การนับคำทางฉันทลักษณ์
ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า คำประพันธ์ประเภทที่บังคับครุ-ลหุ นับหนึ่งพยางค์เป็นหนึ่งคำ
ส่วนคำประพันธ์ประเภทที่ไม่บังคับครุ-ลหุ นับหลายพยางค์เป็นหนึ่งคำได้ โดยถือเสียงดังเด่นเป็นสำคัญ เช่น วิทยาลัย อาจนับได้ตั้งแต่ ๑-๔ คำตามแต่ลักษณะการออกเสียง ถ้าออกเสียงเบารวมกลุ่มนับเป็น ๑ คำ ถ้าลงท้ายหนักที่พยางค์ วิทยา-ลัย หรือ วิท-ทยาลัย นับเป็น ๒ คำ ถ้าลงท้ายหนักที่พยางค์ วิท-ทยา-ลัย นับเป็น ๓ คำ ถ้าออกเสียงหนักเสมอกันทุกพยางค์ วิด-ทะ-ยา-ลัย นับเป็น ๔ คำ
การนับคำทางฉันทลักษณ์ถือการออกเสียงเป็นเกณฑ์ เมื่ออ่านคำประพันธ์ ผู้อ่านจึงต้องทราบฉันทลักษณ์คำประพันธ์ชนิดนั้น เพื่อจะได้แบ่งเสียงอ่านได้ครบถ้วนฉันทลักษณ์ ไม่ทำให้จังหวะลีลาของคำประพันธ์บกพร่องไป
จังหวะเสริมและลูกเก็บ
ในโคลงมีจังหวะปลีกย่อยเป็นกรอบอีกชั้นหนึ่ง เป็นกลเม็ดที่กวีแต่ละคนจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ เพื่อให้โคลงมีความไพเราะยิ่งขึ้น จึงมีการเพิ่มลหุเข้าไปในโคลงโดยไม่ให้จังหวะของกรอบเดิมเสียไป
เวลาอ่านจะต้องมีลูกเก็บเหมือนตีระนาด ถ้าตีเทิ่ง ๆ ไปไม่ไพเราะฉันใด การอ่านโคลงมีจังหวะเสริมที่มีลูกเก็บก็ไม่ไพเราะฉันนั้น มิหนำซ้ำอาจคิดไปว่ากวีแต่งโคลงไม่เป็น ตรงกันข้ามคือกวีแต่งโคลงเพราะแล้วแต่คนอ่านไม่เป็นจึงไม่เพราะ ทำให้โคลงเสียไปหมด ดังพระนิพนธ์เจ้าฟ้ากุ้งที่ว่า
๏ อักษรเรียบร้อยถ้อย คำเพราะ
ผู้รู้อ่านสารเสนาะ เรื่อยหรี้
บ่รู้อ่านไม่เหมาะ ตรงเทิ่ง ไปนา
ทำให้โคลงทั้งนี้ ชั่วช้าเสียไป ฯ
๏ อักษรสรรค์สร้างช่าง ชุบจาน
โคลงก็เพราะเสนาะสาร แต่งไว้
ผู้รู้อ่านกลอนการ พาชื่น ใจนา
ผู้บ่รู้อ่านให้ ขัดข้องเสียโคลง ฯ
ท่าน น.ม.ส.ได้ยกตัวอย่างโคลงให้ดู คือ
๏ กรุงเทพมหานครนี้ นามระบิล
อมรรัตนโกสินทร์ ต่อสร้อย
โคลงสองบาทนี้ ถ้าคนอ่านไม่เป็น ก็อ่านเทิ่ง ๆ ว่า กรุง-เทบ-มหา-นคร-นี้ นาม-รบิล อะ-มอน-รัด-โก-สินทร์ ต่อ-สร้อย นี่คืออ่านอย่างไม่มีลูกเก็บ (แถมอาจคิดว่าโคลงนี้ผิดฉันทลักษณ์ไปเสีย) ถ้าอ่านให้ไพเราะควรให้มีลูกเก็บว่า กรุง-เทบพะ-มหา-นะคะระ-นี้ นาม-รบิล อะมอน-รัด-ตะนะ-โก-สินทร์ ต่อสร้อย จึงฟังดูไม่ห้วน (และไม่ผิดฉันทลักษณ์)
แต่มิได้หมายความว่าโคลงทุกบาทต้องอ่านมีลูกเก็บเสียหมด บางบทก็อ่านมีลูกเก็บไม่ได้ เช่น "ข่ายเขตเหตุให้ไห้ เหือดแห้งแรงโหย" เป็นต้น
จังหวะเสริมนี้เป็นเคล็ดอย่างหนึ่งของกวีบางคนที่นิยมกัน เช่น กรมพระปรมานุชิตฯ, น.ม.ส. และกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ตัวอย่าง
๏ พระอนุชาข้าแกล้วกล่าว กลอนถวาย
พยัญชนะคลาสบาทกลายหลาย แห่งพลั้ง
ผิดอรรถะขจัดขจายปลาย สลายสล่ำ
แม้พลาดประมาทประมาณยั้ง โทษะร้ายขจายเสีย
(กรมพระปรมานุชิตฯ)
๏ งามผงาดราชะพ่าหะเพี้ยง พรหมทรง
พระธินั่งศรีสุพรรณหงษ์ รเห็จห้วง
หงษ์ทองล่องลอยลง รองบาท พระฤๅ
กลอนเกริ่นเพลินพายจ้วง พากย์แจ้วจำเรียง
(น.ม.ส., กาพย์เห่เรือ)
๏ หวือวิเวกการะเวกร้อง รงมสวรรค์
เสนาะมิเหมือนเสนาะฉันท์ เสนาะซึ้ง
ประกายฟ้าสุริยาจันทร์ แจร่มโลก
