๐บทไหว้ครู “นายขนมต้ม”๐
อินทรวิเชียรฉันท์
๐ท่านครูขนมต้ม กิติข่มพม่าหมอง
เชิงมวยมิเป็นรอง ปะทะเดือดดุเชือดเฉือน
๐สิบมวยพม่าร้าย มุทลายมิเอ่ยเตือน
ล้อมแจกขนมเถื่อน ทะลุหมายขนมต้ม
๐แต่ครูก็หาญสุด วรยุทธเทพชม
ห้ำหั่นประจัญคม ผิวมอญทะลวงมา
๐"ตาเถรค้ำฝัก จระเข้ประลองท่า
พร้อมดับชวาลา และอิเหนาลุปลายคาง" (ดูชื่อท่าแม้ไม้มวยไทยข้างล่างประกอบ)
๐สิบมวยพม่าหม่น มนจนมิรู้ทาง
สู้ต่อสิวายวาง ตละนางจะตรอมตรม
๐สิบมวยพม่ายอม ศิระค้อมขนมต้ม
จารึกพม่าชม วรยุทธเกรียงไกร!ฯ
อริญชย์
๗/๑๑/๒๕๕๔
*เห็นนักกวีแต่งฉันท์กันหลายคน เลยลองฉันท์อินทรเชียรดู เพราะดูแล้วคล้ายกาพย์ยานี ๑๑
ต้องการแต่งยกย่อง “นายขนมต้ม” แต่หากใช้คำผิด ขอผู้รู้ติติง แนะนำด้วยจ้ะ
ขอบคุณทุกท่าน
ใช้ตัวหนังสือสีแดง หมายถึงชาติ เลือดรักชาติ (ไม่เกี่ยวกับการเมืองไทยเน้อ) http://www.oknation.net/blog/nun2504/2010/10/10/entry-5ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
แม่ไม้มวยไทย หมายถึง ท่าของการผสมผสานการใช้หมัด เท้า เข่า ศอก เพื่อการรุกหรือรับในการต่อสู้ด้วยมวยไทย การจะใช้ศิลปะไม้มวยไทยได้อย่างชำนาญ จะต้องผ่านการฝึกเบื้องต้นในการใช้หมัด เท้า เข่า ศอก แต่ละอย่างให้คล่องแคล่วก่อน จากนั้นจึงจะหัดใช้ผสมผสานกันไปทั้งหมัด เท้า เข่า ศอกและศิลปะการหลบหลีก ซึ่งขึ้นอยู่กับครูมวยที่จะคิดดัดแปลงพลิกแพลงเพื่อนำไปใช้ให้ได้ผลแล้วตั้งขื่อท่ามวยนั้นๆ ตามลักษณะท่าทางให้จดจำได้ง่าย เมื่อมีท่ามวยมากขึ้นจึงจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ หรือตั้งชื่อให้เรียกขานคล้องจองกันเพื่อลูกศิษย์จะได้ท่องจำและไม่ลืมง่าย ในอดีตมวยไทยไม่ได้ใส่นวมจะชกกันด้วยมือเปล่า หรือใช้ผ้าดิบพันมือจึงสามารถใช้มือจับคู่ต่อสู้เพื่อทุ่ม หัก หรือบิดได้ นักมวยจึงใช้ชั้นเชิงในการต่อสู้มากกว่าการใช้พละกำลังจึงเกิดท่ามวยมากมาย ต่อมามีการกำหนดให้นักมวยไทยใส่นวมในขณะขึ้นชกแข่งขันเช่นเดียวกับมวยสากล และมีการออกกฎกติกาต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่นักมวย และง่ายต่อการตัดสินท่ามวยที่มีมาแต่อดีตบางท่าจึงไม่สามารถนำมาใช้ในการแข่งขันได้ ถือว่าผิดกติกา และบางท่านักมวยก็ไม่สามารถใช้ได้ถนัดเนื่องจากมีเครื่องป้องกันร่างกายมาก ท่ามวยบางท่าจึงถูกลืมเลือนไปในที่สุด
โบราณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิได้แบ่งประเภทของไม้มวยไทยไว้ต่างกัน ขึ้นอยู่กับครูมวยแต่ละท่าน แม้บางท่าจะมีชื่อเรียกต่างกันก็ตาม ไม้มวยไทยที่มีการกล่าวถึงในตำรามวยหลายตำรา และแบ่งลักษณะไว้ชัดเจน คือแบ่งตามลักษณะการแก้ทางมวยและการจู่โจม เรียกชื่อว่า กลมวย แบ่งตามลักษณะการใช้ หมัด เท้า เข่า ศอก เรียกว่าเชิงมวย บางตำราแบ่งเป็นแม่ไม้ลูกไม้ หรือแบ่งเป็นไม้ครู ไม้เกร็ด ซึ่งไม้ครูหมายถึงไม้สำคัญเป็นไม้หลักที่ครูมวยเน้นให้ลูกศิษย์ทุกคนต้องทำให้ได้ ทำให้ดี และทำให้ชำนาญ เพราะเมื่อรู้และชำนาญเรื่องไม้ครูแล้ว จะสามารถแตกไม้ครูแต่ละแบบออกเป็นไม้เกร็ดอีกมากมาย
แม่ไม้มวยไทย
แม่ไม้มวยไทย หมายถึงท่าของการใช้ศิลปะมวยไทยที่สำคัญที่สุด อันเป็นพื้นฐานของการใช้ไม้มวยไทย ซึ่งผู้ฝึกมวยไทยจะต้องเรียนรู้และปฏิบัติให้ได้ก่อนที่จะฝึกลูกไม้ซึ่งถือ ว่าเป็นการใช้ไม้มวยไทยที่ละเอียดขึ้น
โบราณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิได้จัดแบ่งแม่ไม้มวยไทยเป็น 15 ไม้ ดังนี้
แม่ไม้ 15 ไม้
1. สลับฟันปลา
2. ปักษาแหวกรัง
3. ชวาซัดหอก
4. อิเหนาแทงกริช
5. ยอเขาพระสุเมรุ
6. ตาเถรค้ำฝัก
7. มอญยันหลัก
8. ปักลูกทอย
9. จระเข้ฟาดหาง
10. หักงวงไอยรา
11. นาคาบิดหาง
12. วิรุฬหกกลับ
13. ดับชวาลา
14. ขุนยักษ์จับลิง
15. หักคอเอราวัณ
ข้อมูลจาก muaythai-institute