จารึกเรื่องฉันท์วรรณพฤติ แผ่นที่ ๔ (วิชชุมมาลาฉันท์)
ปัจจุบันอยู่ที่ เสาพระระเบียงพระอุโบสถชั้นใน วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ฉันท์วรรณพฤติ เป็นตำราแต่งฉันท์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ทรงอาราธนากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ตั้งแต่ครั้งยังเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรสให้ทรงนิพนธ์ เมื่อ ปีขาล จุลศักราช ๑๒๐๔ (พ.ศ. ๒๓๘๕) พร้อมกับตำราฉันท์มาตราพฤติ เพื่อจารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ คัมภีร์วุตโตทัยมีการแบ่งฉันท์ออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ ฉันท์ประเภทบังคับพยางค์ เรียกว่า “วรรณพฤติ” และฉันท์ประเภทบังคับมาตรา เรียกว่า “มาตราพฤติ” แต่ละประเภทมีการแบ่งย่อยเป็นหลายชนิด ตามลักษณะบังคับของคณะฉันท์ สำหรับฉันท์วรรณพฤติในคัมภีร์วุตโตทัยมี ๘๑ ชนิด ตั้งแต่บาทละ ๖ พยางค์จนถึงบาทละ ๒๕ พยางค์ กวีได้มีการนำมาจัดวรรคและเพิ่มสัมผัสเป็นฉันท์ไทย
เนื้อหาโดยสังเขป แสดงลักษณะบังคับของ “วิชชุมมาลาฉันท์” (ฉันท์ ๘) กล่าวคือ บทหนึ่งมี ๔ บาท บาทละ ๘ พยางค์ แบ่งเป็น ๒ วรรค วรรคละ ๔ พยางค์ ประกอบด้วย มะ คณะ ๒ คณะ และ ครุลอย ๒ ตัว มีการส่งสัมผัสแบบกลอนและเพิ่มสัมผัสระหว่างวรรคในบาทที่ ๑ กับบาทที่ ๓ สำหรับตัวอย่างฉันท์มีเนื้อหาว่าด้วย “โทษเสพสุรา ๖ ประการ” สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓)
ภาพประกอบ ภาพถ่ายจารึกจาก : โครงการพัฒนาฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สำรวจเมื่อ ๒๑ - ๒๒ กรกฏาคม ๒๕๕๐