คำพูดจา ปราศรัย มีนัยแฝง
มักเคลือบแคลง วิญญา ดุจหาเหา
มาใส่หัว ตัวตน คนหูเบา
ให้เกิดเศร้า โศกสลด อดสูใจ
หรือบางที มีท่า ยังพาโกรธ
แรงพิโรธ เริงฤทธิ์ คิดไฉน
แก่ทุกผู้ ผ่านตา ไม่ว่าใคร
เปรียบเหมือนไฟ ไหม้ทั่ว ทุกตัวตน
พาจิตใจ ร้อนรุ่ม เพลิงสุมอก
ดังนรก เหลิงลุ อกุศล
ไหม้มลาย สลายรู้ กับผู้คน
ล้วนเป็นผล แห่งอัตตา ถ้าคิดดู
คำไม่เพราะ พูดยังไง คงไม่เพราะ
แม้หยอดเหยาะ ใส่สาร ให้หวานหู
แต่ผู้ฟัง นั่งอ่าน พาลนึกรู้
เป็นตัวกู ของกู อยู่ร่ำไป
ตีความเหมา เข้าตน ผลเลยส่ง
เป็นความหลง เข้าใจผิด คิดไปได้
เหมือนเขาว่า ตัวเรา ตามเข้าใจ
ยึดเหนี่ยวไว้ เป็นอัตตา ถ้อยวาที
น้อมเข้ามา หาตัว เลยมัวหม่น
จิตใจคน เหมือนกัน ไม่ผันหนี
ย่อมน้อมมา ในตัว ทั้งชั่ว,ดี
เป็นแบบนี้ ทุกส่วน ถ้วนโลกา
ที่บางคน หม่นเศร้า เอามาเขียน
เรื่องบทเรียน ความหลัง ครั้งโหยหา
บ้างฉ่ำหวาน บ้างเจ็บ เหน็บอุรา
บ้างต่อว่า ต่อขาน พูดผลาญใจ
ผู้ได้ผ่าน อ่านเห็น ไม่เว้นนึก
ต่างรู้สึก เหมือนว่า เขาปราศรัย
กับตัวเรา เข้าแล้ว หรืออย่างไร
บ้างสดใส บ้างหม่น ตามกลกลอน
คำแสลง แคลงใจ ถ้าใช้บ่อย
กลอนจะกร่อย ด้อยค่า ใช่ว่าสอน
ซึ่งเอ่ยซ้ำ ย้ำถาม แม่งามงอน
ฉันกับหล่อน รู้จักกัน นั้นหรือไร
ถ้ารู้จัก มักจี่ เคยมีเรื่อง
ให้ขุ่นเคือง ข้องขัด อัชฌาศัย
จึงแต่งกลอน ข้อนขอด พลอดออกไป
แต่ถ้าไม่ ไยเล่า เจ้าถึงทำ
ใช่คิดหา ท้าสู้ ด้วยผู้หญิง
ให้เกรงกริ่ง สิ่งห้าม แม่งามขำ
กลัวเป็นข่าว ฉาวโฉ่ โอ้เวรกรรม
ต้องชอกช้ำ ถูกด่า น่าอับอาย