พิมพ์หน้านี้ - วิชาการเจ้าเล่ห์

ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน

จิปาถะ => ห้องนั่งเล่น => ข้อความที่เริ่มโดย: toshare ที่ 13 ธันวาคม 2013, 01:42:PM



หัวข้อ: วิชาการเจ้าเล่ห์
เริ่มหัวข้อโดย: toshare ที่ 13 ธันวาคม 2013, 01:42:PM
....วิชาการเจ้าเล่ห์...........เหธรรม
งอกเงื่อนร้ายระยำ............เล่นลิ้น
ตีความจ่อจ้องขยำ...........ซ้ำซาก
หยุดบ่ม!ปมแค้นสิ้น..........สุขด้วยอุเบกขา
 
....เมตตา"ปฏิบัติ"แล้......."รัก"ควร
ใช่ร่ำย้ำตรึงตรวน.............ตอกแค้น
ยุติธรรมไป่เรรวน.............รีบมั่น...เสมอนา
เลิกแบ่ง"เรา-เขา"แม้น......ยากแท้แสนเข็น


หัวข้อ: Re: วิชาการเจ้าเล่ห์
เริ่มหัวข้อโดย: toshare ที่ 13 ธันวาคม 2013, 02:46:PM
....โอ้คุณศาล(รัฐธรรมนูญ)ประโยชน์ซ้อน.........ทราบไหม
หนวกบอดเพื่อกระไร................................ใคร่รู้
รัฐธรรมนูญ(พ.ศ.2550)"ร่างทรง"ใคร.............ฤๅเปล่า
ปฏิเสธ! พร้อมจักสู้..................................กอบกู้ยุติธรรม

โดย นคร พจนวรพงษ์ อดีตผู้พิพากษาศาลยุติธรรม
(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 12 มกราคม 2554)


รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ฉบับถาวรที่ 18) พ.ศ.2550 มาตรา 309 อ้างถึงรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ฉบับที่ 17 (พ.ศ.2549)
ซึ่งมีบทนิรโทษกรรมอยู่ในมาตรา 37

"มาตรา 37 บรรดาการกระทำทั้งหลาย ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน
2549 ของหัวหน้าและคณะ...(คปค.หรือ คมช.) ...ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ
และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด
และความรับผิดโดยสิ้นเชิง"
นั่นก็คือ "บทนิรโทษกรรม" ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ คปค.หรือ คมช.ประกาศใช้เพื่อปกป้องการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อ
กฎหมาย เนื่องจากการกระทำรัฐประหาร เพื่อให้คณะของตนไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ต้องมีความผิด
การบัญญัติบทนิรโทษกรรมเช่นนี้ ได้เคยมีแต่เฉพาะในรัฐธรรมนูญ "ฉบับชั่วคราว" เท่านั้น คือฉบับที่ 9 (พ.ศ.2515) มาตรา 21 ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2519) มาตรา 29 ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2520) มาตรา 32 ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2534) มาตรา 32 และฉบับที่ 17 (พ.ศ.2549) คือมาตรา 37 ดังกล่าวมาแล้ว

ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ผ่านมาไม่มีฉบับใดบัญญัติบทนิรโทษกรรมเช่นนั้นไว้ พึ่งจะมีให้เห็นในฉบับที่ 18 (พ.ศ.2550)
เป็นครั้งแรกของประเทศไทย กล่าวคือ มาตรา 309 อยู่ในบทเฉพาะกาลและเป็นมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติไว้ว่า

"มาตรา 309 บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็น
การชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้"
รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 18 (พ.ศ.2550) นี้ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 จะเห็นได้ว่ามาตรา 309 อ้างฉบับชั่วคราวที่ 17
(พ.ศ.2549) ซึ่งมีบทนิรโทษกรรม ตามมาตรา 37 เป็นหลักคุ้มครองหรือนิรโทษกรรมไว้ทั้งหมด ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเกิดก่อน
หรือหลังวันที่ 24 สิงหาคม 2550 และจะคุ้มครองต่อไปตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2550 จนถึงปัจจุบันและจะคุ้มครองต่อไป
ในอนาคตจนชั่วกัลปาวสาน และถ้ายกเลิกมาตรา 309 นี้แล้ว ใครได้ใครเสีย

เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2511) มาตรา 183 ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2521) มาตรา 206 และฉบับที่ 15 (พ.ศ.2534)
มาตรา 222 บัญญัติไว้ในลักษณะเดียวกันคือ ประกาศหรือคำสั่งที่ออกใช้บังคับ "ก่อน" วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้มีผลใช้บังคับ
ได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป และไม่เคยมีฉบับถาวรฉบับใดใช้คำว่า "ก่อนหรือหลัง" วันประกาศใช้เช่น มาตรา 309 นี้เลย
การคุ้มครองการกระทำของผู้ใช้อำนาจโดยพลการทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างไม่รู้จักจบสิ้น และยังคุ้มครองรวมไปถึงพรรคพวก
ผู้เกี่ยวข้องของ คปค.หรือ คมช. ซึ่งมีอีกอย่างกว้างขวางและมากมาย ทำให้สะกิดใจนึกถึงความขมขื่นใจของคนไทยในอดีต

ราษฎรชาวสยามหรือประชาชนคนไทยเคยถูกลวง ถูกหลอกและถูกบังคับให้เจ็บช้ำน้ำใจครั้งที่เราเคยเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต
(สิทธิทางศาล) ให้แก่จักรวรรดินิยม หรือประเทศที่ล่าอาณานิคม ซ้ำร้ายเรายังถูกตีความขยายความจากสนธิสัญญาที่เคลือบคลุม
และอยู่ในภาวะจำยอมจนต้องเสียสิทธิทางศาลให้แก่คนในบังคับหรือพลเมืองของประเทศที่เป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดินิยมเหล่านั้น
อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ความไม่ชอบธรรมและเอาเปรียบของสนธิสัญญาเหล่านั้นคนไทยเราก็ร่วมมือกันผลักดันและยกเลิก
สนธิสัญญาที่เราตกเป็นทาสหรือเสียเอกราชทางศาลนั้นได้สำเร็จในที่สุด

เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ ก็จะขอตอบคำถามตามหัวเรื่องข้างต้นที่ว่า ถ้ายกเลิกมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ใครได้ใครเสีย
โดยนำเอาหลักตรรกวิทยาว่าด้วยการคิดหาเหตุผลมาพิเคราะห์ว่า ใครคือผู้กระทำละเมิดต่อกฎหมาย ใครคือผู้ถูกกระทำและ
ได้รับความเสียหาย ใครคือผู้ออกกฎหมายมาคุ้มครองผลของการทำละเมิดด้วยการนิรโทษตัวเอง ก็จะเห็นคำตอบได้ชัดเจนแล้ว

มีบุคคลสาธารณะที่ฝักใฝ่อำนาจเผด็จการ ซึ่งแฝงตัวอยู่ในสภาพของนักการเมือง นักการทหาร นักกฎหมายหรือนักวิชาการ
รวมตลอดไปถึงนักเคลื่อนไหวไร้อุดมการณ์บางคน ต่างหลับหูหลับตาออกมาพูดว่าการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 309
ก็เพื่อประโยชน์ของคนบางคนหรือบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น ถ้ายกเลิกมาตรา 309 แล้วประเทศชาติจะเสียหาย

คำพูดที่พูดออกมาเช่นนี้สังคมพอจะรู้ว่าพวกเขาหมายถึงใครและมีจุดประสงค์อย่างไร ซึ่งบุคคลที่เขากล่าวถึงว่าจะได้ประโยชน์ก็
ล้วนแต่เป็นผู้เสียหายที่ถูกพวกเขากระทำย่ำยีถูกพวกเขากระทำละเมิดทั้งนั้น

คนไทยยุคสมัยนั้นเขากินข้าวสุกข้าวสวย กินข้าวนึ่งข้าวเหนียว ไม่ได้กินแกลบกินรำที่ใครจะมาโน้มน้าวหลอกลวงได้ง่ายๆ อีกต่อไป
แล้ว พวกผีกระหังหรือผีกระสือที่ชอบอาจมของโสโครกอาศัยความมืดหรืออำนาจมืดบีบบังคับหลอกลวงผู้ด้อยปัญญาทั่วไป
จนเคยตัว ไม่ได้คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทยทุกคนที่เท่าเทียมกัน โปรดรับทราบด้วยว่าปัจจุบันนี้พวกคุณจะทำเช่นนี้
อีกไม่ได้แล้ว ประชาชนเขาเห็นไส้เห็นพุงกันหมดแล้ว ประชาชนเขาตาสว่างกันทั่วทุกคนแล้ว ประชาชนเขาจะไม่ยอมต่อไปอีกแล้ว
ประชาชนเขาจะต่อต้านขัดขวางอย่างจริงจัง อย่าใช้อำนาจมืดมาบังคับหลอกลวงประชาชนอีกเลย อย่าปิดหูปิดตาประชาชนอีกต่อไป
เลย ระวังผลกรรมจะตามทัน

เมื่อหันมาพูดถึงคน "เสีย" แล้วจะมีใครเสียบ้าง ใครออกกฎหมายมาคุ้มครองพวกเขาเล่าคำตอบง่ายๆ ก็เช่นกัน คนจะเสีย
ก็พวกทำละเมิดก็คือพวกเขานั่นเอง การใช้กำลังยึดอำนาจการปกครองล้มล้างฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง มีความผิดฐานเป็นกบฏมีโทษ
ถึงประหารชีวิต ซึ่งรวมทั้งตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ให้กระทำด้วย (ป.อ.มาตรา 113) และยังกระทำย่ำยีเข่นฆ่า
ประชาชนผู้มาชุมนุมเรียกร้องเรียกหาประชาธิปไตยอีก ซึ่งพวกเขาจะต้องมีความผิดอาญาฐานอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
และอายุความก็มากเสียด้วยส่วนใหญ่จะยาวนานถึง 20 ปี และยังจะถูกบังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งด้วยอีกต่างหาก
ในอนาคตต่อไปใกล้ๆ นี้อาจจะได้เห็นโฉมหน้าของหัวหน้าใหญ่หัวหน้ารองหรือบรรดาลิ่วล้อลูกสมุนบางคนถูกรางวัลใหญ่รางวัลย่อย
หรือถูกหางเลขกันบ้าง

การออกกฎหมายนิรโทษกรรมในช่วงกระทำการยึดอำนาจ จนถึงสิ้นสุดการใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็น่าจะเพียงพอแล้ว
ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็ยากที่จะฝืนใจยอมรับได้ เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว การนิรโทษกรรมก็ควรจะสิ้นสุดลง

การใช้อำนาจเช่นนั้น ถ้าบริสุทธิ์ใจจริง ไม่มีอคติ ไม่มัวเมาในอำนาจ ไม่ลุแก่อำนาจ ไม่ก่อกรรมทำเข็ญ ไม่ไปทำละเมิดให้บุคคลอื่นใด
หรือประเทศชาติเสียหาย ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีมาตรา 309 มาคุ้มครอง (หรือคุ้มหัว...ขออภัย) อีกต่อไป