ขอมองค้อนน้องนะโมสักสามวงเถิดนะ แถมหยิกอีกสองหนับ emo_45ที่ไปเอากระทู้ที่มีคนโพสท์อย่างนี้มาวาง ทำให้ชาวเราตื่นตระหนกตกใจไปตามๆกัน น่าจะเอาความเห็นกลางๆมาวางหน่อยก็ไม่ได้
แต่ผมเมื่อได้รับข่าวสารใดๆอันเนื่องมาจากการเมืองด้วยแล้ว ผมจะหายใจยาวๆลึกๆแล้วใช้วิจารณญาณในการเสพข่าว พยายามหาแหล่ง ที่ไปที่มา ก็ลยได้คำตอบมาดังนี้ นะครับ
วันนี้ (6 ธ.ค. 2555) นายฐากูร บุนปาน คอลัมนิสต์ ได้ให้สัมภาษณ์ ในรายการ" มติชนวิเคราะห์" ในประเด็นเรื่องบทอาเศียรวาทของหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 5 ธ.ค. 2555 ที่ถูกแปลความไปต่างนานา ไกลเกินเจตนารมณ์ของผู้แต่งบทอาเศียรวาท
นายฐากูร กล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาว่าผู้ประพันธ์ได้ให้ความหมายในแง่ประชาชนร้องทุกข์ต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งสื่อให้เห็นความรักระหว่างประชาชนต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งสำนวนโวหารในลักษณะนี้เป็นเอกลักษณ์ของผู้ประพันธ์ซึ่งได้แต่งบทอาเศียรวาท ให้แก่ นสพ.มติชนมา กว่า 30 ปี ด้วยเจตนาที่ดี
นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่าการที่ไม่เปิดเผยนามของผู้ประพันธ์เป็นเรื่องปกติ เพราะผู้ประพันธ์อยู่เลยจุดที่ต้องการชื่อเสียงเงินทองแล้ว และทุกปีก็ไม่มีการเอ่ยนามของผู้ประพันธ์แต่อย่างใด แต่ยืนยันได้ว่าหากรู้จักผู้ประพันธ์จะรู้ว่า ผู้ประพันธ์ไม่เคยมีพฤติกรรมหรือเจตนาที่จะแต่งบทอาเศียรวาทในทางที่ไม่ดี และฝากให้คุณผู้ชมให้รับข้อมูลข่าวสารด้วยใจที่ไม่อคติ ขอให้มองบทอาเศียรวาทนี้และแปลความหมายตามความเป็นจริงด้วย
วันเดียวกัน"มติชน" ได้ออกคำชี้แจง กรณีบทอาเศียรวาท ในช่วงเช้าว่า
สืบเนื่องจากมีผู้ตั้งคำถามต่อบทอาเศียรวาท ที่ตีพิมพ์ในมติชน ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาว่ามีความหมายอย่างไร มีความกำกวมไม่เหมาะสมหรือไม่
บทอาเศียรวาท มีเนื้อความดังนี้
วันหนึ่งฟ้าสว่างกระจ่างแจ้ง ลมแล้งในใจไห้โหยหาย
ข้าวกล้านาไร่ได้กลิ่นอาย ยามฝนขวนขวายมุ่งหมายมา
วันหนึ่งเมฆคลุ้มเป็นกลุ่มก้อน ลมร้อนลมเย็นเป็นปัญหา
พฤกษ์พุ่มชอุ่มช้ำท่วมน้ำตา ฝันว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร
ต่อไปนี้ คือคำอธิบายจากผู้ประพันธ์บทอาเศียรวาทดังกล่าว
"....อาเศียรวาทสองบทนี้ มีความหมายตรงตามตัวอักษรทุกประการ ด้วยวิธีการเขียนบทกวีที่มีการเปรียบเทียบให้เห็นภาพ จึงใช้วันฟ้าสว่างกับวันฟ้ามืดครึ้ม วันฟ้าสว่างนั้นแม้แต่ลมแล้งในใจผู้คนที่โหยไห้ก็ยังหาย ข้าวกล้านาไร่ยังได้กลิ่นอายฝนที่มุ่งหมายมาตกต้องตามฤดูกาลย่อมหมายถึงความสว่างในพระบรมเดชาเมตตาบารมี ที่ปกเกล้าพสกนิกรและทุกสรรพสิ่ง อันเนื่องมาจากพระวิริยะอุตสาหะเช่นฟ้าฝน ชลประทาน หรืออ่างเก็บน้ำอันยังประโยชน์สม่ำเสมอแก่ไร่นา
ดังนั้น เมื่อมีวันมืดครึ้ม ซึ่งแม้แต่ธรรมชาติปัจจุบันเช่นที่เห็นกันก็ผันผวน เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็นเป็นปัญหา จึงมีหรือที่จะไม่นึกฝันถึงวันฟ้าสว่าง วันที่กระจ่างแจ้งร่มเย็นอยู่ในพระบรมโพธิสมภาร ว่าดีอย่างไร ดีขนาดไหน คือความหมายซึ่งอธิบายได้ตามตัวอักษรทุกวรรคตอน
อนึ่ง ที่ยังมีข้อสงสัยต่อความหมายในบาทสุดท้าย ที่ว่า "ฝันว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร" นั้น หากติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา ย่อมเห็นแล้วว่า ปัจจุบันมีปัญหามากมาย ที่ทำให้คนส่วนมากเดือดเนื้อร้อนใจ มีแต่คนส่วนมากเรียกร้องความสงบสุขในสังคม เพื่อจะได้ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน
เช่นนี้แล้ว ทำไมจึงจะไม่คิดถึงล่ะว่าวันที่ฟ้าสว่างกระจ่างแจ้งนั้นดีอย่างไร วันที่ธรรมชาติดำเนินไปอย่างถูกต้องเหมาะสมตามฤดูกาล ไร่นาประชาชนสมบูรณ์ วันที่พระบรมเดชานุภาพแผ่ไพศาล ปราศจากฝุ่นละอองใดๆ มาแผ้วพาน"
กองบรรณาธิการหวังว่า คำอธิบายความหมาย สัญลักษณ์ และเจตนาของผู้ประพันธ์ น่าจะสร้างความกระจ่างและทำให้เกิดการตีความที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของผู้ประพันธ์
กองบรรณาธิการมติชน
6 ธันวาคม 2555
เป็นคำแก้ตัวของผู้เขียนที่ฟังไม่ขึ้นเอาเลยทีเดียว ถ้าบอกว่า"มีความหมายตรงตามตัวอักษรทุกประการ"แล้วมีอักษรตัวไหนในบทกลอน
ที่เอ่ยถึง"พระบรมเดชาเมตตาบารมี"บ้าง ? ไม่มีเอ่ยถึงเลยแม้สักตัวเดียว แล้วแบบนี้จะบอกว่า"มีความหมายตรงตามตัวอักษรทุกประการ"ได้อย่างไร ฟังไม่ขึ้นครับ
ความจริงแล้วกลอนบทนนี้จะไม่มีปัญหาให้ต้องคิดเลย ถ้าไม่มีสองวรรคนี้
"พฤกษ์พุ่มชอุ่มช้ำท่วมน้ำตา ฝันว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร"
ถ้าจะให้ผมตีความตามความเข้าใจในคำที่เขาใช้ก็ต้องตีความว่า"เมื่อประชาชนยังมีแต่ความทุกข์ แล้วจะบอกว่าเป็นสุขได้อย่างไร"
ผมว่า ความหมายมันน่าจะออกไปในทำนองนั้นนะ นี่ผมตีความตามความเข้าใจในภาษาที่เขาเขียนนะครับ มันเขียนพาให้เข้าใจไปในทำนองนั้น
ปล.ถ้าจะมีการลบกระทู้และหักคะแนน ขอให้หักทุกคนนับตั้งแต่เจ้าของกระทู้ลงมาเลยนะครับ เพื่อความยุติธรรม อันนี้พูดไว้เผื่อว่าโดนหักนะ