พิมพ์หน้านี้ - ขอความกรุณาท่านผู้แตกฉานพุทธศาสน์อักษรศาสตร์และกวีนิพนธ์

ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน

บทประพันธ์กลอนและบทกวีเพราะๆ => กลอนเปล่า => ข้อความที่เริ่มโดย: toshare ที่ 08 กุมภาพันธ์ 2014, 11:47:AM



หัวข้อ: ขอความกรุณาท่านผู้แตกฉานพุทธศาสน์อักษรศาสตร์และกวีนิพนธ์
เริ่มหัวข้อโดย: toshare ที่ 08 กุมภาพันธ์ 2014, 11:47:AM
ช่วยแปลและอธิบายความหมายของโคลงบทนี้ด้วยครับ
มึนตึ้บ  :: วันที่ลงประกาศ 2014-02-06
http://www.thaipoet.net/ (http://www.thaipoet.net/)

... ... ..เบญจาวุุทธาษฎรบ้นน ... ... ... เบญจางค
... เบญจมารเบญญา ... ... ... ... ... ... ผ่าแผ้ว
... เบญจาภิชานาง... ... ... ... ... ... ... คฌาเณศ
... เบญจนิวรณแร้วร้าง. ... ... ... ... ... ห่างเหนฯ.

ลิลิตยวนพ่าย
---------

ครับ ผมเองก็สนใจ อยากได้ความรู้ด้านศัพท์แสงนะครับ

ขอเสริมให้ระวังครับ

ยวน ๑ น. ชื่อชนชาติกรีก, ชาวอินเดียเรียกเพี้ยนมาจากคํา Ionia; เรียก ชาวไทยทางล้านนาว่า ไทยยวน, เพี้ยนเป็น เยาวนะ โยน หรือ โยนก ก็มี. (ส.).
ยวน ๒ ก. ยั่ว, ล่อ, ชวนให้เพลิน, ชวนให้ยินดี, เช่น ยวนตา ยวนใจ; ก่อกวนให้เกิดกิเลสหรือโทสะ.

ญวน น. ชื่อประเทศและชนชาติหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของประเทศจีน และทางทิศตะวันออกของประเทศลาวและเขมร, ปัจจุบันเรียกว่า ประเทศเวียดนาม.


หัวข้อ: Re: ขอความกรุณาท่านผู้แตกฉานพุทธศาสน์อักษรศาสตร์และกวีนิพนธ์
เริ่มหัวข้อโดย: ดาว อาชาไนย ที่ 08 กุมภาพันธ์ 2014, 04:36:PM
ก่อนอื่นขอออกตัวก่อนว่ามิได้เป็นผู้แตกฉานในศาสตร์เหล่านั้นทั้งสิ้น  แต่มีนิสัยชอบแก้ปัญหาเหล่านี้  จึงขอไขปัญหาว่า

โคลงบาทที่หนึ่ง   หมายความว่า  คนในพระพุทธศาสนาจะกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์  โดยให้อวัยวะทั้งห้าแตะพื้น  คือ
เข่าทั้งสอง  ฝ่ามือทั้งสอง  และหน้าผาก

โึคลงบาทที่สอง  หมายความว่า  พญามารทั้งห้า  คือ  ขันธมาร  กิเลศมาร  อภิสังขารมาร  มัจจุมาร  และเทวบุตรมาร
ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางบุญกุศล

โคลงบาทที่สาม  หมายความว่า  นางที่งามด้วยเบญจกัลยาณี  คือ  มีผมงาม  ผิวเนื้อที่เหงือกและริมฝีปากมีสีแดงงาม  ฟันงาม
มีผิวเนื้องาม  และมีความงามทุกวัย

โคลงบาทที่สี่่  หมายความว่า  นิวรณ์ธรรมทั้งห้าอันเป็นเครื่่องกั้นความดีไม่ให้บรรลุ  คือ  กามฉันทะ ความพอใจรักใคร่  พยาปาทะ ความพยาบาท
ถีนมิทธะ  ความง่วงเหงาหาวนอน  อุทัจจกุกุจจ  ความฟุ้งซ่าน ประหม่า ขวยเขิน  ความรำคาญใจ  และวิจิกิจฉา  ความลังเลสงสัย
ควรหลีกเร้นให้ห่าง
   


หัวข้อ: Re: ขอความกรุณาท่านผู้แตกฉานพุทธศาสน์อักษรศาสตร์และกวีนิพนธ์
เริ่มหัวข้อโดย: พรายม่าน ที่ 08 กุมภาพันธ์ 2014, 11:30:PM

ขอร่วมแสดงอรรถถกถา ตามกำลังสติปัญญาเท่าที่พอจะรำลึกได้ เผื่อจะมีผู้รู้มาทำให้เรื่องนี้กระจ่างยิ่งขึ้นต่อไป จำได้ว่านานมาแล้ว ท่านกามนิตได้เคยชวนแปลลิลิตยวนพ่ายบทแรกไปครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นมีผู้เข้ามาถกกันหลายท่านและสืบข้อความไปหลายกระทู้ ซึ่งกล่าวได้ว่ายังไม่ได้ข้อสรุปโดยสมบูรณ์

ทราบกันแล้วว่า ลิลิตยวนพ่าย เป็นลิลิตสดุดีวีรกรรมพระมหากษัตริย์ สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2(พ.ศ.๒๐๑๕-พ.ศ. ๒๐๗๒) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ(พ.ศ.๑๙๗๔-พ.ศ.๒๐๓๑) เมื่อครั้งทรงมีชัยชนะเหนือพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาที่ยกทัพมารุกรานกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏนามผู้แต่งแน่ชัด แต่ต้องเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางอักษรศาสตร์และพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง

แต่เนื่องจากลิลิตยวนพ่ายใช้ภาษา(ไทยโบราณ,เขมร,บาลี,สันสกฤต) พงศาวดารและหลักปรัชญาทางพระพุทธศาสนาค่อนข้างลึกซึ้งและเข้าใจยากจึงไม่ใคร่ได้รับความนิยม (“แต่หนังสือเรื่องยวนพ่าย ถ้าจะกล่าวแล้วเป็นหนังสืออาภัพ ผิดกับกลอนตำราเรื่องอื่น เช่น ลิลิตพระลอและเตลงพ่ายเป็นต้น เพราะมิใคร่จะมีใครอ่าน เหตุด้วยในคำนมัสการและคำยอพระเกียรติข้างตอนต้นหนังสือยวนพ่าย ผู้แต่งใช้ศัพท์และแสดงอรรถอันลึกซึ้งเข้าใจยาก ผู้อ่านๆแต่ต้นไปไม่ได้เท่าใดก็มักฉงนสนเท่ห์แล้วเลยเบื่อหน่ายปิดหนังสือทิ้งเสีย”-สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

ลิลิตยวนพ่าย ประกอบด้วยร่ายดั้น ๒ ตอนและโคลงดั้นบาทกุญชร ๓๖๕ บท บทที่เจ้าของกระทู้ยกมาให้ช่วยแปลความนี้เป็นส่วนต้นๆ ที่กล่าวยอพระเกียรติฯ โดยเริ่มจากร่ายดั้น และโคลงดั้นบาทกุญชรที่มีลักษณะคล้ายโคลงกระทู้ คือส่วนแรกใช้คำกลายๆกระทู้ว่า “พระมา”คือเสด็จทรงจุติมา ส่วนที่สองกล่าวถึงพระกฤษฎาและพระปรีชา และใช้จำนวนนับในภาษาบาลีเป็นกระทู้(จากเอกะถึงทสสะ)และสำแดงความสอดคล้องในพระอัจฉริยภาพต่อหลักธรรมอันขมวดไว้เป็นพระสูตรตามจำนวนนับในภาษาบาลีดังกล่าว

บทที่คุณToshare นำมาลงไว้เป็นบทที่กล่าวถึงพระสูตรที่ประกอบด้วยจำนวน๕ (คือเบญจ)
ผมขอแปลเท่าที่พอจะแปลความได้และไม่ยืนยันว่าเป็นที่สุด

๏ เบญจาวุทราษฎรบั้น       เบญจางค
เบญจมารเบญญา       ผ่าแผ้ว
เบญจาพิชานาง       คฌาเณศ
เบญจนิวรณแร้วร้าง       ร่างเหน ฯ

เอาหลักๆหรือกระทู้ก่อนนะครับ
เบญจาวุท-อาวุธ ๕
๑.สักกัสสะ วะชิราวุธัง คือ วชิราวุธ ของ พระอินทร์
๒.ยะมะนัสสะ นะยะนาวุธัง คือ นัยน์ตา ของ พระยายม
๓.เวสสุวัณณัสสะ คะทาวุธัง คือ กระบอง ของ ท้าวเวสสุวรรณ
๔.นารายะสะ จักกราวุธัง คือ จักร ของ พระนารายณ์
๖.อาฬะวะกัสสะ ทุสาวุธัง คือ บ่วงบาศ ของ ท้าวอาฬวกยักษ์
เบญจมาร-มาร ๕
๑.  ขันธมาร   มารคือขันธ์ ๕  ร่างกายไม่อำนวยให้ทำความดี  เช่น  เจ็บป่วย  ทุพพลภาพทำให้หมดโอกาสดี  ๆ   ในชีวิต 
๒. อภิสังขารมาร  มารคือบุญบาป   ความชั่วทำให้ขัดขวางมิให้บรรลุคุณธรรม   และบางทีบุญก็ขัดขวางเช่นเดียวกัน  เพราะเป็นเหตุให้เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ  ผู้ที่ทำบุญไปเกิดในภพภูมิที่ดีเช่นสวรรค์   ก็หลงมัวเมาไม่รู้สร่าง  อย่างนี้แหละที่ท่านว่าบุญก็เป็นมารมิให้บรรลุธรรม
๓.  กิเลสมาร   มารคือ กิเลส  โลภ   โกรธ   หลง  เป็นมารเพราะขัดขวางมิให้บุคคลบรรลุผลสำเร็จดีงาม
๔.  มัจจุมาร  มารคือความตาย  ความตายทำลายทุกสิ่งในชีวิต  บางทีกำลังก้าวหน้าใน ชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม   ก็มาด่วนตายเสียก่อน  ความามตายจึงตัดโอกาสดี   ๆ   ในชีวิต
๕.  เทวปุตตมาร  มารคือเทพบุตร   เทวดาที่เกเรคอยขัดขวางมิให้คนทำดี  หมายเอาเทวบุตรฝ่ายอันธพาลทั้งหลายอย่างสูง  หมายเอาพญามารชื่อวสวัตตีที่กล่าวข้างต้น

เบญจาพิชา-อภิญญา ๕
๑. อิทธิวิธี คือ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ เช่น เหาะ , เหิน , เดินอากาศ , เดินทะลุกำแพง , ดำดิน , เดินบนน้ำ , เอามือไปลูบพระอาทิตย์ , หายตัวได้ เป็นต้น ทำได้ด้วยฌานสมาบัติ ไม่ใช่คาถาอาคมเหมือนวิชาไสยเวทของวิทยาธร ...
๒. ทิพพโสต คือ หูทิพย์ , สามารถฟังภาษาสัตว์ต่างๆรู้เรื่องได้
๓. เจโตปริยญาณ คือ ญาณที่รู้ใจคนอื่นได้ รู้ความคิดของผู้อื่นได้ ทายใจคนอื่นได้
๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ รู้เรื่องราวในอดีตของตัวเองได้
๕. ทิพพจักขุ คือ มีตาทิพย์ , มองเห็นทั้ง 3 ภพ โลก นรก สวรรค์ ฯลฯ
อาจมีหลายท่านเคยได้ยิน อภิญญา ๖ คือ
๖. อาสวักขยญาณ คือ ญาณที่ทำให้ กิเลส อาสวะ หมดสิ้นไป จนเป็นพระอรหันต์ในที่สุด
ซึ่งเป็นญาณที่ปถุชนยังมิอาจเข้าถึงได้

เบญจนิวรณ-นิวรณ์ ๕
นิวรณ์ ๕ หมายถึง สิ่งที่ขวางกั้นจิตทำให้สมาธิไม่อาจเกิดขึ้นได้ มี 5 อย่างคือ
๑.กามฉันทะ คือ ความยินดี พอใจ เพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์ ได้แก่ ความยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สิ่งสัมผัสทางกาย) อันน่ายินดี น่ารักใคร่พอใจ รวมทั้งความคิดอันเกี่ยวเนื่องด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น (คำว่ากามในทางธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงเรื่องเพศเท่านั้น)
๒. พยาบาท คือ ความโกรธ ความพยาบาท ความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ
๓. ถีนมิทธะ แยกเป็นถีนะ คือ ความหดหู่ท้อถอย และมิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน ถีนะและมิทธะนั้นมีอาการแสดงออกที่คล้ายกันมาก คือทำให้เกิดอาการเซื่องซึมเหมือนกัน แต่มีสาเหตุที่ต่างกันคือ
ถีนะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เกิดจากการปรุงแต่งของจิต ทำให้เกิดความย่อท้อ เบื่อหน่าย ไม่มีกำลังที่จะทำความเพียรต่อไป
ส่วนมิทธะนั้นเกิดจากความเมื่อยล้าอ่อนเพลียของร่างกาย หรือจิตใจจริง ๆ เนื่องจากตรากตรำมามาก หรือขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่มากเกินไป มิทธะนี้ไม่จัดเป็นกิเลส (พระอรหันต์ไม่มีถีนะแล้ว แต่ยังมีมิทธะได้เป็นบางครั้ง)
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ แยกเป็นอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านของจิต และกุกกุจจะคือความรำคาญใจ
อุทธัจจะนั้นคือการที่จิตไม่สามารถยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน จึงเกิดอาการฟุ้งซ่าน เลื่อนลอยไปเรื่องนั้นที เรื่องนี้ที
ส่วนกุกกุจจะนั้นเกิดจากความกังวลใจ หรือไม่สบายใจถึงอกุศลที่ได้ทำไปแล้วในอดีต ว่าไม่น่าทำไปอย่างนั้นเลย หรือบุญกุศลต่างๆ ที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ ว่าน่าจะได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้
๕. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ หรือไม่ปักใจเชื่อว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด หรือควรทำแบบไหนดี จิตจึงไม่อาจมุ่งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างเต็มที่ สมาธิจึงไม่เกิดขึ้น
นิวรณ์ทั้ง 5 ตัวนี้ มีเฉพาะอุทธัจจะเท่านั้นที่เกิดขึ้นตัวเดียวได้ ส่วนนิวรณ์ตัวอื่น ๆ นอกนั้น เมื่อเกิดจะเกิดขึ้นร่วมกับอุทธัจจะเสมอ

ทีนี้ลองแปลไปทีละวรรค
เบญจาวุทราษฎรบั้น       เบญจางค
เบญจาวุท-อาวุธทั้งห้า
ราษฎร-(สก.)แปลว่า ชาวเมือง,แว่นแคว้น,บ้านเมือง
บั้น-ส่วน
เบญจางค-อวัยวะทั้งห้า หัว๑ แขน๒ เข่า๒
แปล: มีราษฎรดั่งอาวุธวิเศษทั้งห้าอยู่ข้างพระวรกาย(เป็นมือเป็นแขน)

เบญจมารเบญญา       ผ่าแผ้ว
เบญจมาร-มารทั้ง๕
เบญญา-ปัญญา
แปล: มารทั้งห้าจะมาผจญก็ทรงใช้ปัญญาขจัดไปจนสิ้น

เบญจาพิชานาง       คฌาเณศ
เบญจาพิชา-อภิญญา ๕
คฌาเนศ-พระพิฆเนศ
แปล: ทรงบรรลุอภิญญาห้าเสมอเท่าพระพิฆเนศ
มีสงสัยอยู่นิดตรงคำว่า”นาง”เพราะพระพิฆเนศมีเพศเป็นชาย แต่โดยความเข้าใจน่าจะมีลักษณะเหมือนที่เราเห็นคำเรียกบุรุษที่สามว่า”ท้าวเธอ”

เบญจนิวรณแร้วร้าง       ร่างเหน ฯ
เบญจนิวรณ์-นิวรณ์ ๕
แร้ว-บ่วงดักสัตว์
ร้าง-ก. ทอดทิ้งไว้, ไปจาก. ว. ว่างเปล่า, ปราศจากผู้คน.

แปล:ทรงขจัดนิวรณ์ทั้งห้าจนไม่มีสิ่งใดหลงเหลือให้เห็นได้เลย

ดีใจที่คำแปลของผมก็คล้ายๆของท่าน ดาว อาชาไนยเหมือนกัน
รอท่านผู้รู้อื่นๆมาเฉลยต่อครับ

พรายม่าน
สันทราย
๐๘.๐๒.๕๗


หัวข้อ: Re: ขอความกรุณาท่านผู้แตกฉานพุทธศาสน์อักษรศาสตร์และกวีนิพนธ์
เริ่มหัวข้อโดย: พี.พูนสุข ที่ 09 กุมภาพันธ์ 2014, 03:00:PM
 emo_82 emo_82 emo_82

ดิฉันขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมนะคะ
จากที่เคยอ่าน นานมาแล้ว.. แต่จำได้ว่า "ลิลิตยวนพ่าย" เป็นลิลิตยอพระเกียรติเรื่องแรกของไทย
ก็เลยไปค้นหนังสือที่เก็บซ่อนไว้  ดีใจมากที่เจอ..
หนังสือเล่มที่เป็นเจ้าของพิมพ์ครั้งที่สี่  ของสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร  พ.ศ. ๒๕๑๓  ราคาหน้าปก ๑๐ บาท
ดิฉันซื้อปี ๒๕๒๐  จากร้านหนังสือที่กำลังจะปิดกิจการ  เลยได้ราคาลด ๕ บาท
รีบเปิดดู.. เหลืองกรอบ แต่ไม่ขาด  ดีใจอีกยก..

รีบหาโคลงบทที่คุณtoshare ถาม ก็เจออีก.. อยู่หน้าที่ ๘

  ๏ เบญจาวุทธาษฎรบั้น   เบญจางค                   
เบญจมารเบญญา             ผ่าแผ้ว
เบญจาพิชานาง               คฌาเณศ
เบญจนิวรณแร้วร้าง         ร่างเหน ฯ

มีคำที่ต่างจากคุณtosare  ๑ คำ และ...

... ... ..เบญจาวุทธาษฎรบ้นน ... ... ... เบญจางค
... เบญจมารเบญญา ... ... ... ... ... ... ผ่าแผ้ว
... เบญจาภิชานาง... ... ... ... ... ... ... คฌาเณศ
... เบญจนิวรณแร้วร้าง. ... ... ... ... ... ห่างเหนฯ.  / ต้องเว้นวรรค ๑ ตัวอักษร / ไม่มีจุด  / (เส้นปรุก็ไม่มี...อิอิ... emo_50)

มีคำที่ต่างจากคุณพรายม่าน  ๑ คำ

๏ เบญจาวุทราษฎรบั้น       เบญจางค
เบญจมารเบญญา           ผ่าแผ้ว
เบญจาพิชานาง             คฌาเณศ
เบญจนิวรณแร้วร้าง       ร่างเหน ฯ

หนังสือที่ดิฉันมี  จะมีคำอธิบาย (เมื่อพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๕)  พระนิพนธ์ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ   จะเป็นข้อความที่ต่อจากคุณพร่ายม่านลงไว้ในย่อหน้าที่ ๓

"...ปิดหนังสือทิ้งเสียไม่อ่านไปจนถึงตอนเรื่องพงศาวดาร เป็นดังนี้โดยมาก เห็นจะเป็นมาช้านาน  จึงมีผู้รู้ แต่จะเป็นผู้ใดหาทราบไม่  อุตส่าห์แปลอรรถในหนังสือยวนพ่ายเขียนบอกไว้
ในต้นฉบับอันหนึ่ง ซึ่งหอพระสมุด ฯ ได้มา เป็นฝีมืออาลักษณ์ครั้งรัชกาลที่ ๒ เขียน..."

