ส. เสือหรือชื่อ "สุนทรโกศล"*
ส. เสือล้นกรงขังนั่งจ้องหน้า
กลบทบังคับจับเสือมา
ทิ้งศาลาฤาษีคงที่ไว้
ศ. ศาลาว้าเหว่เอียงเซทรุด
จึงรีบรุดตามหลังหวังชิดใกล้
เกิด "วิมลวาที"* มีทันใด
บังคับใช้ให้พอ ศ.ศาลา
ษ.ฤาษีมีใจอยากไปด้วย
เพื่อจะช่วยผูกกลมนต์ภาษา
"อธิบดีอักษร"* กลอนรจนา
สาม ส.ร่าเริงใจได้เคียงกัน
ส. เสือ ศ.ศาลา ษ.ฤาษี
กลบทนี้มีเห็นเป็นแม่นมั่น
"ศิริวิบุลกิตติ์" นิจนิรันดร์
ตำราการประพันธ์บรมครู
ส.ศ.ษ.นั้นคือชื่อกลบท
มี ส.เสือทั้งหมดกฎเห็นอยู่
ไม่ปะปน ศ.ศาลาพิจารณาดู
ษ.ฤาษีก็ไม่คู่อยู่ข้างเคียง
(*กลบทสุนทรโกศล บังคับใช้ ส.เสือในทุกวรรค ยกเว้น ศ.และ ษ.)
สำหรับ ศ.ศาลามาอีกอย่าง
มี ศ.วางขาด ส.เสือเพื่อหลบเลี่ยง
พร้อม ษ.ฤาษีหนีไกลไม่มองเมียง
จึงมีเพียง ศ.ศาลาที่หน้าบรรณ
(*กลบทวิมลวาที บังคับใช้ ศ.ศาลาในทุกวรรค ยกเว้น ษ.และ ส.)
ส่วน ษ.ฤาษีปลีกตนบนวิเวก
เป็นตัวเอกไร้ ส.เสือเพื่อเพ่งขันธ์
ศ.ศาลาไม่มีอีกเช่นกัน
กลบทนั้นสามกลบน(กระ)ทู้นี้
(*กลบทอธิบดีอักษร บังคับใช้ ษ.ฤาษีในทุกวรรค ยกเว้น ส.และ ศ.)
"กานต์ฑิตา"
๔ ธันวาคม ๒๕๕๔