เกลือ รักษาโรค
เขียนโดย webmaster เมื่อ อ, 05/31/2011 - 18:33
มูลนิธิสุขภาพไทย
ดังที่ได้นำเสนอ เกลือคือสมุนไพร ในฉบับที่ผ่านมา ตามความรู้ในตำรับยาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ที่กล่าวถึงเกลือที่ใช้เป็นยามี 5 ประเภท คือ เกลือสินเธาว์ เกลือพิก เกลือฝ่อ เกลือสมุทรี และเกลือวิก ซึ่งแต่ละชนิดเกิดจากกระบวนการปรุงที่แตกต่างกัน จึงมีสรรพคุณแตกต่างกันไป ถือเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีค่าต่อการนำมาใช้และศึกษาพัฒนาสืบไปอย่างยิ่ง
ก่อนที่จะขยายความรายละเอียดในเกลือแต่ละประเภท ขอให้ผู้อ่านได้ทบทวนวิธีการเตรียมเกลือที่กล่าวไว้ในฉบับที่ผ่านมาด้วย
การปรุงเกลือพิก (ในภาษาปัจจุบันเขียนว่า พริก) ให้เอาเกลือที่เตรียมไว้แล้วมากวนกับน้ำผึ้ง กวนให้แห้งประมาณ 3 วัน เกลือชนิดนี้มีรสขมเผ็ด เหตุนี้เองคนโบราณท่านจึงเรียกชื่อว่าเกลือพิก (พริก) ซึ่งมีสรรพคุณทำให้เสียงดี ชุ่มชื่นในลำคอ
การปรุงเกลือฝ่อ ให้เอาเกลือที่เตรียมไว้มากวนในน้ำนมวัวและน้ำมันงา กวนให้แห้ง ประมาณ 3 วัน เกลือนี้มีรสเค็มมัน โบราณท่านว่าใช้แก้โดยอนุโลมปติโลม แลแก้โรคอันเสียดแทง รู้บำรุงไฟธาตุ แลรู้แก้กุมารพรรดึก ตกมูก ความรู้นี้มีข้อแตกต่างจากตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ที่เป็นหนึ่งในตำราหลักของยาไทย ที่กล่าวไว้ว่า “ให้เอาเกลือที่แบ่งไว้แล้ว 1 ส่วน มาแบ่งทำเป็น 2 ส่วน เอาน้ำมันงาเท่ากับเกลือ 1 ส่วน เอาน้ำมันเปรียงเท่ากับเกลืออีก 1 ส่วน ลงกวนให้ได้สามวันให้แห้ง จึงได้ชื่อว่าเกลือฝ่อ มีรสเค็มมัน สรรพคุณ แก้พรรดึก แก้มูกเลือด บำรุงไฟธาตุ แก้โรคอันเสียดแทง” วิธีการที่ต่างกันนี้ควรศึกษาค้นคว้าต่อไป
การปรุงเกลือสมุทรี ให้เอาเกลือที่เตรียมไว้ลงกวนกับน้ำเยี่ยววัว ให้แห้ง ประมาณ 3 วัน เกลือชนิดนี้มีรสหวาน ทำให้อาหารงวด แก้ระส่ำระสาย บำรุงธาตุ แก้พรรดึก แลดีเดือด โรคบังเกิดแต่ตา ส่วนในแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์กล่าวไว้ มีความแตกต่างกันอีกว่า “เกลือสมุทรีมีรสเค็ม สรรพคุณ บำรุงธาตุทั้ง 4 แก้น้ำดี แก้ท้องมาน แก้โรคตา แก้เสมหะพิการ แก้บิดมูกเลือด บำรุงน้ำเหลือง”
การปรุงเกลือวิก ให้เอาเกลือที่เตรียมไว้ลงกวนกับน้ำสุราให้แห้ง 3 วัน เกลือชนิดนี้ไม่ได้ระบุสรรพคุณไว้ในตำราของกรมหลวงวงษาธิราชสนิท แต่ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์กล่าวไว้ว่า “เกลือวิกมีรสเค็มร้อน สรรพคุณ แก้อภิญญาณธาตุ แก้โรคท้องมาน แก้ไส้พองท้องใหญ่ กระทำให้ชุ่มชื้น”
จะเห็นได้ว่าการจดบันทึกของตำรายาต่าง ๆ ยังมีข้อมูลบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกันหรือมีข้อมูลที่เพิ่มเติมมา ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของแพทย์แผนไทยที่นำไปพัฒนาต่อยอดจากองค์ความรู้เดิม ทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องน่าจะได้ทำการสังคายนาในเรื่องเหล่านี้ เพื่อลูกหลานจะได้นำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ยังมีภูมิปัญญาที่สามารถแบ่งปันให้กับผู้สนใจได้รับทราบเกี่ยวกับการใช้เกลือสมุทรหรือเกลือแกงในการดูแลสุขภาพด้านอื่น ๆ ได้แก่
