลักษณ์, ภาษา, สัมผัสเสียง/คำ, เสียงดนตรี,จังหวะจะโคน ฯลฯ นักกลอนจะได้ทั้งหมด นี้คือ ความสามารถพิเศษของนักกลอนไทยแต่ละท่าน แต่กวีไม่ใช่ (นักกลอนส่วนหนึ่งก็เป็นกวี)
***กวีเลือกหยิบสิ่งเดียวกันนั้นถ่ายทอดออกมาเป็น “ภาษาของอารมณ์กวี” ที่ไม่จำเป็นต้องสละสลวยสวยงาม หยาดเยิ้ม หยดย้อย แต่กวีเขียนความจริงที่เขาใช้อารมณ์ของตัวเองเข้าไปจับต้องสัมผัสแล้วกลั่นสิ่งที่เข้ามากระทบนั้นๆ ร้อยเรียงออกมาด้วยคำที่ “ง่ายงาม” อีกทั้งชั้นเชิง ลีลา ก็ไม่สละสลวยแบบนักกลอน, บางครั้งอ่านติดๆ ขัดๆ ตะกุกตะกักด้วยซ้ำไป แต่ “นัยยะ” ที่ได้นั้นคือ “คุณค่า” ที่กวีต้องการสื่อกับคนเสพ
สนอง เสาทอง
4 มิถุนายน 56
ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน |
21 พฤศจิกายน 2024, 11:25:PM | |||
|
ผู้เขียน | หัวข้อ: ไม้อ่อนดัดง่าย (อ่าน 6663 ครั้ง) |
| ||||||||||
Email: