~"ระวัง.."คำสัมผัสเลือน" และ "คำชิงสัมผัส"นะจ๊ะ..น้องรัก?"~
๐
๐ นั่งเขียนกลอนอ่อนหวานขับขานรัก
แบบแทบควักหัวใจมาใส่เขียน
หวังอนงค์หลงคำ..พร่ำจนเนียน
เสร็จวนเวียนอ่านซ้ำขำตัวเอง
๐ เขียนถึงเธอหลักร้อยคล้อยพันบท
ระดมพจน์ปรากฎในบทเก่ง
(คำว่า"พจน์" กับ"กฎ" คือ"สัมผัสเลือน"นะครับ)
ร้อยบรรเลงเพลงฝันขั้นครื้นเครง
(คำว่า"เลง" กับ "เพลง" มาก่อนคำว่า"เครง" คือ"ชิงสัมผัส"นะครับ)
อย่างไม่เกรงคนอ่านนั้นเป็นครู
๐ เฝ้าจีบสาวอาจารย์งานอักษร
เห็นพธูชอบกลอนอ้อนจนอยู่
(คำว่า"พธู" มาก่อนคำว่า"อยู่" คือ"ชิงสัมผัส"นะครับ)
ไม่รู้ตัวมัวสานกานท์พร่างพรู
(คำว่า"รู้"มาก่อนคำว่า"พรู"คือ"ชิงสัมผัส"นะครับ)
จนโฉมตรูเห็นไส้ในงานเรา
๐ ใส่อารมณ์ลืมใส่ใจภาษา
ลืมคุณค่าฉันทลักษณ์หลักจึงเศร้า
กฎข้อห้ามละเลยเหวยใจเบา
คิดว่า เขาและเราเล่าชอบกัน
(คำว่า"เขา" กับ "เรา" คือ"สัมผัสเลือน"นะครับ)
๐ ชิงสัมผัสใส่เกลื่อนเหมือนงานเด็ก
ชินเขียนมาแต่เล็กเด็กยังขัน
สัมผัสเลือนโลเลเร่ใส่ยัน
เธอรู้ทันลดขั้นผลงานกลอน
(คำว่า"ทัน" กับ "ขั้น" คือ"สัมผัสเลือน"นะครับ)
๐ นั่งสร้างฝันสรรคำน้ำตาลอ้อย
สาวอ่านพลอยอึดอัดวัตรอักษร
เจอะหนุ่มใหม่ใส่เสน่ห์เก๋สุนทร
ใจอาจอ่อนหากป้อน..กลอนถูกใจ..
(คำว่า"อ่อน" กับ "ป้อน" คือ"สัมผัสเลือน"นะครับ)
ระนาดเอก
..ปล.จำง่ายๆนะครับว่า..
๑.คำ"สัมผัสเลือน"นั้นหมายถึง ตามฉันทลักษณ์นั้น ครูบาอาจารย์ ท่านให้รับสัมผัสบังคับไว้แค่เพียง"ตำแหน่งเดียว"..
..แต่ผู้แต่ง ไปเพิ่มคำรับสัมผัสมากว่า ๑ ตำแหน่ง(ผมอยากให้เรียกว่า"โลเล"ก็ได้) ส่งผลให้กลอนในวรรคนั้นจะไม่กระชับ..
..และ..คำสัมผัสเลือน จะเกิดขึ้นในวรรค ๒ - ๔ ของบทเท่านั้นนะครับ..
๒.คำ"ชิงสัมผัส"นั้นหมายถึง คำหรือสระที่เป็นรูปเดียวกัน ที่เรานำมาใช้ ก่อนที่จะถึงเสียงที่รับสัมผัสจริงน่ะครับ..
..การใช้คำเหล่านี้..จึงควรหลีกเลี่ยง..เพราะถือว่าเป็นข้อห้าม ข้อหนึ่งของทางกลอนแปดครับ..
.
..จากใจจริง..
..พี่ระนาดเอกครับ..