การขอโทษ และ การให้อภัย
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร
การรู้จักขอโทษนั้นเป็นมารยาทอันดีงามสำหรับตัวผู้ทำเอง และเป็นการช่วยระงับหรือช่วยแก้โทสะ
ของผู้ถูกกระทบกระทั่งให้เรียบร้อยด้วยดีในทางหนึ่ง หรือจะกล่าวว่าการขอโทษคือการพยายามป้องกัน
มิให้มีการผูกเวรกันก็ไม่ผิด
เพราะเมื่อผู้หนึ่งทำผิด อีกผู้หนึ่งเกิดโทสะเพราะถือความผิดนั้นเป็นความล่วงเกินกระทบกระทั่งถึงตน
แม้ไม่อาจแก้โทสะนั้นได้ ความผูกโกรธหรือความผูกเวรก็ย่อมมีขึ้น ถ้าแก้โทสะนั้นได้ก็เท่ากับแก้
ความผูกโกรธหรือผูกเวรได้ เป็นการสร้างอภัยทานขึ้นแทน อภัยทานก็คือการยกโทษให้ คือการไม่ถือ
ความผิดหรือการล่วงเกินกระทบกระทั่งว่าเป็นโทษ
อันอภัยทานนี้เป็นคุณแก่ผู้ให้ยิ่งกว่าแก่ผู้รับเช่นเดียวกับทานทั้งหลายเหมือนกัน
คืออภัยทานหรือการให้อภัยนี้ เมื่อเกิดขึ้นในใจผู้ใด
จะยังจิตใจของผู้นั้นให้ผ่องใสพ้นจากการกลุ้มรุมบดบังของโทสะ
โกรธ แล้วหายโกรธเอง กับโกรธแล้วหายโกรธเพราะให้อภัย ไม่เหมือนกัน
โกรธแล้วหายโกรธเองเป็นเรื่องธรรมดา ทุกสิ่งเมื่อเกิดแล้วต้องดับ
ไม่เป็นการบริหารจิตแต่อย่างใด
แต่โกรธแล้วหายโกรธเพราะคิดให้อภัย เป็นการบริหารจิตโดยตรง
จะเป็นการยกระดับของจิตให้สูงขึ้น ดีขึ้น มีค่าขึ้น
ผู้ดูแลเห็นความสำคัญของจิต จึงควรมีสติทำความเพียรอบรมจิตให้คุ้นเคยต่อการให้อภัยไว้เสมอ
เมื่อเกิดโทสะขึ้นในผู้ใดเพราะการปฏิบัติล้วงล้ำก้ำเกินเพียงใดก็ตาม พยายามมีสติพิจารณาหาทาง
ให้อภัยทานเกิดขึ้นในใจให้ได้ ก่อนที่ความโกรธจะดับไปเสียเองก่อน
ทำได้เช่นนี้จะเป็นคุณแก่ตนเอง มากมายนัก ไม่เพียงแต่จะทำให้มีโทสะลดน้อยลงเท่านั้น และ
เมื่อปล่อยให้ความโกรธดับไปเอง ก็มักหาดับไปหมดสิ้นไม่ เถ้าถ่านคือความผูกโกรธมักจะ
ยังเหลืออยู่ และอาจกระพือความโกรธขึ้นอีกในจิตใจได้ในโอกาสต่อไป
ผู้อบรมจิตให้คุ้นเคยอยู่เสมอกับการให้อภัย แม้จะไม่ได้รับการขอขมา ก็ย่อมอภัยให้ได้
ในทางตรงกันข้าม ผู้ไม่เคยอบรมจิตใจให้คุ้นเคยกับการให้อภัยเลย โกรธแล้วก็ให้หายเอง
แม้ได้รับการขอขมาโทษ ก็อาจจะไม่อภัยให้ได้ เป็นเรื่องของการไม่ฝึกใจให้เคยชิน
อันใจนั้นฝึกได้ ไม่ใช่ฝึกไม่ได้ ฝึกอย่างใดก็จะเป็นอย่างนั้น ฝึกให้ดีก็จะดี ฝึกให้ร้ายก็จะร้าย…
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร
... ღ ♥ .*.♥ ღ ...
ขอขอบคุณป้ายบอกทางค้นหาค่ะ