ฉะนั้นโคลงบทที่ถาม ก็จะมีคำแปลอรรถระหว่างบาทไว้ด้วย ดังนี้

๏ เบญจาวุทธาษฎรบั้น   เบญจางค                   
เบญจมารเบญญา           ผ่าแผ้ว
(ขันทะ  กิเลศ  อภิสังขาร  เทวบุตร  มัจจุ  มาร ๕)
เบญจาพิชานาง             คฌาเณศ
(อวิชาเป็นไปในเบญจกาม   องคฌาน ๕)
เบญจนิวรณแร้วร้าง         ร่างเหน ฯ
(กามะฉันทะ  พยาบาท  ถินะมิทะ  อุทจกูกุจะ  วิจิกิจฉา  นิวรณ์ ๕)


ข้อสังเกต โคลงบาทที่ ๑ ไม่มีข้อธรรมแปลอรรถกำกับไว้ น่าจะถอดความว่าอย่างไร
            โคลงบาทที่ ๒ ข้อธรรมตรงกับ คุณอาชาไนย และคุณพรายม่าน
            โคลงบาทที่ ๓ ความเห็นทั้งสองท่านไม่ตรงกัน
            โคลงบาทที่ ๔ ตรงกันทั้งสองท่าน

เชิญคุณtoshare และท่านที่สนใจลองถอดความดูนะคะ ดิฉันจะได้อนุโมทนาด้วยความปราโมทย์ 

                                        emo_126
                                       พี.พูนสุข     


หัวข้อ: Re: ขอความกรุณาท่านผู้แตกฉานพุทธศาสน์อักษรศาสตร์และกวีนิพนธ์
เริ่มหัวข้อโดย: เพรางาย ที่ 09 กุมภาพันธ์ 2014, 04:44:PM
มาช่วยสงสัย

บรรทัดที่สงสัยที่สุดคือ
เบญจาพิชานาง               คฌาเณศ

เข้าใจว่ามาจากคำว่า
เบญจ+อวิชาน+องค์ฌาณ+ ศ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมาย
วิชานนะ น. ความรู้, ความเข้าใจ
ดังนั้นเมื่อเติม อ เข้าไป อวิชาน(นะ) ก็ย่อมหมายถึง ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ
ถ้าดูลักษณะเนื้อความแล้ว  แต่ละเบญจนั้นจะเปรียบเทียบเข้าคู่กันอยู่
วรรคแรกเป็นบทนำ ทำนองว่า เบญจาวุธ ของประชาชนทั้งหลาย
ก็ต้องใช้ องค์ประกอบห้าในการต่อกร
เบญจมารกำราบด้วยปัญญา  ณาณห้าก็ใช้กำราบเบญจนิวรณ์
อันที่จริงในบรรทัดที่หนึ่งและบรรทัดที่สี่ ก็ยังมีที่สงสัยอยู่บ้าง 
แต่ขอโพสต์ถามบรรทัดที่สามที่ยังตอบตัวเองไม่ได้
เผื่อจะมีใครช่วย

คือว่า อวิชชา มันเป็นองค์ ๔ ทำไมเขาถึงใช้เป็น เบญจ ซึ่งหมายถึง ๕ ล่ะคะ
หรือมันสามารถแยกเพิ่มเป็นองค์ห้าได้
ถ้ามีจะเพิ่มเป็นอะไร เพราะอวิชชานั้นเทียบกับอริยสัจ ๔
ถ้าแปลง่ายๆ จะแปลได้ว่า
อวิชชาคือ ไม่รู้จักทุกข์  ไม่รู้จักสมุทัย  ไม่รู้จักนิโรธ  ไม่รู้จักมรรค
มันจึงค่อนข้างจะสมบูรณ์ในตัวกำหนดแล้ว

ใครรู้  ช่วยมาอธิบายข้าพเจ้าด้วยเถิด
จะได้โยงไปบรรทัดอื่นได้สบายใจ


หัวข้อ: Re: ขอความกรุณาท่านผู้แตกฉานพุทธศาสน์อักษรศาสตร์และกวีนิพนธ์
เริ่มหัวข้อโดย: ดาว อาชาไนย ที่ 09 กุมภาพันธ์ 2014, 05:51:PM
คุณพรายม่าน ไขความในบาทที่ ๑ ถูกค้องเลยครับ  เบญจาวุท  คือ  อาวุธ ๕
แต่บาท ๑ นี้มีความหมาย ๒ อย่าง  คือ เบญจางค ซึ่งหมายถึงการกราบด้วย
เพราะมีคำว่า  บั้น อยู่ในคำที่ ๕ ของโคลง  ซึ่งคำนี้หมายถึงแยกเป็นสองส่วน เข่น บั้นท้าย แปลว่า ส่วนท้าย
บั้นต้น และ บั้นปลาย เป็นต้น

เบญจพิชา คือ อภิญญา ๕  ก็ถูกต้อง  แต่อย่าลืมคำต่อไปว่า นาง  คฌาเณศ ซึ่งผมเดาว่า เบญจกัลยาณี

แต่ดูเนื้อความแล้วไม่เข้ากันกับความหมายของโคลง  แม้แต่เบญจางค คือ การกราบ  มันไปกันคนละเรื่องเลย


หัวข้อ: Re: ขอความกรุณาท่านผู้แตกฉานพุทธศาสน์อักษรศาสตร์และกวีนิพนธ์
เริ่มหัวข้อโดย: muneenoi ที่ 09 กุมภาพันธ์ 2014, 07:32:PM
ขอร่วมแจม แสดงความเห็นด้วย...แต่ขอออกตัวก่อนว่ามิใช่ผู้รู้ ขอสุ่มๆ ไปตามความเห็นส่วนตัว

ดูจากศัพท์ที่ผู้แต่งใช้ แน่นอนว่า มีภาษาและสำนวนโบราณพอสมควร และใช้หลักภาษา ๓ ภาษาใหญ่ๆ คือ มคธ หรือบาลี (ทางพุทธ)-สันสกฤต-ภาษาไทย (ยุคเก่า)
บางศัพท์แสงและสำนวนสมัยนี้ แทบไม่ใช้กันแล้ว เพราะฉะนั้น จึงเป็นการยากที่จะแปลให้ได้ใจความเป๊ะๆ (และก็เป็นสาเหตุหลักสุด ที่ทำให้จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใด แปลลิลิตนี้ได้แบบ 100%)

เนื่องจากไม่มีต้นฉบับ (ดูเอาจากที่นำมาโพสต์กันนี่แหละ) เลยจะขอเอาศัพท์ที่คิดว่าน่าจะตรงต้นฉบับมากที่สุด มาวิจารณ์ ดังนี้

๑. วรรคแรก  เบญจาวุทราษฏรบั้น เบญจางค  ถอดความดังนี้
               คำว่า เบญจาวุท ตรงกับ ต้นฉบับบาลีว่า ปญฺจ+อาวุธ(อ่านว่า -จะ+-ธะ) (อาวุธ ๕ ประการ) สมัยก่อนภาษาไทย อาจใช้คำว่า อาวุท ก็ได้...ผู้แต่งคงไม่น่าจะเผลอหรือใช้คำผิด
                คำว่า "ราษฏร" กับ "เบญจางค" ความหมายน่าจะตรงตัว รวมแล้วน่าจะแปลว่า "ผู้มีราษฎรดังอาวุธ ๕ ประการ อยู่ในพระวรกายทั้ง ๕ ส่วน"

๒. วรรคสอง เบญจมารเบญญา ผ่าแผ้ว
                คำว่า เบญจมาร ตรงกับต้นฉบับบาลีว่า ปญฺจ+มาร (มาร ๕), เบญญา ต้นฉบับบาลี คือ ปญฺญา....ดูจากศัพท์ เจตนาผู้แต่งต้องการให้โยกศัพท์อื่นแปลร่วม ว่า
                "ใช้ปัญญา เอาชนะมารทั้ง ๕ จนผ่าแผ้ว..."

๓. วรรค ๓ (วรรคปัญหา) เบญจาพิชานาง คฌาเณศ
              ขอคิดเห็นเป็นประเด็น ดังนี้
                 ๑) ถ้าตัดคำว่า "นาง" ออก จะเหลือ เบญจาพิชา-  สันนิษฐานจากเจตนาความหมายผู้แต่งอีก ๓ วรรคที่เหลือ  ๓-๔ คำแรกของแต่ละวรรค เขาจะสื่อถึงศัพท์ที่
                     มีความหมายว่า "...สิ่งนั้น มี ๕ อย่าง" ถ้าตามความหมายนี้ คำนี้ น่าจะแยกตามต้นฉบับบาลีว่า ปญฺจ + วิชฺชา (ความรู้ ๕ อย่าง, อาจหมายถึง อภิญญา ๕ ก็ได้)
                     ซึ่งน่าจะเป็นความหมายที่ถูกที่สุด แต่ถ้าว่าตามหลักสนธิศัพท์(ตรงนี้ที่น่าสงสัย) ถือว่าผิด เพราะ ปญฺจ (ปัญจะ) กับ วิชฺชา...ถ้าสนธิกันตามหลักจริงๆ จะได้ว่า
                     ปญฺจวิชฺชา...ถ้านำมาใช้เป็นภาษาไทยก็ควรจะเป็น เบญจพิชา มิใช่ เบญจาพิชา...ทีฆะ อะ เป็น อา ไม่ได้ ผิดหลักสนธิกิริโยปกรณ์
                     แต่ถ้าผู้แต่งต้องการสื่อความตามความหมายข้างต้น ไม่เน้นหลักภาษาตรงนี้ ความหมายก็ตามนั้น
                
                 ๒) ถ้าเพิ่มคำว่า "นาง" เข้ามา จะเป็น เบญจาพิชานาง....คำว่า "นาง" มิใช่ภาษาบาลี(ภาษาบาลีใช้ นารี) แต่ผู้แต่งนำมาบวกเข้า....อาจจะต้องการให้มีความหมายว่า
                     "ท้าวเธอ"(ตามความหมายคุณ พรายม่าน)...จะได้ว่า "ท้าวเธอผู้มีความรู้ ๕ ประการ ดุจพระพิฆเนศ" (ถ้า คฌาเณศ หมายถึง พระพิฆเนศ)
                     แต่ถ้าจะคิดว่า "นาง" ผู้แต่งต้องการให้เป็นบาลีเช่นกัน คำที่น่าจะไกล้เคียงสุด ก็น่าจะมาจาก อวิชานน+ องฺค (ตามความหมายคุณ เพรางาย)

                     ก็จะแยกได้ว่า ปญฺจ + อวิชานน + องฺค สำเร็จรูปเป็น ปญฺจาวิชานนงฺค ภาษาไทย(ตามที่ผู้แต่งใช้)ก็น่าจะเป็น เบญจาพิชานางค หรือ -นาง(ตามนั้น)
                     อันนี้ไม่ผิดหลัก สนธิกิริโยปกรณ์ เพราะทีฆะ อะ เป็น อาได้ ลบสระหน้า ทีฆะ สระหลัง (สระ อะ ตรงปัญจะ, สระหลัง ตรง อะวิช เป็น อาวิช หรือ อาพิ-)
                    
                     ทีนี้ถ้าแปล (ตามประเด็นที่ ๒) ถ้าแปลตามตัว จะแปลว่า "องค์แห่งความไม่รู้ ๕ อย่าง" (ซึ่งไม่น่าจะใช่ความหมายที่ผู้แต่งต้องการสื่อแน่ๆ)
                    
                     และถ้าแปลโดยโยกศัพท์อื่นมาประกอบเพื่อให้ได้ความที่ดี (ทีนี้แหละยาวเลย เพราะโยกได้เยอะ......) ยกตัวอย่าง ความหมายที่น่าจะใกล้เคียงเช่น
                     แปลว่า "ชนะองค์แห่งความไม่รู้ ด้วยอภิญญา(หรือ)....๕ อย่าง ดุจพระพิฆเนศ" ฯลฯ (ความหมายประเด็นที่ ๒ น่าจะอ่อนกว่าประเด็นที่ ๑...มุนีน้อย)

                     แต่หาก คฌาเณศ หรือ ศัพท์อื่น(นอกจาก นาง...) ในวรรคนี้ มีความหายถึง "หญิงสาว" หรือ "ความงาม"
                     ก็น่าคิดว่า อาจจะหมายถึง "เบญจกัลยาณี" (ตามความของคุณดาว อาชาไนย)


๔. วรรค ๔ เบญจนิวรณแร้วร้าง ร่างเหน
              เบญจนิวรณ ตรงกับต้นฉบับบาลีว่า ปญฺจ + นิวรณ (นิวรณ์ ๕ ประการ)
              วรรคนี้ ความหมายตรงตัวอยู่แล้ว โดยความคือ "ปราศจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ" นั่นเอง....

              ที่กล่าวมาทั้งหมดตรงกับของหลายๆ ท่าน และแตกต่างกันบ้าง....รออีกหลายท่านแสดงความเห็น emo_47

                                          emo_126

                                           "มุนีน้อย"

                              
[/size]


หัวข้อ: Re: ขอความกรุณาท่านผู้แตกฉานพุทธศาสน์อักษรศาสตร์และกวีนิพนธ์
เริ่มหัวข้อโดย: ไพร พนาวัลย์ ที่ 09 กุมภาพันธ์ 2014, 09:40:PM

เสียดายจังเลยที่อุตส่าห์เรียนบาลีอยู่ถึง๓พรรษา ร่ำๆจะสอบ ปธ๓ อยู่แล้วเชียว แต่ก็ต้องลาสิกขาออกมาซะก่อน พอลาสิกขาออกมาแล้ว ก็ต้องออกมาทำมาหากินห่างวัดห่างวาไป จนกระทั่งไปทำงานในประเทศที่ไม่มีพระพุทธศาสนา อีก๓๐กว่าปี จึงยิ่งห่างไปไกลใหญ่เลย แม้จะเข้าไปใน เวบลานธรรมเสวนาบ้าง แต่ก็เข้าไปอ่านเฉพาะสนทนาธรรมกันเท่านั้น ไม่ค่อยได้ใช้ภาษาบาลีกันเท่าไหร่ นอกจากอ้างอิงแล้วก็มีคำแปลให้เรียบร้อย ยิ่งร้ายไปกว่านั้น ผมไม่เคยได้สัมผัสลิลิตยวนพ่าย หรือลิลิตใดๆเลย จึงหมดปัญญาที่จะสังสรรค์เสวนากับชาวเราได้อย่างเต็มที่ จะมีวรรคของคุณ เพรางาย...
มาช่วยสงสัย
บรรทัดที่สงสัยที่สุดคือ
เบญจาพิชานาง               คฌาเณศ

เข้าใจว่ามาจากคำว่า
เบญจ+อวิชาน+องค์ฌาณ+ ศ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมาย
วิชานนะ น. ความรู้, ความเข้าใจ
ดังนั้นเมื่อเติม อ เข้าไป อวิชาน(นะ) ก็ย่อมหมายถึง ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ


กับความเห็นของคุณ มุนีน้อย...

                     แต่ถ้าจะคิดว่า "นาง" ผู้แต่งต้องการให้เป็นบาลีเช่นกัน คำที่น่าจะไกล้เคียงสุด ก็น่าจะมาจาก อวิชานน+ องฺค (ตามความหมายคุณ เพรางาย)

                     ก็จะแยกได้ว่า ปญฺจ + อวิชานน + องฺค สำเร็จรูปเป็น ปญฺจาวิชานนงฺค ภาษาไทย(ตามที่ผู้แต่งใช้)ก็น่าจะเป็น เบญจาพิชานางค หรือ -นาง(ตามนั้น)
                     อันนี้ไม่ผิดหลัก สนธิกิริโยปกรณ์ เพราะทีฆะ อะ เป็น อาได้ ลบสระหน้า ทีฆะ สระหลัง (สระ อะ ตรงปัญจะ, สระหลัง ตรง อะวิช เป็น อาวิช หรืออาพิ-)
 "มุนีน้อย"

อันนี้ผมสนับสนุนว่า เมื่อสมาสคำเหล่านี้ออกมาก็จะเป็น เบญจาพิชานาง...ได้นะครับ
ส่วนอื่นๆ ก็เห็นตามนั้น และขอชื่นชมท่านทั้งหลายที่ได้ใช้ความรู้เข้ามาสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างสร้างสรรค์อย่างดียิ่ง ขออนุโมทนานะครับ

ไพร พนาวัลย์

 emo_126


หัวข้อ: Re: ขอความกรุณาท่านผู้แตกฉานพุทธศาสน์อักษรศาสตร์และกวีนิพนธ์
เริ่มหัวข้อโดย: กามนิต ที่ 09 กุมภาพันธ์ 2014, 10:48:PM
สวัสดีครับ ไม่ได้เข้ามานานมาก จู่ๆ ก็คิดถึงบ้านกลอนไทย
เหมือนรู้ว่ามีคนนินทา(แอบคิดถึง) แฮ่ๆ

ด้วยความรู้อันน้อยนิดขอแชร์ความรู้เพิ่มเติมจากหลายท่านที่ได้อภิปรายแล้วดังนี้ครับ

๑. บาทแรก คำว่า "ธาษฎร" ไม่ใช่ ราษฎร ดังนั้นเดาว่ามาจาก ธาษฏระ (ธาษ-ตระ)

๒. บาทที่สาม เข้าใจว่า "เบญจาพิชานาง   คฌาเณศ" คือ เบญจ + อพิชาน + องค์ + ฌาณ + เข้าลิลิตด้วย อิศ

๓. แปลตามรสนิยมส่วนตัวดังนี้ครับ

๏  เบญจาวุทธาษฎรบ้นน    เบญจางค
(พระราชา) ทรงประดับอวัยวะทั้ง ๕ ด้วยอาวุธ ๕
เบญจมารเบญญา   ผ่าแผ้ว
(พระราชา) ทรงใช้ปัญญาอันผ่องใสเข้าต่อสู้กับมาร ๕
เบญจาพิชานาง             คฌาเณศ
(พระราชา) ทรงสำเร็จฌาณที่ชนะความไม่รู้อันเกิดจากกามคุณ ๕ 
เบญจนิวรณแร้วร้าง   ห่างเหน ฯ
แร้วคือนิวรณ์ ๕ จึงถูกกำจัดไปอย่างสิ้นเชิง

คล้าย ๆ กับการเข้าสมาธินะครับ

อวัยวะ ๕ นี้ จึงน่าจะหมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อาวุธ ๕ นี้ เดาว่าหมายถึงมี "สติ" รู้ทัน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
มาร ๕ นี้ คงไม่ได้ใหญ่โตอย่างท่านพรายม่านว่าได้ คงหมายถึงเพียง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี่แหละ "ปัญญา" ที่ผ่องใสจึงจะรู้เท่าทันมันได้
เมื่อรู้เท่าทัน ความไม่รู้อันเกิดจากกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) (คงหมายถึง ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) จะสงบไปและเกิดเป็น "ฌาณ"
ซึ่งนิวรณ์ ๕ ( ความใคร่ ความพยาบาท ความง่วง ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และความลังเลสงสัย) ก็จะหายไปสิ้น และก่อเกิดสมาธิในระดับฌาณ ๑

ผิดถูกประการใด ฝากไว้พิจารณาด้วยนะครับ

** แก้คำอธิบายเป็นครั้งที่ ๓ ขออภัยในความหลงลืม


หัวข้อ: Re: ขอความกรุณาท่านผู้แตกฉานพุทธศาสน์อักษรศาสตร์และกวีนิพนธ์
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2014, 12:12:AM
 emo_126  emo_126  emo_126

ขอบคุณทุก ๆ ท่านครับ ที่ให้ความรู้


หัวข้อ: Re: ขอความกรุณาท่านผู้แตกฉานพุทธศาสน์อักษรศาสตร์และกวีนิพนธ์
เริ่มหัวข้อโดย: ดาว อาชาไนย ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2014, 05:23:PM


ได้อ่านคำอธิบายของท่านมุนีน้อย  ทำให้เข้าใจบาทที่สามได้แจ่มแจ้ง
ว่า คือ เบญจาพิชานางค  แต่แยก ค มาอยู่อีกฝั่งหนึ่ง  ฌาณ ก็แผลงเป็น ฌาเณศ เพื่อต้องการเอก
ขอบคุณครับที่ให้ความกระจ่าง

แต่บาทที่หนึ่ง ผมก็ยังเห็นด้วยกับคุณ พี พูนสุข ทึ่ว่าไม่มีข้อธํรรม  และ ธาษฏร  มิใช่  ราษฏร
คือ  ชาวพุทธจะกราบด้วยมือทั้งสอง เข่าทั้งสอง และหน้าผากจรดกับพื้น


หัวข้อ: Re: ขอความกรุณาท่านผู้แตกฉานพุทธศาสน์อักษรศาสตร์และกวีนิพนธ์
เริ่มหัวข้อโดย: muneenoi ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2014, 05:49:PM
ถ้าจะมุ่งที่อรรถ เบญจาพิชานางค (รายละเอียด ดังได้อธิบายไว้แล้ว) และถ้าโดยแยก ค มาฝั่ง -ฌาเณศ (ตามคุณดาว อาชาไนย).....ก็จะแปลได้อีกนัยหนึ่ง ว่า "ผู้บรรลุองค์ฌาน (๔) อันเป็นบาทแห่งอภิญญา ๕" (ตรงกับพุทธพจน์ด้วยโดยนัยว่า "ฌาน ๔ เป็นบาทของอภิญญา")

 emo_68

"มุนีน้อย"



หัวข้อ: Re: ขอความกรุณาท่านผู้แตกฉานพุทธศาสน์อักษรศาสตร์และกวีนิพนธ์
เริ่มหัวข้อโดย: toshare ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2014, 12:51:PM
ไม่ผิดหวังจริง ๆ ครับกับผองเพื่อนที่นี่

ได้ความรู้เพียบ แม้จะยากไปสำหรับผม
(ผมเป็นคริสต์ บางเรื่องที่เพื่อนพูดคุยกัน ยอมรับว่า งงงงงง 555 แต่จะไปค้นคว้าครับ)

ขอบคุณจริง ๆ และขออนุญาต ณ ที่นี้ เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อไป (แฮะ ๆ จขกท เขามาตามแล้ว 555)

ขอบคุณอีกครั้งครับ


หัวข้อ: Re: ขอความกรุณาท่านผู้แตกฉานพุทธศาสน์อักษรศาสตร์และกวีนิพนธ์
เริ่มหัวข้อโดย: toshare ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2014, 12:54:PM
... ... ... ก่อนอื่นเจ้าของกระทู้ต้องขอสารภาพก่อนว่า ไม่ใช่ผู้แตกฉานในศาสน์และศาสตร์ทั้งสามประการตามที่ร้องขอมาเลย  เป็นแต่เพียงผู้ผ่านเวลาห้าสิบฤดูฝนเข้ามาได้สองขวบปีอย่างกระโหลกกะลาเท่านั้น   ความรู้ต่างๆที่มีก็ฉาบฉวย โน่นนิดนี่หน่อย ในลักษณะรู้อย่างเป็ด แม้แต่ความเป็นมาของวรรณคดีเรื่องที่เป็นต้นตอของโคลงบาทกุญชรในกระทู้ถาม ผู้ตั้งกระทู้ก็ยังไม่เคยรู้จักมาก่อน เพิ่งจะมาสนใจหาอ่านจากกูเกิ้ลในระยะสั้นๆที่ผ่านมานี่เอง  เมื่อทราบที่มาแล้วก็นึกสมน้ำหน้าตัวเองว่า เราทะลึ่งรนหาเรื่องที่มาขบคิดใคร่รู้ในผลงานเพชรน้ำหนึ่งซึ่งขึ้นชื่อในทำเนียบความยากจะเข้าใจของสุดยอดนักปราชญ์โบราณเอง

 
ที่ผ่านมาเจ้าของกระทู้ก็ได้พยายามแกะความหมายของโคลงบทนี้อย่างงูๆปลาๆแล้วด้วยตนเอง  เมื่อแกะเสร็จก็เกิดปัญหาตามมาว่า ถูกหรือเปล่าหนอ?  การจะแน่ใจในความถูกต้องได้ ก็คงต้องอาศัยปัญญาท่านผู้รู้มาช่วยยืนยันนั่นเอง ครั้นคิดวนไปมากับปัญหาที่ว่า จะไปถามใครได้ ก็เกิดตอบตัวเองขึ้นได้ว่า ต้องอาศัยความรู้และปัญญาจากท่านผู้รู้ที่สัญจรใน Thaipoet.net นี่แหละ เพราะเป็นเวบของสมาคมนักกลอนของประเทศซึ่งรวมสุดยอดนักปราชญ์และผู้สนใจใฝ่รู้ในสรรพศาสตร์แขนงนี้อยู่เป็นปกติแล้ว จึงได้ลองมาตั้งกระทู้ขอความกระจ่างดู
 
คอยอยู่หลายวัน ก็คอยหาย ถึงกระนั้นเจ้าของกระทู้ก็ไม่มีอกุศลจิตที่จะคิดไปในทางที่ว่า ไม่มีใครรู้ แต่กลับมั่นใจในทางว่า ท่านผู้รู้นั่นมี! แต่คงคร้านที่จะพิมพ์ตอบอะไรที่ยืดยาว เพราะต่างก็มีภาระหน้าที่การงานที่จะต้องปฏิบัติด้วยกันทั้งนั้นกระมัง
 
จึงมาใคร่ครวญว่า วิธีไหนหนอ จะไขปัญหาข้องใจได้แบบทุ่นแรงและเวลาของท่าน  ก็ได้คำตอบกับตัวเองว่า  ลองเสนอที่เจ้าของกระทู้ได้ลองแปลอย่างเดาๆมาดู ถ้ามีที่ผิด ท่านผู้รู้ที่แท้ก็คงอดรนทนไม่ได้ที่จะปล่อยให้มีข้อความผิดๆตั้งอยู่ในเวบระดับประเทศนี้ เมื่อนั้นท่านก็คงปรากฏลายสือออกมาไขข้อผิดกันเอง
 
(^_^)
 
... ... ... เจ้าของกระทู้ขอเปลี่ยนและเพิ่มอักขระบางตัวและเครื่องหมายบางอย่างลงในโคลง ให้เป็นในแบบที่คุ้นตากันในปัจจุบัน
 
... ... ..เบญจาวุุทธาษฎร์บั้น... ... ... เบญจางค์
... เบญจมารเบญญา . ... ... ... ... ... ผ่าแผ้ว
... เบญจาภิชานาง- ... ... ... ... ... ... คฌาเณศ
... เบญจนิวรณ์แร้วร้าง... ... ... ... ... ห่างเห็นฯ.
 
 
... บาทที่1 - แยกคำศัพท์ = เบญจ + อาวุทธ + อัษฏ(ร)า + บั้น + เบญจ + องค์
แปลโดยทื่อ เอ้ย! ซื่อ = ห้า + อาวุธ + แปด + ส่วน + ห้า + องค์
แปลลากเข้าความจากหลังมาหน้าแบบภาษามคธปนสยามคือ - ส่วนแห่งองค์ทั้งห้าคือห้าอาวุธแห่งแปด
(เดาว่าคงหมายถึงมรรคห้าข้อแรก? เห็นชอบ คิดชอบ  พูดชอบ กระทำชอบ อาชีพชอบ )

... บาทที่2 - แยกคำศัพท์ = เบญจ + มาร + เบญญา + ผ่า + แผ้ว
แปลโดยซื่อ = ห้า + มาร + ปัญญา + ผ่า + แผ้ว
แปลลากเข้าความจากหลังมาหน้าแบบภาษามคธปนสยามคือ  - เป็นปัญญาใช้ผ่าแผ้วห้ามาร

... บาทที่3 - แยกคำศัพท์ = เบญจ + อภิช(ฌ)า + อน + องค์ + ฌาณ(คงเขียน ณ เณรสะกดแบบสันสกฤต?) + อีศ
แปลโดยซื่อ = ห้า + ความโลภ , ความพอใจ + ไม่ + องค์ + ฌาน + เป็นใหญ่
แปลลากเข้าความจากหลังมาหน้าแบบภาษามคธคือ ความไม่ถึงความเป็นใหญ่ในองค์ฌาน(เอกัคตา - อุเบกขา ?) เพราะ(มารคือ)ห้าความพอใจ(เป็นเครื่องขัด) / หรือความพอใจทั้งห้าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อันกลายมาเป็นธัมมารมณ์ สุข,ทุกข์เวทนา สัญญา(ความจำ) สังขาร(ความปรุงไป) กั้นขวางอุเบกขาไป
 
สำหรับบาทที่3นี้ มีคำๆหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาคือ อภิชา ตก ฌ เฌอ ไป1ตัว(ไม่ใช่อภิชฌา) ผมจึงยกโคลงทั้งบทนี้ไปวางsearch ใน Google จนพบโคลงนี้ในwebsiteต่างๆ ซึ่งใช้ศัพท์ตรงนี้ว่า อพิชา อันไม่ทราบว่าถูกต้องตามต้นฉบัับท่านผู้แต่งหรือไม่ ถ้าถูก คำๆนี้ก็น่าจะมาจากศัพท์ว่า อวิชา เพราะ ว แผลงเป็น พ ได้
 
ซึ่งจะทำให้  "เบญจาพิชานางคฌาเณศ" แปลใหม่ได้ว่า ไม่ถึงความเป็นใหญ่ในองค์ฌาน เพราะอวิชชาทั้งห้า (ซึ่งเจ้าของกระทู้ขอเดาไปตามศัพท์ว่า เป็นความหลงของสัตว์ต่อวิญญาณที่มีการกระทบใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ  รูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ จนเกิดเป็นอนุสัยความเคยชินในนิวรณ์ทั้ง5คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทัธจกุกกุจจะ  วิจิกิจฉา (เพราะนิวรณ์5 คืออาหารของอวิชชา และความไม่สำรวมอินทรีย์คืออาหารของนิวรณ์5อีกที) ถึงอย่างนี้แล้วก็ยังพอเข้าเค้ากับคำแปลข้างต้น
 
... บาทที่4 - แยกคำศัพท์ = เบญจ + นิวรณ์ + แร้ว + ร้าง + ห่าง + เห็น
แปลโดยซื่อ = ห้า + เครื่องขวางกั้นการถึงธรรม + กับดัก + หาย + ห่าง + เห็น
แปลลากเข้าความจากหลังมาหน้าแบบภาษามคธปนสยาม = กับดักการถึงธรรมคือนิวรณ์ทั้งห้า(ถูกกำจัดให้)ห่างหายไปดังประการที่เห็นแล

... ... ... แปลโดยรวมทั้งชุดโคลงก็คือ "ส่วนแห่งองค์ทั้งห้าคือห้าอาวุธแห่ง(มรรค)แปด เป็นปัญญาใช้ผ่าแผ้วห้ามาร  อันคืออวิชชาห้าซึ่ง(ขวาง)ไม่ให้เข้าถึงความเป็นใหญ่ในองค์ฌาน (นาม)เบญญจนิวรณ์นั้นให้หายไปดังเห็นแล"
 

ฝากท่านพิจารณามาด้วยความเคารพ
 
.
ผู้แสดงความคิดเห็น จขกท วันที่ตอบ 2014-02-11 07:24:53