๐สวรรค์ไพร-สวรรค์พัง๐
วสันตดิลกฉันท์ ๑๔
๐เดินชมพนาศิขรเขิน สุขเกินประโลมใจ
แสงทองรวี ระดะไสว นภใสลุพฤกษา
๐บุปผาก็งามรุจิระพร่าง และกระจ่างสกาวตา
มองแล้วก็ชื่นมนอุรา ขณะมา ณ พงไพร
๐เมื่อคืนผวา ผะ ผะ ผะ ผี กะจะหนีก็หาใช่
เห็นเป็นกระสือระยะมิไกล ระอุไฟและดวงตา
๐คล้ายลอยและทำแสยะสยอง กิระปองจะมองมา
แต่เรานิสัยปะฉะดะท้า ระยะวา วะเมียเรา!
๐หน้าเธอก็แก่กระแหนะกระแหน และมิแพ้กระสือเจ้า
แตกฉานวจีและจะฉะเอา ขณะเหล้าก็เชี่ยวชาญ
๐เที่ยวยืมและลืมกะจะมิจ่าย ก็สบายมิได้นาน
สุดท้ายก็เราพิริยะงาน ทรมานหทัยมาก
๐เราจึงผละหนีปะเหมาะเคราะห์ดี จรลี ณ อีกฟาก
เสียงเป็ดและไก่กะกะกะต้าก! ดุจว้าก!มิหยุดนิ่ง
๐นกเขาพนาระยะกระชั้น จะประชันก็ช่วงชิง
พลันปืนนราปะทุลุยิง วนพริ้งเพราะพังครืน! ฯ
อริญชย์
ปรับปรุงแก้ไข ๑๘/๑๑/๒๕๕๔ ขอบคุณข้อมูลเบื้องต้นจาก
http://www.klonthaiclub.com/index.php?topic=16298.msg134408#msg134408 และ
ขอขอบคุณคำแนะแนวทางจากนักปราชญ์นักกวีทั้งสองท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วยนะฮะ (เกรงจะมิต้องการให้เปิดเผยชือ จึงไม่ได้ลงชื่อไว้นะฮะ)พร้อมทั้งการสืบหาข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://www.pasasiam.com/home/index.php/general/pasatha-poet/236-2008-09-16-11-29-34วสันตดิลกฉันท์๑๔
เขียนโดย ภาษาสยาม
วันอังคารที่ 16 กันยายน 2008 เวลา 18:09 น.
วสันตดิลกฉันท์ ๑๔
มีความหมายเรียกกันว่า ฉันท์สายฝน เป็นฉันท์ที่มีลีลางดงามที่สุด
ประดุจความงามของน้ำฝนในวสันตฤดู มีความไพเราะเหมาะสำหรับแต่งเรื่องพรรณนา ชมเชย
ให้ผู้ฟังรู้สึกไพเราะซาบซึ้งกินใจ
คณะและพยางค์ บทหนึ่งมี ๒ บาท ๔ วรรค วรรคที่ ๑ มี ๘ คำ
วรรคที่ ๒ มี ๖ คำ วรรคที่ ๓ มี ๘ คำ วรรคที่ ๔ มี ๖ คำ ๑ บทมี ๒๘ คำ
สัมผัส มีสัมผัสในบท ๒ แห่ง คือ
๑. คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ สัมผัสกับคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒
๒. คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓
สัมผัสระหว่างบท คือ คำสุดท้ายของบท สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ของบทต่อไป
คำครุ ลหุ บทหนึ่งมีคำครุทั้งหมด ๑๔ คำ คำลหุ ๑๔ คำ
วรรคที่ ๑ และวรรคที่ ๓ มีคำครุ ๔ คำ คำลหุ ๔ คำ คื่อ คำที่ ๑ ๒ ๔ ๘
เป็นคำครุ คำที่ ๓ ๕ ๖ ๗ เป็นคำลหุ
วรรคที่ ๒ และวรรคที่ ๔ เป็นครุ ๓ คำ คำลหุ ๓ คำ คำที่ ๑ ๒ ๔ เป็นคำครุ
คำที่ ๓ ๕ ๖ เป็นคำลหุ
แผนผัง
ตัวอย่าง
อำพนพระมนทิรพระราช สุนิวาสน์วโรฬาร์
อัพภันตรไพจิตรและพา- หิรภาคก็พึงชม
เล่ห์เลื่อนชะลอดุสิตฐา น มหาพิมานรมย์
มารังสฤษฎ์พิศนิยม ผิจะเทียบก็เทียมทัน
( สามัคคีเภทคำฉันท์ ชิต บุรทัต )
ที่มา หนังสือการแต่งคำประพันธ์ ประยอม ซองทอง