ความคิดเห็นที่ 5 วันที่ 21 มิ.ย 2555 , 14:45 น.
จากพจนานุกรมฯปี ๔๒
ดั้น ๑ ก. ฝ่าไป, มุดด้นไป.
ดั้น ๒ น. ชื่อโคลงและร่ายประเภทหนึ่ง เรียกว่า โคลงดั้น และ ร่ายดั้น.
ผมคิดว่า “ดั้น” น่าจะบอกบางอย่าง อย่างนี้ครับ
ถ้าดูความหมายของคำ “ดั้น” ที่ต่อหลังคำ “โคลง, ร่าย” น่าจะบอกได้ถึงการฝ่าไป, มุดด้นไป ตามความหมาย ดั้น ๑ คือพยายามต่อ(แต่ง)ไปให้ได้ แล้วจึงมาเป็นชื่อเฉพาะของคำประพันธ์ตามความหมายดั้น ๒.
แต่เดิมมีโคลงห้าแบบโบราณหรือโคลงห้ามณฑกคติ ตามหลักฐานประวัติวรรณคดีมีเรื่องเดียว คือ ลิลิตโองการแช่งน้ำ(ประกาศแช่งน้ำโคลงห้า) วรรคละห้าคำ แต่เรียงวรรคอย่างกาพย์ เช่น
๏ นานาอเนกน้าวเดิมกัลป์ จักร่ำจักราพาฬเมื่อไหม้
กล่าวถึงตระวันเจ็ดอันพลุ่ง น้ำแล้งไข้ขอดหาย ฯ(หน้า ๑)
(ราชบัณฑิตยสถาน พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย สมัยอยุธยา ลิลิตโองการแช่งน้ำ ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๐, ๑๒๕ หน้า)
โคลงห้าคงไม่ใคร่เป็นที่นิยมจึงกำหนดลักษณะบังคับและเอกโทเพิ่มเติมเป็นโคลงดั้น ซึ่งมีมาแต่ครั้งกรุงศรีฯตอนต้น ปรากฏหลักฐานจากวรรณคดีสำคัญ คือ ลิลิตยวนพ่าย
ด้วยลักษณะสัมผัสและบังคับเอกโทของโคลงดั้นที่ค่อนข้างหาคำลงยาก โดยเฉพาะรูปวรรณยุกต์โท แม้ได้คำที่มีรูปวรรณยุกต์โทแล้ว แต่เสียงอาจไม่ไพเราะหรือความอาจไม่ตรงตามต้องการ จึงต้องพยายามดั้นไปตามลักษณะบังคับของฉันทลักษณ์ให้จบบท
ตัวอย่างโคลงดั้นในลิลิตยวนพ่าย
(ศิลปากร, กรม ลิลิตยวนพ่าย พิมพ์ครั้งที่ ๕ สำนักพิมพ์บรรณาคาร ๒๕๑๔, ๙๓ หน้า)
๏ พรหมพิษณุบรเมศเจ้า จอมเมรุ มาศแฮ
ยำเมศมารุตอร อาศนม้า (ยํ)*
พรุณคนิกุเพนทรา สูรเสพย
เรืองรวีวรจ้า แจ่มจันทรา ฯ(หน้า ๓), (วรฟ้าจ้า, จันทร)*
๏ เอกาทสเทพแส้ง เอาองค์
เปนพระศรสรรเพชญ ที่อ้าง (เป็น)*
พระเสด็จดำรงรักษ ล้ยงโลกย ไส้แฮ
ทุกเทพทุกท้าวไหงว้ ช่วยไชย ฯ(หน้า ๓)
๏ พระมามลายโศกหล้า เหลือศุข
มาตรยกไตรภพฤๅ ร่ำได้
พระมาบรรเทาทุกข ทุกสิ่ง เสบอยแฮ (ทุก)*
ทุกเทศทุกท้าวไท้ นอบเนือง ฯ(หน้า ๔)
เมื่อเทียบคำกับ ประวัติวรรณคดีไทยสำหรับนักศึกษา (เปลื้อง ณ นคร) มีบางคำที่สะกดต่างกันตาม(...)*
จากตัวอย่างพอเห็นได้ว่าทั้งสัมผัสและบังคับโทยังมีเลื่อนไปบ้าง แต่มีลักษณะเป็นโคลงสี่ดั้นบาทกุญชร
“โคลงดั้น” เป็นรูปแบบฉันทลักษณ์โคลงแต่ดั้งเดิม แล้วเปลี่ยนลักษณะบังคับเอกโทให้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่ต้องสัมผัสระหว่างบท ต่อมาจึงเป็นโคลงสี่สุภาพ ได้รับความนิยมมากสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเนื่องมากระทั่งปัจจุบัน
By : พีร์ บีพีเค
-----
ความคิดเห็นที่ 6 วันที่ 21 มิ.ย 2555 , 16:27 น.
ขอบพระคุณแทนท่านผู้ถาม สำหรับความคิดเห็นที่ 1 และ 2 ที่กรุณาตอบ
คำว่า “ดั้น” เป็นชื่อของอะไร และโคลงดั้น ร่ายดั้น มีกี่ชนิด และมีแผนผังการแต่งเป็นอย่างไร ก็ไม่สงสัยหรอก
แต่สงสัยเหมือนกับที่ท่านผู้ตั้งกระทู้สงสัยนั่นแหละ (และยังไม่มีคำตอบ) ว่า ทำไมจึงใช้คำว่า “ดั้น” เป็นชื่อเรียกโคลงและร่ายชนิดนั้น
หรือจะลองตั้งคำถามใหม่ว่า คำว่า “ดั้น” นอกจากเป็นชื่อโคลงและร่ายประเภทหนึ่งแล้ว ยังมีความหมายว่าอะไรได้อีก
จะมีความหมายคล้ายๆ กับคำว่า “มังกรดั้นเมฆ” อะไรประมาณนี้หรือเปล่า
By : ไปไหนมา ฯ
ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน |
23 พฤศจิกายน 2024, 05:21:AM | |||
|
ผู้เขียน | หัวข้อ: ทำไม เรียก ร่าย/โคลง ดั้น (อ่าน 4235 ครั้ง) |
| ||||||||||
Email: