แท้จริงแล้ว ฤดูวสันต์ ไม่ใช่ ฤดูฝน หากแต่เป็น ฤดูใบไม้ผลิ
ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน
23 พฤศจิกายน 2024, 07:46:PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

กด Link เพื่อร่วมกิจกรรม ผ่านFacebook (หรือกดปุ่มสมัครสมาชิกด้านบน)
 
ผู้เขียน หัวข้อ: แท้จริงแล้ว ฤดูวสันต์ ไม่ใช่ ฤดูฝน หากแต่เป็น ฤดูใบไม้ผลิ  (อ่าน 4107 ครั้ง)
กามนิต
Special Class LV5
นักกลอนแห่งเมืองหลวง

*****

คะแนนกลอนของผู้นี้ 408
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 366


ฉันเห็นไฟในสายตาเธอ


« เมื่อ: 06 กันยายน 2011, 08:52:AM »

คำเรียกชื่อฤดูต่าง ๆ

          ราชบัณฑิตยสถานมักจะได้รับคำถามเกี่ยวกับการนำคำเรียกชื่อฤดูต่าง ๆ ในภาษาบาลีสันสกฤตมาเทียบใช้แทนคำเรียกชื่อฤดูต่าง ๆ ในประเทศไทยอยู่เสมอ โดยเฉพาะ ฤดูวสันต์ ว่า คือ ฤดูฝน ใช่หรือไม่

          แท้จริงแล้ว ฤดูวสันต์ ไม่ใช่ ฤดูฝน หากแต่เป็น ฤดูใบไม้ผลิ คำ "วสันต์" มาจากภาษาบาลีสันสกฤตว่า "วสนฺต" หมายถึง ฤดูใบไม้ผลิ

          การแบ่งฤดูกาลในประเทศอินเดียมีความแตกต่างจากการแบ่งฤดูกาลในประเทศไทย เนื่องจากลักษณะภูมิอากาศไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ ในประเทศอินเดียเองยังมีการแบ่งฤดูที่แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่และลักษณะภูมิอากาศอีกด้วย

          คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา (บาลี) กล่าวถึงฤดูในประเทศอินเดียว่า มีการแบ่ง ๒ แบบ

          แบบแรกเป็นการแบ่งฤดูตามลักษณะภูมิอากาศของประเทศอินเดียทางภาคตะวันออกและภาคใต้ คือ แบ่งออกเป็น ๓ ฤดู ฤดูละ ๔ เดือน ได้แก่ ๑. เหมนฺต (เหมันต์) = ฤดูหนาว   ๒. คิมฺหาน (คิมหันต์) = ฤดูร้อน   ๓. วสฺสาน (วัสสานะ) = ฤดูฝน 

          ส่วนแบบที่ ๒ เป็นการแบ่งฤดูตามลักษณะภูมิอากาศของประเทศอินเดียทางภาคเหนือ คือ แบ่งออกเป็น ๖ ฤดู ฤดูละ ๒ เดือน ได้แก่ ๑. เหมนฺต (เหมันต์) = ฤดูหนาว   ๒. สิสิร (สิสิระ) = ฤดูหมอกหรือน้ำค้าง   ๓. วสนฺต (วสันต์) = ฤดูใบไม้ผลิ   ๔. คิมฺหาน (คิมหันต์) = ฤดูร้อน   ๕. วสฺสาน (วัสสานะ) = ฤดูฝน   ๖. สรท (สารท) = ฤดูใบไม้ร่วง

          สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนนั้น พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้อธิบายการแบ่งฤดูกาลในประเทศไทยไว้ว่า แบ่งตามลักษณะภูมิอากาศออกได้เป็น ๓ ฤดู ฤดูละประมาณ ๔ เดือน ได้แก่ ๑. ฤดูหนาว (กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์*)  ๒. ฤดูร้อน (กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม)  ๓. ฤดูฝน (กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม)

          จะเห็นได้ว่าการแบ่งฤดูกาลในประเทศไทยนั้นคล้ายคลึงกับการแบ่งฤดูกาลในประเทศอินเดียภาคตะวันออกและภาคใต้ซึ่งอยู่ในเขตมรสุม คือ มี ๓ ฤดู ดังนั้น หากจะนำคำเรียกชื่อฤดูในภาษาบาลีสันสกฤตมาเทียบใช้แทนคำเรียกชื่อฤดูในภาษาไทย ก็สามารถเทียบใช้ได้ดังนี้

                    เหมันต์      =      ฤดูหนาว
                    คิมหันต์     =      ฤดูร้อน
                    วัสสานะ    =       ฤดูฝน



ผู้เขียน : นางสาวชลธิชา  สุดมุข
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๕๖, มกราคม ๒๕๓๙
(เว็บไซต์ ราชบัณฑิตยสภา)

หมายเหตุ (*) ในต้นฉบับเดิมเป็น เดือนพฤศจิกายน พิเคราะห์ดูแล้วน่าจะผิดพลาด จึงปรับแก้เป็น เดือนกุมภาพันธ์ - กามนิต

ขอบพระคุณ ที่กรุณาเยี่ยมชมนะจ๊ะ :

สะเลเต, รพีกาญจน์, พี.พูนสุข, ยามพระอาทิตย์อัสดง, สายใย, เมฆา..., ระนาดเอก, บ้านริมโขง, ช่วงนี้ไม่ว่าง, คนเผาถ่าน, ไม่รู้ใจ

ข้อความนี้ มี 11 สมาชิก มาชื่นชม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 กุมภาพันธ์ 2012, 03:21:PM โดย กามนิต » บันทึกการเข้า

ความรักแท้จริงมีสีดำดังศอพระศิวะ

Email:
Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF
s s s s s