อย่างที่รู้กันว่า "ร้อยกรอง" ตามความหมายเดิมหมายถึง "กาพย์" "กลอน" "โคลง" "ฉันท์" "ร่าย" ส่วนข้อความธรรมดาจะเรียก "ร้อยแก้ว"
แต่ปัจจุบัน มีศัพท์ฮิตคือคำว่า "กวีนิพนธ์" ซึ่งครอบคลุม "กวีนิพนธ์ร้อยกรอง" และ "กวีนิพนธ์ร้อยแก้ว" ซึ่งแบบหลังนี้ คณะกรรมการซีไรต์เรียกว่า "ร้อยกรองอิสระ" แต่คำที่ติดหูคนทั่วไปมากที่สุดคือ "กลอนเปล่า" และ "บทกวีไร้ฉันทลักษณ์" ทั้งนี้จะเรียกอะไรก็สุดแท้แต่กวีเถิด
หากจะลำดับคำประพันธ์ชนิดที่มีระเบียบกระทบใจ จากเก่าสู่ใหม่จะเป็น "กาพย์" --> "กลอน" --> "กานท์" --> "ร้อยกรอง" --> "บทกวี" --> "กวีนิพนธ์" ... ในอนาคตไม่รู้จะเรียกอะไร ก็แล้วแต่คนในอนาคตเถิด
เข้าเรื่องเลยดีกว่า... บ้านกลอนไทย นี้ส่วนใหญ่จะแต่ง "ร้อยกรอง" ตามคตินิยมเดิม มีเพียงส่วนน้อยที่แต่ง "ร้อยกรองอิสระ" ซึ่งมักจะเรียกว่า "กลอนเปล่า" แต่ก็เห็นหลายคนยังรักษาจำนวนวรรคและสัมผัสแบบ "กลอนสุภาพ" อยู่
ส่วนผมนิยมความอิสระทั้ง จำนวนวรรค จำนวนคำ และสัมผัส นับว่าเป็นส่วนน้อยในบ้านกลอนนี้จริง ๆ ไม่รู้จะก่อความรำคาญแก่พี่น้องในนี้บ้างหรือเปล่า ถ้ามี ก็ต้องขออภัยเป็นอย่างสูงนะครับ
เลยอยากทราบว่า พี่น้องในนี้นิยมร้อยกรองชนิดใด? แสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ครับ
ต้นก้ามปู
23/5/54