ระหว่างรอมือวางระเบิด (คุณดอกรักเร่) มาไขปัญหา กระผมก็ขอร่วมแจมประเด็นย่อย สั้น ๆ ดังนี้นะครับ
เปิดลิลิตตะเลงพ่าย พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส อ่านอีกรอบ ดูแค่โคลงสองสามบทต้น ๆ ก็ตอบได้ตั้งหลายคำถามนะครับ
โคลง ๔
๏ บุญเจ้าจอมภพพื้น แผ่นสยาม
แสยงพระยศยินขาม ขาดแกล้ว
พระฤทธิ์ดังฤทธิ์ราม รอนราพณ์
แลฤๅ ราญอริราชแผ้ว แผกแพ้ทุกภาย ฯ
๏ ไพรินทรนาศเพี้ยง พลมาร
พระดั่งองค์อวตาร แต่กี้
แสนเศิกห่อนหาญราญ รอฤทธิ์ พระฤๅ
ดาลตระดกเดชลี้ ประหลาดเหล้าแหล่งสถาน ฯ
...
๏ จงเจริญชเยศด้วย เดชะ
ชาวอยุธย์อย่าพะ พ่อได้
จงแพ้พินาศพระ วิริยภาพ พ่อนา
ชนะแด่สองท่านไท้ ธิราชเจ้าจอมสยาม ฯ
....
จะเห็นว่า
๑. ไม่มีการห้ามวรรณยุกต์เอกในคำที่ ๖
๒. คำที่ ๗ เป็นไปได้ทั้งเสียงจัตวา, สามัญ และคำตาย
อีกตัวอย่างของการใช้คำตาย
๏ สงครามครานี้หนัก ใจเจ็บ ใจนา
เรียมเร่งแหนงหนาวเหน็บ อกโอ้
ลูกตายฤใครเก็บ ผีฝาก พระเอย
ผีจัดเท้งที่โพล้ ที่เพล้ใครเผา ฯ
(ตะเลงพ่าย)
๓. การใช้คำตายในตำแหน่งคำเอก มีอยู่ทั่วไป มากกว่าคำที่มีรูปวรรณยุกต์เอกด้วยซ้ำ
๔. การใช้คำที่มากกว่า ๑ พยางค์ มีอยู่ทั่วไป แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องนะครับ ว่ากรณีไหนได้ กรณีไหนไม่ได้ (ใครไม่รู้ถามมาจะบอกให้ ถ้าไม่ถามก็จะอุบไต๋ไว้ก่อน ห้าห้าห้า)
ความเห็นเพิ่มเติม
๑. คำว่า สุภาพ ในโคลงสี่สุภาพ หมายถึงว่า คำที่ ๗ ในบาทที่ ๑, คำที่ ๕ ในบาทที่ ๒ และบาทที่ ๓, และคำที่ ๙ ของบาทที่ ๔ ต้องไม่มีรูปวรรณยุกต์ (ไม่ได้หมายถึงว่าห้ามมีวรรณยุกต์ทุกคำที่ไม่บังคับเอกโทอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะจริงๆแล้วมีได้ แต่อย่าให้มากจนรกนัยนา นะจ๊ะ)
เสียงฦาเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับไหล ลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ ฯ
(ลิลิตพระลอ)
๒. ที่คุณ "บุคคลทั่วไป" ว่าคำที่ ๗ ในบาทแรกควรเป็นเสียงสามัญดีที่สุดนั้น ต้องขอเรียนว่า ไม่จริงครับ !
ในลิลิตพระลอ บทที่ถือกันว่าไพเราะที่สุดนั้นลงด้วยเสียงจัตวาครับ
เสียงโหยเสียงไห้มี่ เรือนหลวง
ขุนหมื่นมนตรีปวง ป่วยซ้ำ
เรือนราษฎร์ร่ำตีทรวง ทุกข์ทั่ว กันนา
เมืองจะเย็นเปนน้ำ ย่อมน้ำตาครวญ
และเช่นเดียวกันในลิลิตตะเลงพ่าย ก็ลงด้วยจัตวาครับ
๏ สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง ยามสาย
สายบ่หยุดเสน่ห์หาย ห่างเศร้า
กี่คืนกี่วันวาย วางเทวษ ราแม่
ถวิลทุกขวบค่ำเช้า หยุดได้ฉันใด ฯ
(ไม่ใช่สูตรตายตัว เพียงแต่ยกมาประกอบการพิจารณาเท่านั้น)
๓. แนะนำว่า ควรหาวรรณคดีที่แต่งด้วยโคลงมาอ่านบ้าง เช่น โองการแช่งน้ำ ทวาทศมาส พระลอ ตะเลงพ่าย นิราศนรินทร์ ฯลฯ จะได้ซึมซับรสชาติโคลงที่แท้จริง จะจับเคล็ดแห่งโคลงได้ดีกว่าอ่านโคลงเพี้ยน ๆ ของกามนิต ที่มุ่งเอามันมากกว่าสาระครับ ๕๕๕)
ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน |
23 พฤศจิกายน 2024, 02:12:AM | |||
|
ผู้เขียน | หัวข้อ: ♥ บั ณ ฑิ ต ฯ . . . ♪♫ . . . ติ ด โ ค ล ง ♥ (อ่าน 45199 ครั้ง) |
| ||||||||||
Email: