โกลาหลแต่เช้า วุ่นวาย
จิกไล่โฉบฉวัดไฉว แกลบเอี้ยง
กระจอกทุ่มเถียงใส่ บ่เกี่ยง รุ่นนา
ครู่ใหญ่สลายเกลี้ยง มุ่งหน้าหากินฯ
ได้สงบเสียงอยู่บ้าง บ่ายสบาย
รีบเยี่ยมบ้านกลอนไทย บ่ช้า
เงียบเหงาอยู่เป็นไฉน พ้องเพื่อน
ฤาว่าสิ้นเดือนลัลล้า เที่ยวร้านยาดองฯ
ใกล้หกโมงค่ำแล้ว ทำใจ
ยินแว่วเกี่ยงโวยวาย พี่เอี้ยง
กระจอกแย่งเสาไฟ ฟ้าอยู่ คอนแล
เอี้ยงบ่ยอมฟาดเปรี้ยง ต่างเข้าโรมรันฯ
สงสารสองคู่เจ้า สกุณไพร
เถียงทุ่มแย่งเสาไฟ ฟ้าต้น
ทำรังแต่พอได้ ผ่านช่วง ฝนนา
สิเผื่อเลี้ยงลูกพ้น ปีกกล้าขาแข็งฯ
***เสาไฟฟ้าหน้าบ้าน มีนกเอี้ยงแกลบทำรังอยู่ข้างบน, กระจอกทำรังอยู่ข้างล่างถัดลงมา ไม่มีคำว่าปรองดองและสมานฉันท์ใดๆ ทั้งสิ้น จิกตีเถียงกันวุ่นวายเช้าค่ำ อีกหน่อยทั้งสองคู่ปรับมีลูกเล็กๆ คงวุ่นวายน่าดู
หมายเหตุ :
****คำสร้อยที่นิยมใช้กับโคลงเป็น “แบบแผน” มีทั้งหมด 18 คำ (สำหรับนักประพันธ์แนวจารีตนิยม)
1. พ่อ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล
2. แม่ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล หรือเป็นคำร้องเรียก
3. พี่ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล อาจใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 หรือบุรุษที่ 2 ก็ได้
4. เลย ใช้ในความหมายเชิงปฏิเสธ
5. เทอญ มีความหมายเชิงขอให้มี หรือ ขอให้เป็น
6. นา มีความหมายว่าดังนั้น เช่นนั้น
7. นอ มีความหมายเช่นเดียวกับคำอุทานว่า หนอ หรือ นั่นเอง
8. บารนี สร้อยคำนี้นิยมใช้มากในลิลิตพระลอ มีความหมายว่า ดังนี้ เช่นนี้
9. รา มีความหมายว่า เถอะ เถิด
10. ฤๅ มีความหมายเชิงถาม เหมือนกับคำว่า หรือ
11. เนอ มีความหมายว่า ดังนั้น เช่นนั้น
12. ฮา มีความหมายเข่นเดียวกับคำสร้อย นา
13. แล มีความหมายว่า อย่างนั้น เป็นเช่นนั้น
14. ก็ดี มีความหมายทำนองเดียวกับ ฉันใดก็ฉันนั้น
15. แฮ มีความหมายว่า เป็นอย่างนั้นนั่นเอง ทำนองเดียวกับคำสร้อยแล
16. อา ไม่มีความหมายแน่ชัด แต่จะวางไว้หลังคำร้องเรียกให้ครบพยางค์ เช่น พ่ออา แม่อา พี่อา หรือเป็นคำออกเสียงพูดในเชิงรำพึงด้วยวิตกกังวล
17. เอย ใช้เมื่ออยู่หลังคำร้องเรียกเหมือนคำว่าเอ๋ยในคำประพันธ์อื่น หรือวางไว้ให้คำครบตามบังคับ
18. เฮย ใช้เน้นความเห็นคล้อยตามข้อความที่กล่าวหน้าสร้อยคำนั้น เฮย มาจากคำเขมรว่า "เหย" แปลว่า "แล้ว" จึงน่าจะมีความหมายว่า เป็นเช่นนั้นแล้ว ได้เช่นกัน
****ข้อสังเกตคำสร้อยที่ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ มักใช้กับโคลงมีดังนี้ (ดูคำท้ายที่ไม่อยู่ในวงเล็บ)
1. (เลย) ท่าน
2. (หอม) ฤา
3. (ใด) แล
4. (เมฆ) (พระ) (ขวัญ) (เอง) (ใจ) เอย
5. ก็ดี
6. (ลับ) (ลึก) (ไป) (ยิ่ง) (แป้ง) (โลก) (สอน) (เสมอ) แล
7. (นิ่ง) (ทิพย์) (เสมอ) (ถ้วน) (อิ่ม) เทอญ
8. (ร้าง) (พอ) (จริง) (ดัง) (เห็น) (หาย) (เปรียบ) ฤา
9. ลั่นโลก
10. (ถึง) (ยิ่ง) (ยิน) (ครวญ) (ช้า) (นา) (นั้น) (วิเศษ) (ชู) (เสมอ) (ปลอม) (งาม) (โลก) นา
11. (รู้) รา
12. (ถึง) เลย
13. ไชโย
14. ควรเมือง
15. (ใหญ่) แฮ
**ท่านใช้คำที่ลงท้ายด้วย นา, แล และ ฤา มากที่สุด
**ที่ท่านไม่ใช้เลยมี เฮย, อา, ฮา, เนอ, บารนี, นอ, พี่, แม่ และ พ่อ
**ที่ท่านเพิ่มเองมี ไชโย, ควรเมือง และ ลั่นโลก
**สร้อย ก็ดี ท่านมักใช้กับวรรคแรก
สนอง เสาทอง
3 มิถุนายน 2556
ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน |
22 พฤศจิกายน 2024, 01:42:PM | |||
|
ผู้เขียน | หัวข้อ: @..ฝึกแต่งโคลง..@ (อ่าน 127759 ครั้ง) |
| ||||||||||
Email: