หลังสงกรานต์ อากาศยังร้อน ร้อนมาก ๆ เสียด้วย
ขี้เกียจแต่งกลอนเลยมานั่งบ่น ในบอร์ด (ต้องขออภัย)
วันนี้มีเรื่องบ่น ๒ เรื่อง
๑. การลงเสียงท้ายวรรคของกลอนสุภาพ
ผมเห็นเพื่อน ๆ แต่งกลอนกันหลากหลาย ตั้งแต่กลอนสุภาพ กลอนไม่สุภาพ กลอนปล่อย จนถึงกลอนเปล่า ก็ตามอ่านด้วยความสนใจ ในลีลาอันหลากหลาย มาสะดุดส่วนมากก็คือกลอนสุภาพ ที่ละเลยกันเรื่องเสียงท้ายวรรค ไม่รู้เป็นไง มันหงุดหงิดจนต้องบ่นออกมา
ใครที่เขียนกลอนปล่อย กลอนเปล่า จนถึงกลอนไร้ฉันทลักษณ์ ผมรับได้นะ และเห็นว่าหลายคนแต่งได้ดีมากเสียด้วย โดยไม่ต้องยืนบนฉันทลักษณ์เก่า ๆ ก็แสดงอารมณ์กลอนออกมาได้ดี
แต่คนที่เขียนกลอนสุภาพ ตามบังคับโบราณต่างหากที่ไม่ระมัดระวัง จนทำให้ดูด้อยกว่าคนเขียนกลอนเปล่าเสียอีก (ขออภัย เป็นความเห็นส่วนตัว)
ตามตำราฉันทลักษณ์ และที่ได้รับความรู้จากนักกลอนชั้นครู เสียงท้ายวรรคกลอนสุภาพ (แบบอย่างบรมครูสุนทรภู่) ต้องเคร่งครัด
ท้ายวรรคที่ ๑ (วรรคสดับ) ต้องเลงเสียงเต้น นั่นหมายถึงลงได้ทุกเสียง เว้นเสียงสามัญ (ปัจจุบันอนุโลมเสียงสามัญบ้าง แต่สมัยก่อนอนุญาตใช้แต่ในกลอน ๖ เท่านั้น)
ท้ายวรรคที่ ๒ (วรรครับ) - ดีที่สุดคือเสียงจัตวา รองลงมาคือ เอก-โท ส่วนเสียงตรีและเสียงสามัญนี่ห้าม (บางคนอาจจะแย้งว่าเสียงตรีอนุโลมได้ ผมก็เห็นแต่ท่านอังคารที่เล่นเสียงตรี แต่ของท่านมันไม่ใช่กลอนสุภาพอย่างสุนทรภู่แล้ว...ใครที่ถือตามแบบบรมครูสุนทรภู่จะต้องไม่ใช้เสียงตรีเด็ดขาด!)
ท้ายวรรคที่ ๓ (วรรครอง) - ดีที่สุดคือสามัญ รองลงมาคือตรี ส่วนเสียง เอก,โท,จัตวา นี่ห้ามเลย
ท้ายวรรคที่ ๔ (วรรคส่ง) - ดี่ที่สุดคือสามัญ รองลงมาคือตรี ส่วนเสียง เอก,โท, จัตวา ห้าม (เช่นเดียวกับวรรรอง)
ไม่เช่นนั้นจะไม่เป็นกลอน และครูเพรางายจะไม่กด Like (ฮา)
ครูบาอาจารย์บางท่านระบุเลยว่า เขียนโคลงอย่าโกงเอก-โท เขียนฉันท์อย่าโกงครุ-ลหุ เขียนกาพย์อย่าโกงคำ เขียนกลอนอย่าโกงเสียงท้ายวรรค
นั่นคือเสียงท้ายวรรคจะเป็นตัวชีวัดว่านี้คือกลอนหรือเป็นคำประพันธ์ประเภทอื่น
เรื่องที่ ๒ คือ การผันเสียงวรรณยุกต์ และการใช้ไม้ตรี
ตามที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าพยัญชนะไทยแบ่งเป็น ๓ หมู่ (ไตรยางศ์) คือ
อักษรสูง มี ๑๑ ตัว ได้แก่ ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห
อักษรกลาง มี ๙ ตัว ได้แก่ ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ
อักษรต่ำ มี ๒๔ ตัว ได้แก่ ค ฅ ฆ ง ช ซ ฌ ญ ฑ ฒ ณ ท ธ น พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ฬ ฮ
การผันเสียงวรรณยุก
- อักษรกลาง คำเป็นจะผันได้ครบ ๕ เสียง เช่น กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า (พื้นเสียงเป็นสามัญ) ส่วนคำตาย ได้ ๔ เสียง เช่น กัด กั้ด กั๊ด กั๋ด (พื้นเสียงเป็นเสียงเอก)
- อักษรสูง คำเป็น จะผันได้ ๓ เสียงเท่านั้น (พื้นเสียงเป็นเสียงจัตวา) เช่น ขา ข่า ข้า ส่วนคำตายได้ ๒ เสียงเท่านั้น (พื้นเสียงเป็นเสียงเอก) เช่น ขัด ขั้ด
- อักษรต่ำ คำเป็น จะผันได้ ๓ เสียงเท่านั้น (พื้นเสียงเป็นสามัญ) เช่น คา ค่า ค้า ส่วนคำตายได้ ๒ เสียงเท่านั้น แบ่งเป็น คำตายเสียงยาว เช่น คาบ (เสียงโท) ค้าบ (เสียงตรี) และคำตายเสียงสั้น เช่น คะ (เสียงตรี) ค่ะ (เสียงโท)
จะเห็นว่า
-อักษรสูง และอักษรต่ำ จะใส่ไม้ตรี และ ไม้จัตวา ไม่ได้เลย
-อักษรต่ำ มักมีรูปวรรณยุกต์ต่างกับเสียงวรรณยุกต์
คนไทยปัจจุบันมักเขียนผิดกันเป็นประจำ โดยเฉพาะเสียงตรี เช่น น๊อต ที่ถูกคือ น็อต, คลิ๊ก ที่ถูกคือ คลิก, โน๊ตบุ๊ค ที่ถูกคือ โน้ตบุ๊ค ฯลฯ เพราะละเลยเรื่องไตรยางศ์ไป นึกกันไปว่าเสียงตรีต้องใส่ไม้ตรีกันเสียหมด ทั้งที่ไม่ใช่เช่นนั้น
จึงอยากจะฝากให้เพื่อน ๆ ได้ช่วยกันอนุรักษ์ภาษาไทย ด้วยการใช้วรรณยุกต์อย่างถูกต้องกันนะครับ
กลอนสุภาพพึงผันวรรณยุกต์
ให้สนุกถูกหลักสลักเสลา
ใส่ไม้ตรีถูกเสียงให้เกลี้ยงเกลา
อย่าได้เหมาหมดเกลี้ยงทุกเสียงเซาะ
แม้นหาคำไม่ได้มิใช่บิด
ใช้คำผิดภาษาไม่น่าเหมาะ
เป็นนักกลอนอย่าให้ใครมาเยาะ
ช่วยกันเสาะทางถูกปลูกดีเอย ฯ
กามนิต - ๑๙ เม.ย.๕๕
ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน |
23 พฤศจิกายน 2024, 07:05:AM | |||
|
ผู้เขียน | หัวข้อ: พักยก...ถกกลอน (อ่าน 16827 ครั้ง) |
| ||||||||||
Email: