หัวข้อ: รู้ไม้ใช่ว่าตัดมาแบกหาม (รกฟ้าขาว…เถ้างามอร่ามตา) เริ่มหัวข้อโดย: อริญชย์ ที่ 15 มิถุนายน 2013, 08:44:PM (http://www.buriramtime.com/_files/news/2010_07_27_153934_m8ma2btq.jpg)
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต รกฟ้าขาว…เถ้างามอร่ามตา รกฟ้าขาวพราวช่อลออพร่าง งามสล้างกลางทุ่งผดุงถิ่น สมกับเป็นไม้แก่นแห่งแผ่นดิน ชวนถวิลยามไฟเผาไหม้ตอ กลายเป็นขี้เถ้าขาวสกาวหนา ไม่เหลือค่าก้อนถ่านให้สานก่อ คนยังเห็นว่ามีสิ่งดีพอ กอบเอาพอประมาณกลับบ้านไป คลุกมะขามเปียกนึ่งอบซึงหอม ขี้เถ้าย้อมเปรี้ยวลดปรับรสใหม่ เป็นความหวานซ่านซึ้งติดตรึงใจ ส่งกลิ่นไออบอวลมาชวนชิม ดอกรกฟ้าเบ่งบานตระการยิ่ง สวยเพริศพริ้งแสดเข้มแย้มเอมอิ่ม กลางท้องนาป่าไพรพลิ้วไหวพริ้ม ภู่ผึ้งลิ้มเกสรหวานว่อนเพลิน!ฯ อริญชย์ ๑๕/๖/๒๕๕๖ ปล.ต้นรกฟ้าขาว/ต้นรกฟ้า :ภาคกลาง (หรือต้นเซือก/เชือก:อีสาน) เวลาถูกไฟไหม้เผา จะไม่เป็นก้อนถ่าน แต่จะกลายเป็นขี้เถ้าขาวนวลเลย ชาวบ้าน(อีสาน) มักนำขี้เถ้าสีขาวนวลมาคลุกมะขามเปรี้ยวแล้วนำไปนึ่งจนสุก มันจะทำให้มะขามกลายเป็นรสหวานอร่อยชวนรับประทาน emo_107 ข้อมูลที่พอหาเพิ่มเติมได้ทางอินเตอร์เน็ต (ขอขอบคุณ) http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9470000028225 (http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9470000028225) ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะสมสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนมีอะไรหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ ในขณะที่เด็กยุคดิจิตอลไม่ใคร่ใส่ใจนัก แต่ก็ยังมีเด็กบางกลุ่มที่เข้าใจ ใส่ใจหลงเหลืออยู่ โดยหันมาศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แทบจะสูญหายไปและมุ่งมั่นที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ช่วยเหลือประเทศในอนาคต น.ส.พรผกา สุขแสน หรือน้องป่าน นักเรียนโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จ. ขอนแก่น นักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ(พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) เล่าให้ฟังว่า จากคำบอกเล่าจากญาติผู้ใหญ่ที่ว่าคนสมัยก่อนนิยมนำมะขามเปียกที่มีรสเปรี้ยวมาทำให้กลายเป็นมะขามเปียกที่มีรสหวาน โดยเฉพาะชาวชนบทในภาคอีสานซึ่งหามะขามหวานมารับประทานได้ค่อนข้างยากและมีราคาแพง ดังนั้น จึงค้นคิดที่จะทำมะขามหวานไว้รับประทานเอง โดยนำมะขามเปียกมาคลุกกับน้ำขี้เถ้าของต้นรกฟ้าที่กรองแล้ว จากนั้นนำไปนึ่งให้สุก มะขามเปียกที่เคยมีรสเปรี้ยวก็จะกลายเป็นมะขามเปียกที่มีรสหวานน่ารับประทานทันที อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่มะขามหวานหาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพงทำให้ภูมิปัญญานี้ค่อยๆ เลือนหายไป "ป่านสนใจภูมิปัญญานี้อย่างมาก จึงศึกษาหาข้อมูลและทำโครงการวิทยาศาสตร์เรื่องน้ำขี้เถ้ารกฟ้ากับปริมาณน้ำตาลในมะขามเปียกเพื่อศึกษาว่ากรรมวิธีดังกล่าวช่วยเพิ่มปริมาณน้ำตาลในมะขามเปียกได้อย่างไร และทดลองหาค่าความเป็นกรดของมะขามเปียกและความเป็นเบสของสารละลายน้ำขี้เถ้ามีผลต่อการเพิ่มปริมาณน้ำตาลในมะขามเปียกหรือไม่โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 5 ชุดทำการทดลองถึง 2 ครั้ง" "ผลจากการทดลองปรากฏว่าสารละลายน้ำขี้เถ้าของต้นรกฟ้าทำให้มะขามเปียกมีปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้นมากที่สุด ในการทำโครงการนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผลไม้ชนิดอื่นที่มีรสเปรี้ยวได้อีกด้วย" น.ส.พรผกาบอกด้วยว่า การเรียนวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และดีใจที่ได้เป็นนักเรียนทุน โครงการพสวท. เพราะได้รับการสนับสนุนในทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และสอนให้รู้จักเสียสละต่อส่วนรวม ให้มีความสามัคคีและรู้จักคิดเป็น ซึ่งในอนาคตตั้งใจอยากเรียนจนจบปริญญาเอก เพื่อเป็นอาจารย์ และทำงานวิจัยช่วยประเทศชาติ เพราะนักวิทยาศาสตร์เป็นอาชีพที่มีประโยชน์ต่อสังคม และน่าจะเป็นตัวเองมากที่สุด[/color] หัวข้อ: Re: รู้ไม้ใช่ว่าตัดมาแบกหาม (รกฟ้าขาว…เถ้างามอร่ามตา) เริ่มหัวข้อโดย: ดาว อาชาไนย ที่ 16 มิถุนายน 2013, 02:55:PM ขอบคุณที่ได้ให้ความรู้เรื่องต้นรกฟ้า ซึ่งผมไม่เคยเห็นเลย ทึ่บ้านผมมีแต่ต้นรกธรณีขึ้นเต็มไปหมด --ดาว-- |