เมฆพยับอับแสงสอึ้ง อร่ามแท้ประพนธ์เฉลย
(กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์, ลิลิตมหามกุฎราชคุณานุสรณ์)
บทสุดท้ายนี้ หากจะลองนับนิ้วดูจะเห็นว่า บาทแรก ๑๑ พยางค์ บาทสอง ๑๐ พยางค์ บาทสาม ๑๐ พยางค์ บาทสุดท้าย ๑๔ พยางค์ รวมแล้ว ๔๕ พยางค์ บางคนอาจจะโวยวายว่าใช้คำเกิน แท้จริงแล้วไม่เกิน ๓๐ คำตามบังคับ แต่เป็นจังหวะเสริม คือแทรกลหุเข้าไป ๑๕ แห่งต่างหาก
พ.ณ.ประมวลมารค ให้ความเห็นไว้ว่า ผู้ที่อ่านจังหวะเสริมไม่เป็นมักติพระนิพนธ์ในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ว่า " สบัดสบิ้ง " บ้าง ว่าไม่ใช่โคลงบ้าง เพราะนับแล้วเกิน ๓๐ คำตามตำรา เรื่องมันไม่มีกวีไหนเขานับนิ้วกัน เขาใช้หูเป็นเครื่องวัดทั้งนั้น แล้วของท่านก็ไม่เห็นมีครุเกินที่ไหนซักแห่งเดียว ท่านเสริมก็เสริมด้วยลหุ ไม่เปลี่ยนกรอบลีลาเดิมเลย
นอกจากนี้ ให้สังเกตว่ากวีเก่าบางท่านประวิสรรชนีไม่เหมือนในพจนานุกรม ที่ท่านจำเป็นต้องทำเช่นนั้นก็เพราะไม่ต้องการให้คนอ่านจังหวะเสริมของท่านผิด
ต่อนี้ไปใครเคยนับนิ้วนับพยางค์ในโคลง ให้เข้าใจเสียใหม่ว่า การนับคำเขาถือเสียงเด่นเป็นสำคัญ ไม่ใช่นับ ๑ พยางค์เป็น ๑ คำ การแทรกจังหวะเสริมด้วยลหุอันเป็นคำเบา ไม่ได้ทำให้กรอบลีลาเดิมของโคลงเสียไปเลย
แต่การนำไปใช้ต้องให้พอเหมาะ เมื่อต้องการให้อ่านเนิบ ๆ ช้า ๆ ก็มักไม่จำเป็นต้องมีลูกเก็บ เช่น บทชมดงในตะเลงพ่าย
๏ อบเชยอบชื่นชี้ เฌอสม ยาฤๅ
อบว่าอรอบรม รื่นเร้า
อบเชยพี่เชยชม กลิ่นอบ เฌอนา
อบอั่งอบองค์เจ้า จักให้เรียมเชยฯ
การรบพุ่ง มีจังหวะดุดัน สง่า เร่งเร้า ว่องไว มีไดนามิก
๏ สองโจมสองจู่จ้วง บำรู
สองขัติยสองขอชู เชอดด้ำ
กระลึงกระหลอกดู ไวว่อง นักนา
ควาญขับคชแข่งค้ำ เข่นเขี้ยวในสนาม ฯ
ส่วนบทเฉลิมพระเกียรติ นึกภาพพราหมณ์ทำพิธีสวดเสียงสูงรัวลิ้น ให้อารมณ์ขรึมขลัง
๏ บุญเจ้าจอมภพพื้น แผ่นสยาม
แสยงพระยศยินขาม ขาดแกล้ว
พระฤทธิดั่งฤทธิราม รอญราพณ์ แลฤๅ
ราญอริราชแผ้ว แผกแพ้ทุกภาย ฯ
==================
ป.ล. ๑ เรียนท่านบุคคลทั่วไป
ขอเรียนว่าไม่ค่อยสบายใจที่ท่านใช้คำว่าแพ้-ชนะ กา-หงส์ ณ ที่นี้ ขออย่าได้คิดไปไกลขนาดนั้นเลย พวกเราต่างก็คนหลงใหลร้อยกรอง มีที่มาต่างกัน ชอบแนวทางต่าง ๆ กันไป ตรงนี้แค่การแสดงความเห็นเพียงบางเสี้ยว แลกเปลี่ยนความรู้กัน ได้ประโยชน์หลายฝ่าย ผมอาจจะผิด หากมีผู้ท้วง ผู้ช่วยแก้ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ผม ท่านก็เช่นกัน ดังนั้นจึงไม่มีใครชนะใคนแพ้ ณ ที่นี้ ขอให้ถือว่าคนที่ทักที่ท้วงคือกัลยาณมิตร อันจะให้คุณแก่มิตรทุกคน หากมีอันใดล่วงเกินท่าน ก็ต้องขออภัยเป็นอย่างสูง หวังว่าคงเข้าใจนะครับ
ป.ล.๒ วันนี้เวลาน้อย ต้องขออภัยที่ได้ได้แจมกลอนกับท่านใดเลย พิมพ์ตกพิมพ์ผิดต้องขออภัย ดึก ๆ หากมีเวลาจะแวะมาอีกครั้งครับ
ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน |
22 พฤศจิกายน 2024, 08:24:PM | |||
|
ผู้เขียน | หัวข้อ: ♥ บั ณ ฑิ ต ฯ . . . ♪♫ . . . ติ ด โ ค ล ง ♥ (อ่าน 45154 ครั้ง) |
| ||||||||||
Email: