http://www.youtube.com/watch?v=_y7ugea_h7w#noexternalembed&feature=related
http://www.youtube.com/watch?v=8j1OD9N6Ghg#noexternalembed&feature=related
http://www.youtube.com/watch?v=gaehrV9vfQg#noexternalembed&feature=related
"
พล.ต.พิทยา กระจ่างวงษ์ ผู้บัญชาการศูนย์การบินทหารบก (ศบบ.) แถลงเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เกี่ยวกับขั้นตอนการใช้อากาศยาน และสาเหตุการตกของเฮลิคอปเตอร์กองทัพบกจำนวน 3 ลำ ได้แก่ ฮิวอี้ แบล๊กฮอว์ก และเบลล์ 212 บริเวณป่าลึกในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จนเป็นเหตุให้มีทหารและช่างภาพทีวีช่อง 5 เสียชีวิตจำนวน 17 นาย
..อุบัติเหตุในครั้งนี้เป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของกองทัพบก (ทบ.) และศูนย์การบินทหารบกจำนวน 17 คน ที่เสียชีวิต ซึ่งองค์ประกอบของอุบัติเหตุคือ คน วัสดุอุปกรณ์ และสภาพแวดล้อม ซึ่งนักบินของ ทบ.เป็นไปตามมาตรฐานสากล มีโรงเรียนการบินทหารบกที่ก่อตั้งมาปี 2510 ผลิตนักบินมากกว่า 2 พันนาย 55 รุ่น
ผมเชื่อว่านักบินร้อยละ 70 ที่ปฏิบัติงานทั่วประเทศจบจากโรงเรียนการบินทั้งสิ้น ขณะที่นักบินบางส่วนไปศึกษากับบริษัทที่ทบ. จัดซื้อเครื่องบินมา สำหรับหลักสูตรการบิน เป็นไปตามมาตรฐานกองทัพบกสหรัฐ ซึ่งในหนึ่งปีจะมีการบินอากาศยานจริง 200 ชั่วโมง และบินอากาศยานจำลอง (ไฟต์ซิมมูลเลเตอร์) 20 ชั่วโมง มีความทันสมัยที่สุดในประเทศ เป็นระบบที่สามารถเคลื่อนไหวและจำลองการบินได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าสภาพอากาศแบบไหน ภูมิประเทศแบบไหน
ส่วนช่างซ่อมอากาศยานก็เป็นมาตรฐานสากลทางทหาร นักบินทั้ง 6 นายที่เสียชีวิตถือว่าเป็นนักบินที่มีความรู้ความสามารถทุกคน นักบินที่ 1 ต้องมีชั่วโมงการบินเฉลี่ย 1,500-3,000 ชั่วโมง และคนที่มีชั่วโมงการบินสูงสุดคือ พ.ต.ประพันธ์ เจียมสูงเนิน นักบินที่ 1 ของ ฮ.แบล๊กฮอว์ก มี 2,900 ชั่วโมง ส่วนนักบินที่ 2 จะมีชั่วโมงการบินเฉลี่ย 600-1,500 ชั่วโมง เรายังมีการพัฒนาบุคลากร ฝึกบินทบทวนตามวงรอบการฝึกประจำปีของแต่ละหน่วย โดยบินจากอากาศยานจริงและจำลอง
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบมาตรฐานการบิน 2 ปีต่อครั้งตามวงรอบ 6 เดือนจะมีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการของ ทบ. สอบทั้งภาควิชาการและภาคการบิน ทั้งนี้ ต้องผ่านร้อยละ 80
วัสดุอุปกรณ์คือ ลำตัวเฮลิคอปเตอร์ ฮท.1 (ฮิวอี้) ที่ประสบอุบัติเหตุ เป็นเครื่องบินมือ 2 ผ่านการซ่อมจากโรงงานมาแล้วเปรียบเสมือนใหม่ เข้าประจำการปี 2547 โดยซื้อจากกองทัพสหรัฐ ที่เริ่มทยอยปลดประจำการตามโครงการช่วยเหลือของประเทศต่างๆ สำหรับ ฮ.แบล๊กฮอว์ก เป็นเครื่องใหม่ที่มาประจำการเมื่อปี 2545 ส่วน ฮ.เบลล์ 212 เข้าประจำการปี 2535 มีระบบการซ่อมบำรุงอากาศยานที่ทำอย่างปลอดภัยที่สุด และซ่อมตามระยะเวลาโดยเฉพาะชิ้นส่วนหลักๆ ที่สำคัญต้องเปลี่ยนตามระยะเวลาที่กำหนด ยืนยันว่าระบบการซ่อมเป็นไปตามมาตรฐานของกองทัพบกสหรัฐ
ระบบการซ่อมบำรุงของ ทบ.มี 3 ขั้นคือ 1.ระดับหน่วยที่ใช้อากาศยาน เป็นการซ่อมตามระยะเวลาและไม่ตามระยะเวลา โดยมีการเก็บประวัติของชิ้นส่วนของอะไหล่เมื่อหมดสภาพก็จะเปลี่ยนอะไหล่ 2.การซ่อมขั้นสนาม ถือเป็นความรับผิดชอบของหน่วยที่ใช้อากาศยานคือ กองพันขนส่งซ่อมบำรุง กองบินทหารบก กรมการขนส่งทหารบก ขั้นนี้มีความยุ่งยากต้องใช้เครื่องมือและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ และ 3.การซ่อมแบบขั้นคลัง หรือขั้นโรงงานปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว แต่ใช้การจ้างตรงกับบริษัท ส่วนใหญ่เป็นบริษัทผู้ผลิต
ฮิวอี้
ในก่อนปฏิบัติการบินแต่ละครั้ง ช่างของหน่วยจะตรวจทุกวันและบันทึกไว้เป็นหลักฐาน หลังจากนั้นนักบินจะมาตรวจสอบอีกครั้งก่อนทำการบิน ซึ่งเมื่อทำการบินแล้วก็จะกลับมาตรวจหลังการบินอีกครั้งโดยช่างประจำอากาศยาน นอกจากนี้ยังมีการตรวจพิเศษ จะเกิดขึ้นหลังการตรวจพบว่ามีชิ้นส่วนที่จะก่อให้เกิดอันตราย และจะแจ้งไปยังหน่วยต่างๆ ที่มีเครื่องบินชนิดเดียวกันให้ทำการตรวจพิเศษกับชิ้นส่วนนั้นๆ สำหรับเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงก็เป็นไปตามมาตรฐาน โดยพื้นฐานจบหลักสูตรช่างซ่อมอากาศยานของโรงเรียนการบินทหารบก ทั้งนี้ ยังมีระบบการตรวจสอบการบริหารทรัพยากรการบินประจำปี ปีละครั้งซึ่งประกอบด้วยคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อุปกรณ์ สถานที่ นักบิน ช่าง ภาคพื้น สนามการบิน หอบังคับการบิน พร้อมที่จะใช้งานหรือไม่
สำหรับสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ 2 รายแรกคือ ฮ.ฮิวอี้ และแบล๊กฮอว์ก ในวันเกิดเหตุสภาพอากาศไม่เอื้อต่อการบิน ไม่ว่าจะเป็นเมฆ หมอก ฝน ลม สภาพภูมิประเทศเป็นป่าเขา มีลมแปรปรวน มีลมตีขึ้นตีลม ลมเฉือน ลมกระโชก สาเหตุของการอุบัติเหตุทั้ง 3 ครั้ง ซึ่งมีภารกิจต่างกัน ดังนี้
กรณี ฮ.ฮิวอี้ เป็นภารกิจสนับสนุนของกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรป่าไม้ ในการดูแลรักษาป่า ขณะที่เกิดเหตุนักบินพยายามนำ ฮ.ร่อนลงที่ฐานจอด ฮ.ชั่วคราว แต่เนื่องจากอากาศมีลักษณะปิดๆ เปิดๆ มีเมฆไหลมาและก็ผ่านไป จึงมีกลุ่มเมฆเคลื่อนตัวมาปกคลุมบริเวณที่วางตัว ฮ.ทำให้นักบินไม่เห็นพื้นที่ลงจอด และยกเครื่องขึ้นใหม่โดยไม่เห็นข้างหน้าจึงเกิดอุบัติเหตุชนภูเขาอย่างแรง
กรณีแบล๊กฮอว์ก เป็นภารกิจสนับสนุน พล.ต.ตะวัน เรืองศรี ผบ.พล.ร.9 ในการที่จะอำนวยการปฏิบัติภารกิจรับศพผู้เสียชีวิต ในขณะที่นำ ฮ.บินตรวจภูมิประเทศ สภาพอากาศไม่เอื้อต่อการบิน ทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าว
กรณีเบลล์ 212 เป็นภารกิจโดยบินจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) เพื่อไปรับภารกิจรับศพจากแก่งกระจานไป จ.กาญจนบุรี ซึ่งผมได้ลงไปในพื้นที่เกิดเหตุ เห็นลูกน้องของตัวเองถูกไฟไหม้ รู้สึกสลดหดหู่ เสียใจ โดยสาเหตุที่เกิดคาดว่าขณะที่บินเครื่องมีลักษณะอาการไม่ตอบรับ ในการที่จะบังคับหาง โดยเครื่องไม่ได้ดับแต่อย่างใด ประเด็นสำคัญคือระบบใบพัดหาง (tail Rotor) ทำงานบกพร่อง จึงเกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม ต้องรอคณะกรรมสอบสวนตรวจหาสาเหตุทั้ง 3 กรณีอีกครั้ง
ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และนักบิน หรือคนที่ประสบเหตุเองก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดอุบัติเหตุ โดยก่อนทำการบินเรามีขั้นตอนการตรวจอากาศยานที่ชัดเจนอยู่แล้ว และเขาคงตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ เหมือนกับการขับรถ ถ้ารู้ว่ามีอะไรผิดปกติก็คงไม่ขับ โดยเฉพาะเครื่องบินเพราะเป็นอันตรายที่รุนแรงและถึงแก่ชีวิต คงไม่มีใครกล้าที่จะนำเครื่องที่ไม่สมบูรณ์ไปการบิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และผมเอง รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ผมก็ยังมั่นใจว่าผู้ใต้บังคับบัญชาในส่วนของ นักบิน และช่าง อาจจะขวัญตกลงบ้างแต่เชื่อมั่นว่าทุกคนพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจต่อไป
เบลล์ 212
@ ฮ.แบล๊กฮอว์กตกด้วยสาเหตุใด
เกิดจากนักบินหลงสภาพ เพราะสภาพการมองเห็นด้วยสายตาร้อยละ 80 และอีกร้อยละ 20 เกิดจากระบบสภาพเครื่อง ถ้าไม่มีสิ่งเปรียบเทียบกับพื้นที่ โอกาสที่จะหลงสภาพเป็นไปได้สูง ซึ่งจากการดูสภาพของเครื่องไม่น่าจะเกิดการชนภูเขา
@ ระบบใบพัดหาง tail Rotor ของ ฮ.เบลล์ 212 มีปัญหา
ต้องหาสาเหตุขั้นต้นก่อนว่าเกิดจากอะไร ถ้าเกิดจาก tail Rotor แน่วิธีที่ถูกคือต้องนำเครื่องไปลงที่สนามบิน แต่ในขณะนั้นเหตุการณ์เป็นเสี้ยววินาที เขาคงคิดว่าไม่เป็นอะไรจึงหาที่ลงในพื้นที่ปลอดภัยใกล้ๆ รวมทั้งเป็นเหตุการณ์กะทันหันและเครื่องลดระดับลงมา
@ ต้องใช้เวลาในการสอบสวนหาสาเหตุ รวมถึงเครื่องที่พักการบินจะนำมาปฏิบัติการได้เมื่อใด
ตามระเบียบต้องภายใน 30 วัน ถ้าสามารถทำได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จะยืดเวลาออกไปอีก โดยคณะกรรมการจะขออนุมัติยืดเวลา อย่างไรก็ตาม พักการบินครั้งนี้เป็นไปตามระเบียบ หลังจากเกิดอุบัติเหตุซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากวัสดุก็จะงดใช้งานเฉพาะแบบนั้นๆ สมมุติกรณีที่เกี่ยวกับ tail Rotor จริงก็จะแจ้งไป ยังหน่วยบินที่มีเครื่องชนิดนี้ใช้ และตรวจอย่างละเอียด ถ้าไม่พบสิ่งปกติก็สามารถปฏิบัติต่อไปได้ ซึ่งฮิวอี้ และ ฮ.แบล๊กฮอว์ก เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวน ส่วน ฮ.เบลล์ 212 สรุปขั้นต้นว่าเกิดจากระบบ tail Rotor จึงต้องงดทำการบิน แต่คงไม่นาน เพราะได้แจ้งกับเจ้ากรมขนส่งทหารบก เพื่อแจ้งไปยังหน่วยต่างๆ ให้ตรวจสอบ tail Rotor ทั้งระบบถ้าไม่พบสิ่งปกติก็สามารถบินได้เลยคิดว่า 1-2 วันก็น่าจะทำการบินได้
@ คณะกรรมการตรวจสอบอุบัติเหตุต้องแยกออกเป็น 3 ชุดหรือไม่เพราะเฮลิคอปเตอร์ตก 3 เครื่อง 3 รุ่น
คณะกรรมการตรวจสอบมีวงรอบแต่งตั้ง 6 เดือนครั้ง และมีกรรมการ 2 ชุดคือ ชุดสอบสวนอุบัติเหตุทางธุรการ และทางเทคนิค อย่างไรก็ตาม tail Rotor ของเครื่องที่ประสบอุบัติเหตุทั้งหมดยังอยู่ครบ ไม่ถูกไฟไหม้สามารถตรวจสอบได้ว่าเกิดจากอะไร
@ ภารกิจของกองทัพยังคงปฏิบัติต่อไปหรือไม่ในสภาพอากาศแปรปรวน
ถ้าในนามของหน่วยการบินได้เสนอแนะไปยัง พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 ว่าในการเปิดยุทธการอะไรน่าจะต้องคำนึงถึงสภาพอากาศด้วย เพราะไม่ได้มีผลต่อศูนย์การบินเท่านั้น แต่หน่วยภาคพื้นก็ปฏิบัติงานยากลำบาก
@ อากาศยานทั้งหมดสามารถรองรับให้ผู้บังคับบัญชาได้หรือไม่
