"แด่..ศิษย์มีครูทุกท่านครับ?"
๐
๐ เส้นทางกลอนอ่อนถ้อยปล่อยใจเขียน
สร้างคำเนียนเพียรแต่งใจแจ้งอยู่
สรรหาคำล้ำลึกตรึกตรองดู
เนื้อหาหรูสู่ใจผู้ใคร่ชม
๐ รักษ์ในศิลป์จินตนาตั้งหน้าสื่อ
จิตใสซื่อบริสุทธิ์รุจ..คารม(งามสม)
ลืมศึกษาเสียงศิลป์ถิ่นนิยม
แต่งระดมปิดใจ..ไกลอาจารย์
๐ ฝากฝีมือสื่อเพี้ยนเขียนเผยแพร่
ก็รังแต่ใครพบสบถ้อยกานท์ (สาร)
พิศที่ไรใครตรองต้องรำคาญ
นำลูกหลานตามอย่าง..ทางลงคลอง
๐ บรรพชนคนเก่าผู้เฒ่าแก่
ท่านคิดค้นดีแท้..และน่าลอง(แก่เราผอง)
ช่วยกันสืบศิลป์ไทยให้เรืองรอง
อนุชนควรตรอง..สนองตาม
๐ เริ่มง่ายง่ายใส่ใจใฝ่เรียนรู้
ค้นคว้าดูครูศิลป์..จินต์งดงาม (ถิ่นสยาม)
เรียนรู้ผังทางกลอนสะท้อนความ
หลีกข้อห้ามของเสียง..เลี่ยงแหกทาง
๐ ผิดครั้งแรกเป็นครูสู่ความเก่ง
ผิดแล้วเพ่งเร่งคิดพิศความต่าง
ฝึกบ่อยบ่อยถ้อยหม่นพ้นเลือนลาง
ใครอ่านพลางจับจิต..ศิษย์มีครู..
ระนาดเอก
ปล.คำเตือน ถ้าคุณลงเสียงสามัญท้ายวรรค ๒ เมื่อไหร่..สำนวนคุณก็จะพังไปทั้งบทนะครับ..
..การกำหนดเรื่องเสียงนี้..
..ถือว่าเป็นข้อบังคับ ทางฉันทลักษณ์ อย่างหนึ่ง ของกลอนแปด หรือกลอนสุภาพ อันมีข้อกำหนด ดังต่อไปนี้..
๑. คำสุดท้ายวรรคที่ ๑ (วรรคสดับ) ใช้ได้ทุกเสียง แต่ไม่ค่อยนิยมใช้เสียงสามัญ
๒. คำสุดท้ายวรรคที่ ๒ (วรรครับ) ต้องใช้เสียงเอก โท หรือจัตวา นิยมใช้เสียงจัตวา ห้ามใช้เสียงสามัญและตรี
(บางท่านก็อนุโลมให้ใช้เสียงตรีได้แต่ไม่นิยม)
๓. คำสุดท้ายวรรคที่ ๓ (วรรครอง) ต้องใช้เสียงสามัญ หรือเสียงตรี ที่นิยมที่สุดคือเสียงสามัญ ห้ามใช้เสียง เอก โท และจัตวา
๔. คำสุดท้ายวรรคที่ ๔ (วรรคส่ง) ต้องใช้เสียงสามัญหรือตรี ที่นิยมมากที่สุดคือเสียงสามัญ ห้ามใช้เสียงเอก โท และจัตวา..