ขอร่วมแลกเปลี่ยนนะครับ
ผมเห็นด้วยที่ว่ารูปแบบร้อยกรองของเพลงคิดถึงบ้านไม่ใช่กาพย์ฉบังที่ขยายจำนวนคำในวรรค
แต่ก็คิดว่า ไม่น่าเป็นกลอนแปดหรือสัมผัสแบบเนื้อเพลง
ขอลองแบ่งวรรคเพลงนี้ใหม่อีกครั้งนะครับ
คิดถึงบ้าน
๑ เดือนเพ็ญแสงเย็นเห็นอร่าม นภาแจ่มนวลดูงาม
เย็นยิ่งหนอยาม เมื่อลมพัดมา
๒ แสงจันทร์นวลชวนใจข้า คิดถึงถิ่นที่จากมา
คิดถึงท้องนา บ้านเรือนที่เคยเนา
๓ กองไฟสุมควายตามคอก คงยังไม่มอดดับดอก
จันทร์เอยช่วยบอก ให้ลมช่วยเป่า
๔ โหมไฟให้แรงเข้า พัดไล่ความเยือกเย็นหนาว
ให้พี่น้องเรา นอนหลับอุ่นสบาย
๕ เรไรร้องฟังดังว่า เสียงเจ้าที่เฝ้าคอยหา
ลมเอ๋ยช่วยมา กระซิบข้างกาย
๖ ข้ายังคอยอยู่มิหน่าย มิเลือนเคลื่อนคลาย
คิดถึงมิวาย ที่เราจากมา
๗ ลมเอยจงเป็นสื่อให้ นำรักจากห้วงดวงใจ
ของข้านี้ไป บอกเขานะนา
๘ ให้คนไทยรู้ว่า ไม่นานลูกที่จากมา
จะไปซบหน้า ในอกแม่เอย. ถ้าแบ่งวรรคอย่างนี้ จะได้กลอนแปดบทพอดี
วรรคหนึ่ง วรรคสองบังคับหกคำ
ส่วนวรรคสามและวรรคสุดท้ายกำหนดให้มีสี่คำ
000000 000000
0000 0000คำท้ายวรรคหนึ่งถึงวรรคสามกำหนดสัมผัสสระเดียวกันทั้งหมด
เดือนเพ็ญแสงเย็นเห็นอร่าม นภาแจ่มนวลดูงาม
เย็นยิ่งหนอยาม เมื่อลมพัดมา คำท้ายวรรคสี่นั้น ใช้ส่งสัมผัสโดยสามารถเลือกส่งสัมผัสได้สองตำแหน่ง คือ
ตำแหน่งแรก ส่งสัมผัสไปคำที่หกของวรรคแรกในบทถัดไป
เดือนเพ็ญแสงเย็นเห็นอร่าม นภาแจ่มนวลดูงาม
เย็นยิ่งหนอยาม เมื่อลมพัดมา
แสงจันทร์นวลชวนใจข้า คิดถึงถิ่นที่จากมา
คิดถึงท้องนา บ้านเรือนที่เคยเนา ตำแหน่งที่สอง ส่งสัมผัสไปคำที่สี่ของวรรคสุดท้ายในบทถัดไป
แสงจันทร์นวลชวนใจข้า คิดถึงถิ่นที่จากมา
คิดถึงท้องนา บ้านเรือนที่เคยเนา
กองไฟสุมควายตามคอก คงยังไม่มอดดับดอก
จันทร์เอยช่วยบอก ให้ลมช่วยเป่า ส่วนจะเลือกส่งสัมผัสไปที่วรรคไหนนั้น เป็นอิสระของผู้ประพันธ์เพลงครับ (ฮา)
กลอนบท ๘ วรรคแรกที่ว่า
ให้คนไทยรู้ว่า ตามรูปแบบร้อยกรองที่กล่าวแล้ว ก็ควรมีหกคำ
แต่ที่มีห้าคำนั้นเป็นการลดจำนวนคำในวรรคเพื่อให้เข้ากับทำนองเพลงนั่นเอง
จะให้ตอบว่า เป็นฉันทลักษณ์อะไรนั้น
ต้องเปิดกรุค้นดูก่อนครับ
ถ้าจะเดา คิดว่า น่าจะเป็นรูปแบบเพลงพื้นบ้านไทยชนิดหนึ่ง