ในส่วนของฉันทลักษณ์ อริญชย์ทำได้ดีแล้ว
ผมจะขอพูดเจาะจงที่เนื้อหาของบทกวีโดยมีประเด็นดังนี้
๑ การเรียบเรียงเรื่องราว
๒ การใช้คำ
๓ กวีโวหาร
๑ การเรียบเรียงเรื่องราวความท้าทายประการหนึ่งของโคลงสี่สุภาพ ก็คือ ในการแต่งโคลงหนึ่งบทต้องปิดเรื่องให้ได้
ผู้แต่งโคลงต้องนำเรื่องราวที่รจนาไว้ในบาท๑ ถึง บาท๔ มาผูกโยงให้มีเหตุผลสอดรับกัน
โดยความหมายทั้งหมดในแต่ละบาทจะถูกนำมาขมวดไว้ที่บาท๔
และบาท๔ นี้เองที่เป็นข้อสรุป สร้างความแจ่มกระจ่างแก่ผู้อ่านให้ทราบแก่นคิดหรือสารสำคัญที่นักกวีต้องการประกาศให้รู้
ขออธิบายอย่างรวบรัด ใครที่เคยอ่านโคลงโลกนิติ จะเข้าใจความข้อนี้ได้ไม่ยาก
๏ นาคีมีพิษเพี้ยง สุริโย กล่าวถึง งู
เลื้อยบ่ทำเดโช แช่มช้า บอกลักษณะ
พิษน้อยหยิ่งโยโส แมลงป่อง กล่าวถึง แมงป่อง
ชูแต่หางเองอ้า อวดอ้างฤทธี๚ะ๛ สรุป ไม่ควรเป็นคนโอ้อวด
ด้วยเหตุนี้ จึงอาจเปรียบการแต่งโคลง คือ วิธีพิสูจน์ประพจน์ในวิชาตรรกศาสตร์ก็น่าจะได้
การที่ผู้แต่งขมวดประเด็นไว้ที่บาท๔ จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกไม่คั่งค้าง อ่านแล้วจบในบทโคลงนั่นเอง
ที่นี้เรามาดูกันว่า บทกวีเสียงเพลงถิ่นพงไพร อริญชย์ปิดเรื่องได้หรือไม่
บท๒
เพรงกาลเกวียนเล่มน้อย……คงทน
โคเคลื่อนหมุนนำวน……….หมื่นลี้
บรรทุกสิ่งของคน…………...แทบโก่ง เพลาเฮย
ยังแต่กาลบัดนี้……………...เพื่ออ้างงามสงวน ฯ บาทนี้ อ่านแล้วไม่เข้าใจ ปิดเรื่องไม่ได้
นอกจากนี้ การเรียบร้อยโคลงให้เป็นเรื่องราว จำเป็นต้องอาศัยโครงเรื่อง
เพื่อช่วยให้ผู้แต่งสามารถบรรจุเนื้อหาที่นำเสนอได้ง่ายขึ้น ทำให้เรื่องราวในบทกวีรุกคืบไปข้างหน้าจนจบ
โครงเรื่อง ก็คือ ลำดับเหตุการณ์ซึ่งผู้แต่งกำหนดขึ้นตามจินตนาการของตนว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร
เป็นกรอบความคิดไว้บรรจุเนื้อหาทำให้ท้องเรื่องดำเนินไปได้อย่างราบรื่นตั้งแต่ต้นจนจบ
โครงเรื่องของบทกวีเสียงเพลงถิ่นพงไพรกล่าวถึง ท้องถิ่นสงบสุขแห่งหนึ่ง ณ ลุ่มแม่น้ำโขงในครั้งอดีต
ชายหนุ่มผู้หนึ่ง (มีแต่เสียงแต่ไม่ปรากฏตัวในบทกวี) ขึ้นขับเกวียนบรรทุกสัมภาระ
เดินทางไกลไปหาหญิงสาวคนรักที่พลัดพรากจากกัน
ตลอดเส้นทางที่ผ่านธรรมชาติอันงดงาม
ชายหนุ่มได้บรรเลงพิณและขับลำนำเพื่อคลายความคิดถึงหญิงคนรักของเขา
เมื่อเราจับโครงเรื่องได้แล้ว ก็จะมองเห็นภาพรวมของบทกวีที่อาศัยโคลงสี่สุภาพเพียงห้าบทก็เพียงพอแล้ว
ที่จะถ่ายทอดเนื้อความให้ครบถ้วนบริบูรณ์ตามโครงเรื่องที่วางไว้
ส่วนโคลงตรีพิธพรรณที่ผู้แต่งนำมาแทรกตอนจบนั้น
อยู่นอกโครงเรื่อง จึงสามารถตัดทิ้งได้
โคลงตรีพิธพรรณ ตัดทิ้งได้
แสงเรืองรองส่องฟ้า…………เฉิดฉัน
เสียงไก่ขันตามกาล………….รุ่งแล้ว
เรไรต่างรำพัน………………..ขับกล่อม
เพลงแห่งหวังผ่องแผ้ว………ทุ่งข้าวคือสถาน ฯ
ความเข้าใจในโครงเรื่องนี้ จะช่วยให้ผู้อ่านสามารถวิเคราะห์ได้ว่า
ผู้แต่งควรใช้กวีโวหารเช่นไรจึงจะเหมาะสมกับเรื่องราว
ข้อนี้เป็นประเด็นที่จะกล่าวเป็นหัวข้อสุดท้าย
พรุ่งนี้จบ
เพื่อนนักกลอนที่เห็นต่างออกไป โต้แย้งได้เลยนะครับเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