ในเรื่องความมั่นใจขึ้นอยู่กับว่าถ้าเรารักษามาตรฐานความปลอดภัยไว้ได้ ความมั่นใจก็ต้องใช้เวลา แต่เชื่อว่าความรู้สึกของผู้โดยสารทุกคนไม่ค่อยสบายใจในการใช้งาน แต่ผมเชื่อว่าถ้ารักษามาตรฐานเรื่องความปลอดภัยได้เรื่อยๆ ความเชื่อมั่นก็จะกลับคืนมา ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาของ ทบ. แทบไม่มีอุบัติเหตุใหญ่ พอมีก็มี 3 เหตุการณ์ติดต่อกันทำให้คนขาดความเชื่อมั่นไปมาก
@ อุบัติเหตุทั้ง 3 ครั้งส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานหรือไม่
มีบ้างแต่ไม่มาก เพราะอากาศยานกับจำนวนนักบินยังเหลืออยู่มาก แต่อาจทำให้อากาศยานที่ใช้ได้ลดลงไป ส่วน ฮ.เบลล์ ที่ยังเหลือหมุนเวียนใช้อยู่ในกองทัพบกเหลือเพียง 20 ลำ
@ ภารกิจของนักบิน มีผลต่อการตัดสินใจในการบินหรือไม่
อาจมีผลบ้าง แต่ไม่ใช่เหตุผลหลัก แต่ทหารบางครั้งความมุ่งมั่นในการปฏิบัติภารกิจก็มี ถ้ายิ่งเห็นผู้บังคับบัญชามุ่งมั่น เราก็เต็มที่ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่คิดว่าเป็นอาถรรพ์ แต่จะมีการจัดทำบุญใหญ่เพื่อความสบายใจ เพราะกำลังพลบางคนก็มีความเชื่อ
รศ.ดร.ปองวิทย์ ศิริโพธิ์
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ตามหลักของการบินสาเหตุที่สามารถทำให้เครื่องบินตกมี 3 กรณีดังนี้ 1.เกิดเหตุก่อวินาศกรรม 2.ความผิดพลาดของมนุษย์ 3.สภาวะอากาศซับซ้อน ซึ่งกรณีของเฮลิคอปเตอร์ รุ่นฮิวอี้ และเฮลิคอปเตอร์รุ่นแบล๊กฮอว์กตก เข้าใจได้ว่าเป็นเพราะสภาวะอากาศซับซ้อนฉับพลัน เฮลิคอปเตอร์แบล๊กฮอว์กแม้จะมีศักยภาพสูง แต่หากเจอสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงก็ไม่สามารถต้านทานได้ ผมเชื่อว่านักบินรู้ดีว่ามีสภาพอากาศแปรปรวน แต่คงไม่คาดคิดว่าจะรุนแรงมากเกินความสามารถของเฮลิคอปเตอร์แบล๊กฮอว์ก ดังนั้น ความผิดพลาดของมนุษย์จึงมีส่วนด้วย
ส่วนเฮลิคอปเตอร์รุ่นเบลล์ 212 ต้องหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แต่การจะนำอากาศยานไปใช้แต่ละครั้ง ต้องตรวจสอบประวัติการบินก่อนใช้งาน ว่าเครื่องที่จะใช้งานเคยมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นส่วนใดบ้าง เพื่อความรัดกุมก่อนขึ้นบิน อย่างไรก็ตาม การเกิดเหตุในเวลาไล่เลี่ยกัน เราต้องหาข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราไม่เคยเจอ จึงต้องดูแลอุปกรณ์การใช้งานต่างๆ ให้พร้อมอยู่เสมอ ไม่ควรปล่อยปละละเลย ซึ่งผมเชื่อว่ากองทัพควรดูแล บางทีเฮลิคอปเตอร์เก่าก็จริงแต่ควรมีมาตรการดูแล ซึ่งเชื่อว่ากองทัพมีมาตรฐานในการดูแล แต่อาจมีบางจุดที่เราละเลยไป
อีกทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวนฉับพลันเริ่มเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ฉะนั้นเราควรศึกษาให้ดี บางครั้งเราต้องสอนกันใหม่ ฝึกกันใหม่ ว่าเมื่อสภาพอากาศแปรปรวนควรแก้ไขปัญหาอย่างไร นักบินควรปฏิบัติอย่างไร เกิดการณ์ที่เกิดขึ้นเราควรบรรจุดในตำราเรียน เพื่อใช้เป็นตัวอย่างประกอบในการสอนนักบินรุ่นต่อไป
...........
ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับ 26 ก.ค.2554
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1311651258&grpid=01&catid=02