แก้ตะคริว ใช้เกลือละลายน้ำดื่มแก้ตะคริว บางท่านก่อนจะลงว่ายน้ำถ้าได้ดื่มน้ำเกลือก่อนจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นตะคริวได้
แก้คลื่นไส้ และเมาสุรา ใช้เกลือ 1/2 ช้อนชาต่อน้ำ 1 แก้ว ผสมกันแล้วดื่ม อาการคลื่นไส้จะหายไป แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ใช้เกลือเล็กน้อยละลายน้ำสะอาด 1 แก้ว ดื่มก่อนเข้านอนหรือตื่นนอนตอนเช้าแก้อาการร้อนในกระหายน้ำได้ผลดี
รักษาโรคกระเพาะ ใช้เกลือ 1 ช้อนชา ละลาย น้ำ 1 แก้ว กินทุกเช้าหลังจากตื่นนอน ช่วยรักษาโรคกระเพาะได้ แก้เป็นลม เอาเกลือทะเลละลายกับน้ำร้อน หรือน้ำเย็นดื่มแก้อาการเป็นลม หน้ามืด วิงเวียน ตาลาย เพราะร่างกายอ่อนเพลียได้ผลดี
แก้ถูกยาเบื่อ ใช้เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำอุ่น 1/2 แก้ว ให้รีบกินครั้งเดียวจะอาเจียนออกมา
แก้แผลปากเปื่อย ใส่เกลือบริเวณแผลแล้วอมไว้ ครั้งแรกจะรู้สึกแสบ ครั้งต่อไปแผลจะหาย
แก้เผ็ด (อันนี้ไม่ใช่เอาคืนใครที่มาแกล้งเรา) ถ้ากินอาหารรสเผ็ดจัด ๆ รู้สึกแสบที่ปาก ให้อมเกลือแล้วทิ้งไว้สักครู่ก็จะหาย
ในมุมกลับ อาหารที่มีเกลือผสมอยู่จำนวนมากส่งผลต่อสุขภาพเช่นกัน ในเวลานี้คนไทยหรืออเมริกันป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงจำนวนมาก สาเหตุหนึ่งมาจากรับประทานเกลือมากเกินไป ทำให้มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น เมื่อความดันสูงก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้นตามไปด้วย เราสามารถลดความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงได้โดยการลดการกินเกลือ และอาหารรสเค็มๆทั้งหลาย
เกลือ คือ สมุนไพรใช้รักษาโรคได้ ยามที่ท่านไม่สบาย แต่อาหารที่ท่านกินทุกวัน ต้องระงับใจไม่ติดในรสเค็มมากเกินไป เบาๆกับเครื่องปรุงรสต่างๆ กินก๊วยเตี๋ยวก็อย่าได้เหยาะน้ำปลามากเกินไป กินผลไม้สดๆ ก็เลี่ยงๆการจิ้มพริกเกลือบ้าง ที่สำคัญอาหารสำเร็จรูปและขนมขบเคี้ยวทั้งหลาย มักมีปริมาณเกลือสูงมาก ฉลากอาหารที่ติดในบรรจุภัณฑ์ก็อ่านยาก
หาก อย. เห็นดีเห็นงามปรับปรุงฉลากอาหารแบบที่เมืองนอกเขาริเริ่มทำกันบ้างแล้ว โดยการแปลงค่า เกลือ ไขมัน และน้ำตาล เป็นแบบสัญลักษณ์ไฟจราจร ถ้าฉลากไหนติดสีเขียวแสดงว่าปริมาณผ่านฉลุย ถ้าไฟเหลืองก็พอรับได้ แต่ถ้าฉลากไหนมีค่าเกลือเป็นสีแดง แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นกินแล้วจะได้รับเกลือมากเกินไป
เกลือ คือ สมุนไพร และกินเกลือเหมาะสมช่วยรักษาสุขภาพด้วย
หมายเหตุ : บทความและเนื้อหาของเว็บไซต์นี้ ไม่อนุญาตให้นำไปเผยแพร่เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าhttp://www.thaihof.org/frontherb/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84ปล.ควรอ่านข้อมูลให้ครบก่อนแต่งเป็นกลอน แต่งลงแล้ว คุณอาจได้คะแนนจากเพื่อน ๆ ด้วยนะ สิบอกให้(เอ๊ะ คำรณ หว่างหวังศรี มาเองนะนี่)
ส่วนอริญชย์ขอพักสมองไปพลาง ๆ ก่อนฮะ (อากาศร้อน ร้อนใน ไอค๊อก ๆ)