มีเรื่องมหัศจรรย์โดยแท้เมื่อพระธาตุพนมล้ม ยกมาเป็นบางเรื่องที่สำคัญเท่านั้นคือ
1. เมื่อพระธาตุชั้นที่หนึ่งพังทลายลง พระธาตุชั้นที่สองก็เอียงลงมาลักษณะคว่ำลงสู่พื้นดิน ด้วยลักษณาการนี้ถาดสำริดที่รองรับเจดีย์ศิลาและบุษบกทองคำต้องตกลงมาสู่พื้นในลักษณะคว่ำและวัตถุสิ่งของในถาดอันเป็นของชิ้นเล็กชิ้นน้อยต้องกระจัดกระจายไปทั่ว แต่เมื่อตกถึงพื้นกลับอยู่ในลักษณะเก่าคือหงายรองรับเจดีย์ศิลาและบุษบกทองคำอยู่เช่นเดิมไม่มีวัตถุใดกระเด็นออกมา เหมือนกับมีคนจับยกลงมาวางไว้มากกว่าจะตกลงมาเองเป็นที่น่าอัศจรรย์
2. ขณะตรวจผอบได้พบว่ามีพระอุรังคธาตุอยู่จริงย่อมเป็นที่โล่งอก จะได้รู้เห็นกันชัด ๆ ไปเลยว่ามีพระบรมธาตุบรรจุอยู่ในพระเจดีย์จริงมิใช่เรื่องแต่ง และในแก้วผลึกที่ใสยิ่งกว่าใสนั้น มีกระดูกลักษณะที่ยังไม่ได้เผา 8 ชิ้นตรงกับที่ตำราระบุไว้จริงว่า พระมหากัสสปะเถรเจ้าตั้งจิตอธิษฐานแล้วพระอุรังคธาตุก็เสด็จออกจากพระบรมศพมาสู่ฝ่ามือขวาของพระมหากัสสปะก่อนที่ไฟทิพย์จะลุกโชนขึ้นเผาพระพุทธสรีระ และเมื่อทำการเปิดฝาทองคำที่ปิดแก้วผลึกนั้นออกดูปรากฏกลิ่นหอมเย็นคล้ายน้ำมันจันทน์โชยไปไกลเป็นระยะถึง 10 เมตรเศษทั่วบริเวณ บางคนถึงกับว่าเทพยดามาโปรยดอกไม้ทิพย์บูชาพระอุรังคธาตุ
3. ฉัตรทองคำยอดพระบรมธาตุได้ปาฏิหาริย์ไปพิงอยู่ที่ฝาผนังกำแพงหอพระแก้วโดยมีรอยขูดขีดเสียหายเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความสูงที่อยู่บนสุดด้วยระยะ 57 เมตร และทองคำเป็นโลหะที่นิ่มมากแรงกระแทกขนาดนั้นกลับไม่เสียหายอย่างที่วิตกแต่แรก ที่สำคัญมิได้ล้มแต่ไปพิง
4. รูปหล่อโลหะสี่องค์ขนาดเท่าคนจริงของพระมหาเถระองค์สำคัญผู้มีอุปการคุณต่อพระธาตุพนมและมหาชนทั่วไป ซึ่งรูปหล่อทั้งหมดนี้ประดิษฐานอยู่อย่างใกล้ชิดองค์พระธาตุพนมตลอดทิศทั้งสี่ เมื่อพระธาตุล้มรูปจำลองเหล่านี้กลับไม่ได้รับความเสียหายเลยแม้แต่น้อย ขอย้ำว่าแม้แต่น้อย ดูรูปการณ์ดุจดังพระธาตุล้มแล้วจึงนำรูปเหมือนทั้งสี่ไปตั้งภายหลังน่าอัศจรรย์นัก รูปหล่อทั้งสี่องค์ประกอบด้วย ท่านเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (พระครูขี้หอม) ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด นันตโร) ท่านพระครูศีลาภิรัต (หมี อินทวังโส) และ ท่านพระเทพรัตนโมลี (แก้ว อุทุมมาลา)
พระธาตุพนมองค์ใหม่ถูกสร้างขึ้นในวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 แรม 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะโรง วันนี้เป็นปีงูใหญ่ได้ลงเสาเข็มพระธาตุองค์ใหม่ โดยการสร้างครั้งนี้เป็นแบบสร้างครอบของเก่าลงไปเลยทีเดียว เพราะตอนพระธาตุล้มเป็นส่วนต่อชั้นที่สองซึ่งมาเติมสมัยพญาสุมิตตธรรมวงศาขึ้นไปที่ล้มลง ในส่วนของอุโมงค์และฐานเดิมยังคงอยู่
พระธาตุพนมองค์ใหม่สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2521 ประกอบพิธียกฉัตรเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2522 โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นองค์ประธานพิธี
ประกอบพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุเมื่อวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์
ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน |
23 พฤศจิกายน 2024, 10:37:PM | |||
|
ผู้เขียน | หัวข้อ: กราบลง ณ ตรงพื้นธุลีพระธาตุพนมอันศักดิ์สิทธิ์ (อ่าน 4575 ครั้ง) |
| ||||||||||
Email: