พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ให้ความหมายของคำว่า "กลบท" ไว้ดังนี้
กลบท (กน-ละ-บด) น.คำประพันธ์ที่บัญญัติให้ใช้คำหรือสัมผัสเป็นชั้นเชิงยิ่งกว่าธรรมดา เช่น
อมรแมนแม่นแม้นเจ้างามโฉม(กลบทตรีประดับ)
ในคำประพันธ์ร้อยกรองแต่โบราณของไทยเรานั้น เรามีกลบททั้งที่เป็น กลอนกล ร่ายกล โคลงกล กาพย์กล และฉันท์กล แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะกลอนกล เท่านั้น
กลอนกล ก็คือกลอนสุภาพนั่นเอง แต่มีการแต่งเพิ่มลักษณะบังคับให้วิจิตรพิสดารมากยิ่งขึ้น เช่นบังคับให้มีสัมผัสสระ สัมผัสอักษร คำเป็น คำตาย คำซ้ำ และรูปวรรณยุกต์ เป็นต้น ว่าจะต้องมีอยู่ในตำแหน่งคำใดของกลอน แล้วตั้งชื่อเรียกการกำหนดข้อบังคับนั้นว่าเป็นกลบทชื่ออะไรต่างๆออกไป โดยมากกลอนกลมักจะแต่งเป็นกลอนเก้า เพราะบรรจุคำได้มากกว่า ทั้งจังหวะการอ่านก็เป็น จังหวะละสามพยางค์ การกำหนดข้อบังคับพิเศษขึ้นมาจึงมีจังหวะเสียงที่ลงตัวได้ดีกว่า กลอนกลบทมีมากมายหลายชนิด แต่ในที่นี้จะยกตัวอย่างมาให้เห็นบางชนิด ที่เห็นว่าเป็นศิลปะในการเขียนกลอนชนิดหนึ่ง ที่เราอาจจะนำมาใช้ได้บ้างในบางครั้งหากเห็นว่าจะช่วยทำให้กลอนที่แต่งมีเสียงและจังหวะที่อ่านหรือฟังแล้วไพเราะ
กลอนกลบทที่มีมาแต่โบราณนั้น มีอยู่หลายชนิดชื่อต่าง ๆ กันไป ได้แก่กลบทในชื่อต่อไปนี้
- กลอนกลบทสะบัดสะบิ้ง
- กลอนกลบทตรีประดับ(ตรีเพชร)
- กลอนกลบทธงนำริ้ว
- กลอนกลบทอักษรสังวาส
- กลอนกลบทกินนรเก็บบัว
- กลอนกลบทพยัคฆ์ข้ามห้วย
- กลอนกลบทรักร้อย
- กลอนกลบทจักรวาล(ครอบจักรวาล)
- กลอนกลบทยัติภังค์
- กลอนกลบทอักษรกลอนตาย
- กลอนกลบทกวางเดินดง.... เป็นต้น
ที่มา
http://www.st.ac.th/thaidepart/kolbot.php