พิมพ์หน้านี้ - คำฉันท์ (1)

ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน

จิปาถะ => เรื่องทั่วไป => ข้อความที่เริ่มโดย: toshare ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2014, 01:13:PM



หัวข้อ: คำฉันท์ (1)
เริ่มหัวข้อโดย: toshare ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2014, 01:13:PM
ที่มา: http://www.siamrath.co.th (http://www.siamrath.co.th)
(ขออนุญาตแต่งแต้มสีครับ - share)

ทุกวันนี้เราต้องยอมรับว่า คงมีคนที่มีความสุขกับการอ่าน “คำฉันท์” ไม่มากนัก

ร้อยกรองประเภทฉันท์ ชาวสยามรับมาจากคำประพันธ์ของอินเดีย มีการพัฒนาให้ไพเราะเหมาะกับรสนิยมของชาวสยาม ฉันท์มีวิวัฒนาการตั้งแต่ไม่เคร่งครัดคำ ครุ ลหุ นักในสมัยกรุงศรีอยุธยา
จนมาเคร่งครัดคำ ครุ ลหุ มากจนเกินไปในสมัยกลางยุครัตนโกสินทร์ ทำให้คำฉันท์หยุดนิ่งในกรอบตายตัว เสื่อมความนิยมลงไป อย่างไรก็ตาม มหากวียุคใกล้ก็ยังได้สร้างวรรณคดีคำฉันท์ไว้เป็นอมตะ
คือเรื่อง “สามัคคีเภทคำฉันท์” ของ ชิต บุรทัต เป็นต้น
กวีร่วมสมัยที่มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูการแต่งฉันท์คือ “คมทวน คันธนู” บทกวีคำฉันท์ของเขามีอิทธิพลต่อกวีรุ่นใหม่มาก ปัจจุบันกับยังมีกวีรุ่นใหม่ๆ ที่แต่งกวีด้วยคำฉันท์ได้ “ถึง” ทั้งรสและสาระ
เช่น “สกุณี  ทักษิณา” ผู้มีผลงานตีพิมพ์ใน “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” เป็นประจำ

ในทางวิชาการ การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ “ฉันท์” ก็ยังไม่ขาดหายไป
ผลงานที่ดีเด่นของ ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร เรื่อง “วัณณะมาลี ทฤษฎีใหม่เรื่องการแต่งฉันท์ของล้านนา” เป็นพยานในเรื่องนี้

คำฉันท์ในศิลาจารึกเก่าแก่ที่พบในไทย ขอยกตัวอย่าง “จารึกหลักที่ ๕๖” พบที่เนินสระบัว (บริเวณเมืองพระรถ) ต.โคกปีบ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ท่านพุทธสิริ แต่งด้วยวสันตดิลกฉันท์
จารึกด้วยภาษาอินเดียใต้ เมื่อ พ.ศ. 1304 ความว่า

๐ โย สพฺพโลกหิโต                กรุณาธิวาโส
โมกฺขํ  กโร  นิรมลํ                 วรปุณฺณจนฺโท
เญยฺโย ทโม นวิกุลํ                 สกลํ วิพุทฺโธ
โลกุตฺตโร นมตถิ ตํ                 สิรสา มุเนนฺทํ ฯ

จารึกวิหารหลวง วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.สุโขทัย ภาษีบาลี จารึกในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ ก็ใช้ฉันทลักษณ์ “วสันตดิลกฉันท์”

“ฉันท์ เป็นคำประพันธ์ประเภทหนึ่งของไทยที่รับอิทธิพลมาจากอินเดีย คำว่า ฉันท์ มีรากศัพท์มาจากธาตุ ฉท , ฉันท ในภาษาสันสกฤต ซึ่งแปลว่า ปรากฏมีลักษณะเป็นที่น่าพอใจ น่าพึงใจ
ส่วนในภาษาบาลีคำว่า ฉันท , ฉันโท มีความหมายสองอย่าง คือ แปลว่า ความปรารถนา ความตั้งใจ และคัมภีร์พระเวท หรือลักษณะคำประพันธ์

ต้นกำเนิดของฉันท์นั้น เกิดขึ้นในสมัยพระเวทเมื่อราวสี่พันปีที่แล้ว ซึ่งถ้อยคำในคัมภีร์ฤคเวทเป็นคำประพันธ์ประเภทฉันท์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือฉันท์ที่มีจำนวนคำไม่เกิน 50 พยางค์
และฉันท์ที่มีพยางค์ 50 – 106 พยางค์ โดยฉันท์ที่นิยมแต่งมี 8 ชนิด คือ คายตรี อนุษฏุก ตริษฏุก ชคตี พฤหตี ปังกตี วิราฏ อุษณิก

ลักษณะฉันท์ในสมัยพระเวทไม่เคร่งครัดครุ ลหุ มากนัก นอกจากบังคับเรื่องจำนวนคำในแต่ละบท  จนกระทั่งอีกสองพันปีซึ่งอยู่ในสมัยมหากาพย์ ฉันท์ที่เรียกว่า “โศลก” ได้พัฒนารูปแบบขึ้นมาใหม่
โดยมี บาทที่ 1 เหมือนกับบาทที่ 3 และบาทที่ 2 เหมือนกับบาทที่ 4
โศลกบทแรกเกิดขึ้นโดยฤาษีวาลมีกิรำพึงถึงนกกะเรียนที่ถูกพรานยิงตาย.....

หลังสมัยมหากาพย์ รูปแบบฉันท์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏในคัมภีร์ฉันท์วุตโตทยะ  และฉันท์โทมัญชรี ซึ่งมีฉันท์จำนวน 311 ชนิดด้วยกัน”
(“วัณณะมาลี ทฤษฎีใหม่เรื่องการแต่งฉันท์ของล้านนา” โดย ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร หน้า 1-2)

กวีอยุธยาพัฒนารูปแบบฉันท์อินเดียมาเป็นแบบไทย ซึ่งคงประยุกต์มาจากคัมภีร์วุตโตทัย ดังปรากฏในจินดามณีของพระโหราธิบดี รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ประเภทฉันท์สมัยอยุธยานั้น อ่านค่อนข้างยาก นอกจากคำบาลีแล้ว ยังมีคำศัพท์แขมร์เป็นจำนวนมาก
อย่างเช่นตอนบรรยายช้างป่าว่า

๐ ทุยทำพำลาพาหล             สิงคาลคนชน
กันโลมระลมสังไก
พลุกแบงบังกินจรรไร            ทมพลุกทิพาไศรย
กำพษกำโบลโยนยัศ
ประพลุกสุครีพแลคัด            ธรณีบังบัด
ทั้งนาคพันธ์พินาย
ลันดาษยุรยักษ์บรรลาย         ซุกซอนพรัยพราย
บิเดาะกันเอาะพลุกหนี ฯ

คุณสุธีร์ พุ่มกุมาร ที่ปรึกษาสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “คู่มือเรียนเขียนกลอน” ร่วมกับคุณยุทธ โตอติเทพย์ อดีตนายกสมาคมนักกลอนฯ เธอกำลังจะออกหนังสือเล่มใหม่
เขียนวิเคราะห์คำฉันท์ในหนังสือ “สามัคคีเภทคำฉันท์” คุณสุธีร์ กล่าวถึงการแต่งฉันท์ไว้น่าสนใจมาก เป็นต้นว่า

“ธรรมชาติของฉันท์เป็นเรื่องของความยากลำบาก คนเขียนฉันท์ต้องพยายามทำความยากลำบากนั้นให้เป็นความง่าย แต่งาม ง่ายทั้งอ่านง่ายทั้งเขียน แต่งามด้วยลีลาและชั้นเชิงวรรณศิลป์  ต่างกับ กลอน
ธรรมชาติของกลอนเป็นเรื่องง่าย คนเขียนกลอนจึงต้องพยายามทำความง่ายให้เป็นความยากโดยการสรรหาถ้อยคำที่อ่านแล้วต้องตีความ หรือการใช้ถ้อยคำอันเป็นสัญลักษณ์ มีนัยกว้างขว้าง
แต่จะ “สถิตเสถียรเทียรฆ์กาลนิยม” หรือไม่ เป็นเรื่องท้าทาย”
และ “ศัพท์ภาษาเป็นหัวใจสำคัญของการเขียนฉันท์ นักฉันทศาสตร์เปรียบเหมือนนายมาลาการ(นักจัดดอกไม้) คณะฉันท์เหมือนต้นไม้ ครุ-ลหุ เหมือนดอกไม้ ความฉลาดในการจัดวางดอกไม้
แม้มีเพียงไม่กี่ชนิดเพื่อประดับในแจกันใบเล็ก หากสลับปรับแต่งได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน แจกันใบนั้นก็ย่อมดูสวยงามตระการตา กฎเกณฑ์หรือกติกาข้อบังคับของฉันท์มีอยู่แค่ ครุ ลหุ
วางให้ถูกตำแหน่งแค่นี้เอง ส่วนสัมผัสสระนอก-ใน หากเคยเขียนคำประพันธ์ร้อยกรองชนิดอื่นๆ มาบ้างแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรยุ่งยาก ขอให้ดูเปรียบเทียบฉันท์ที่มี 12 คำด้วยกัน”

“การยืดคำ – หดคำ ให้เป็นสระเสียงยาว – เสียงสั้นนั้น ก็ทำได้กับศัพท์จากภาษาบาลีสันสกฤตเท่านั้น ใช้กับคำภาษาอื่นไม่ได้ คุณสุธีร์ยกตัวอย่างคำว่า “กังวล” ซึ่งชิต บุรทัต
แยกศัพท์ข้ามวรรค เป็น กัง - วละ“มีคำศัพท์ที่น่าสนใจเป็นกรณีศึกษาอยู่คำหนึ่งคือคำว่า กังวล (ไท้นฤกัง – วละอย่างไร) กังวล เป็นคำเขมร
(กังวล ก. ห่วงใย, มีใจพะวงอยู่. (ข) – พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน), คำศัพท์ที่จะ ทีฆะ – ทำสระเสียงสั้นให้เป็นสระเสียงยาว หรือ รัสสะ-ทำสระเสียงยาวให้เป็นสระเสียงสั้น
และการแตก,กระจายคำออกเป็นพยางค์สั้นๆ เพื่อใช้เป็นคำ ลหุ คำนั้นๆ ต้องเป็นคำที่มาจากภาษา บาลี – สันสกฤต เท่านั้น เนื่องจากธรรมชาติของสองภาษานี้มีเสียงเป็น ลหุ เสียส่วนใหญ่
แต่ถูกตัดแต่งเพื่อความสะดวกลิ้นของผู้ตัดแต่ง เมื่อนำมาเขียนฉันท์ก็สามารถย้อนกลับสู่รากเดิมได้ เจ้าของภาษาฟังเข้าใจ รู้เรื่อง, กังวล เป็นคำเขมร ล. ทำหน้าที่เป็นตัวสะกดได้อย่างเดียว
เปลี่ยนหน้าที่ไม่ได้ เพราะเมื่อเปลี่ยนแล้ว เจ้าของภาษาฟังไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง, ตะวันตก จะให้เป็น ตะวันตะกะ อย่างนี้ไม่ได้เพราะไม่ใช่คำบาลี – สันสกฤต นิมนต์ เป็น นิมะนะตะ อย่างนี้ได้
เพราะเป็นคำบาลี สงสัย เป็น สงสะยะ – สังสะยะ อย่างนี้ได้ เพราะเป็นคำบาลี คำศัพท์ที่มาจาก บาลี – สันสกฤต แม้จะมีภูมิรู้ ตัด – แต่ง – แผลง – ต่อ, ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์แล้ว
ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าเมื่อได้รูปได้คำตามต้องการ ลองอ่านออกเสียงให้หูตัวเองฟัง ไพเราะไหม ออกเสียงยากไหม แล้วจึงค่อยตัดสินใจจะเอาอย่างไร ถ้าฟังแล้วรู้สึกแปร่งหู ระคายหู ตลกขบขัน
ก็ไม่ควรนำมาใช้เขียนในบทกวีหรือแม้แต่งานเขียนทั่วไป”

ขอเกริ่นไว้ก่อนครับ เพราะหนังสือดีเล่มนี้ ยังพิมพ์ไม่เสร็จ


หัวข้อ: Re: คำฉันท์ (2)
เริ่มหัวข้อโดย: toshare ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2014, 01:19:PM
คำฉันท์ (2)

โชติช่วง นาดอน
(ทองแถม นาถจำนง)

    พลิกข้าม “สมุทรโฆษคำฉันท์” ไปดู “เสือโคคำฉันท์” กันก่อน

    เสือโคคำฉันท์เป็นฝีมือพระมหาราชครู คนเดียวกับที่แต่งสมุทรโฆษคำฉันท์ตอนต้นเรื่อง  เรื่องเสือโคคำฉันท์นั้นแปลงมาจากเรื่องในปัญญาสชาดก เนื้อเรื่อจึงสนุกกว่า
และพระมหาราชครูใช้ฉันทลักษณ์ ฉบัง 16 กับ สุรางคนางค์ 28 จึงอ่านง่ายกว่าสมุทรโฆษคำฉันท์

    แต่เราลองมาอ่าน “ฉันท์” แท้ๆ ในเสือโคคำฉันท์กันสักตอน

    เมื่อหลวิชัย (เสือ) กับคาวี (โค) ที่พระฤาษีชุบเป็นคน เรียนวิชาจากพระฤาษีจบแล้ว พระฤาษีสั่งให้เดินทางจากไป เพื่อ

    ๐ ให้เจ้าทั้งสองเสด็จไป      เสวยราไชยใน
    พิภพองค์แลกุรุง
    สมศรีสมศักดิ์สมสูง           สมเดชอดุง
    บดินทรเจ้าครอบครอง ฯ

    ต่อไปพระฤาษีก็เศกมนต์อวยชัยแก่หลวิชัยและคาวี ฉากนี้ต้องศักดิ์สิทธิ์ จึงใช้ฉันทลักษณ์ให้ขลัง

    สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ 19

    ๐ เมื่อนั้นอรัญญิกมุนีฤษีสาธุผันผยอง             
    แจ่มจันทรเจิมจอง         ชฎา
    เฉวียงสายพรรณรายสูตรวิภุสนพัตรมา           
    ลัยเลปน์กามา            ตระศัก
    เบญจางคจิตรจำนงจำนำกรรฐอนรรฆ             
    เกาบิณชินชัก             ประดับ
    นิ้วนวยนัขอนามิกากรก็สรับ               
    กับด้วยประวิช            ก็ธาร
    โอมอ่านอาคมเวทอวยพรพิศาล
    เศกสองยุพาพาล          กระษัตริย์
    อวยฤทธิเดชยาธราพัทธ
    อวยสิทธิอวยสวัสดิ์         สองเสมอ
    แล้วชี้ช่องทิศวราจราจรจะเปรอ
    ให้สองลิลาเลอ           ประภาษ ฯ

    เอามาให้นักเรียนสมัยนี้อ่าน นักเรียนคงถอยหนีหมด ก็ขนาดกลอนแปดธรรมดาๆ ที่แต่งในยุคใกล้ๆ นี่เอง ยังตีความกันไม่ออกเลย อย่างที่อาจารย์ธเนศ เวศร์ภาดา เล่าว่า
(หนังสือ “ทะเลปัญญา”  บท “ฤาวาสนาน้องจะต้องกัน”) นักศึกษาไม่เข้าใจกลอนในเรื่องอิเหนา ที่ว่า

    ๐แม้นแผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย
     อย่ามีคู่เสียเลยจะดีกว่า
     พี่พลอยร้อนใจแทนทุกเวลา
     ฤาวาสนาน้องจะต้องกัน ๐

     นักศึกษาตีความว่า  ต้อง- กีดกัน

     ไม่รู้ความหมายของ “คนเราวาสนามันต้องกัน” เป็นคู่บุพเพสันนิวาสกัน

     ลองเปรียบกับกลอนลิเก จากหนังสือการ์ตูนหลวิชัย-คาวี วาดโดยคุณประยูร จรรยาวงษ์  ส่วนกลอนลิเกนั้น ในหนังสือมิได้ระบุไว้ว่าใครแต่ง

     แต่ว่าลิเกเรื่องนี้  “คึกฤทธิ์ ปราโมช” และคณะจัดแสดงเพื่อหารายได้สมทบทุนให้สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย แสดงรอบเดียว หม่อมคึกฤทธิ์แสดงเป็นหลวิชัย คุณประยูร จรรยาวงษ์ แสดงเป็นคาวี

     คำกลอนตอนพระฤาษีเศกอวยชัยให้พร หลวิชัยคาวีนั้นว่า

     ๐ เจ้าจะต้องจรดลไปผจญภัย             แม้นเกิดเดือดร้อนอะไรจงรำลึกถึงตา
     ตาจะรีบเหาะเหินไม่ก็รีบเดินไปช่วย        เจ้าจงรีบไปด้วยความมุ่งหน้า
     เจ้าจะได้ดิบได้มีบุญญา
     จงเตรียมเนื้อเตรียมตัวเถอะอย่ามัวห่วงตา
     ตานั้นมีเวทย์วิทยาออกเหลือหลาย
     ถึงอยู่เดียวเปลี่ยวเปล่าก็คงเศร้าใจหน่อย     พักเดียวก็ค่อยระงับได้
     เจ้าจงเชื่อฟังคำสั่ง                     ตาจะได้นั่งสบาย
     เจ้าคาวีหลวิชัยจนใจแท้                  อ้อนวอนจนยอมแพ้จำต้องลีลา
     จัดข้าวของเครื่องรางพลางสะอึกสะอื้น       หัวใจเต็มตื้นเป็นหนักหนา
     พระเจ้าตาเหมือนบังคับแกล้งขับไส          เราบอกว่าไม่ไปท่านขมรึงตา
     โอ้ทุกข์ใหญ่หลวงทรวงสะท้อน              ไม่ให้อุธรณ์ฎีกา
     ครั้นแต่งตัวเสร็จพลันมิทันช้า               ก็ค่อยคลานออกมา 
     เร็วตาจะสั่งจะเสีย                     จะอบรมจรรยาทั้งปรัชญาเรื่องเมีย
     หลานเอ๋ยสองหลานแก้ว                  เจ้าปีกหางแข็งแล้วตาประสิทธิ์ให้
     บัดนี้เจ้าจะไปไกลจากตา                 เจ้าอย่าลืมวาจาที่ได้อบรมไว้
     อันช้างสารงูเห่าข้าเก่าเมียรัก             พึงระวังจกหนักอย่าได้วางใจ
     แม้นประมาทจะพลาดหนักถึงตักษัย......”

     คำฉันท์ฉากพระฤาษีเป่าเศกอวยชัยให้พร หลวิชัยและคาวีนั้น เหมาะสมจะเป็นคำพากย์เชิดหนังใหญ่
     มีความอลังการ ขลัง ศักดิ์สิทธิ์

     ส่วนกลอนลิเกนั้นฟังสนุกสนาน เล่นหยอกล้อกับชาวบ้านผู้ชมได้

     ทั้งคำฉันท์และคำลิเก เป็นมรดกไทยที่ลูกหลานไทยต้องรู้จักภูมิใจกันบ้าง
     อย่าปล่อยให้ถูกลืมไปเหมือนจมทรายจมดิน....