หัวข้อ: คำถามเรื่องวสันตดิลกฉันท์ เริ่มหัวข้อโดย: เพรางาย ที่ 12 เมษายน 2013, 05:47:PM นี่คือคำถามที่คุณงายได้รับมา
อยากถามเรื่องสัมผัสใน วสันตดิลกฉันท์ครับ จากเรื่อง มัทนพาธา ‘ฟังถ้อยดำรัสมะธุระวอน ดนุนี้ผิเอออวย จักเปนมุสาวะจะนะด้วย บมิตรงกะความจริง. อันชายประกาศวะระประทาน ประดิพัทธะแด่หญิง, หญิงควรจะเปรมกะมะละยิ่ง ผิวะจิตตะตอบรัก; แต่หากฤดีบอะภิรม จะเฉลยฉะนั้นจัก เปนปดและลวงบุรุษะรัก ก็จะหลงละเลิงไป. http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/utaradit/watcharee-w/matana/chan5.htm (http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/utaradit/watcharee-w/matana/chan5.htm) ในเว็บยกให้เป็นตัวอย่างคำฉันท์นะครับ ทำไมไม่ต้องส่งสัมผัสวรรคหรึ่งและวรรคสองครับ มีกฎหรือแบบอย่างให้ทำได้ไหมครับ รบกวนอาจารย์ครับ แล้วคุณงายก็ไปควานหาตัวอย่างฉันท์เพื่อมาประกอบคำตอบของตัวเอง ก่อนจะตอบไปว่า คุณงายขอโทษที่ตอบช้า เพราะต้องไปค้นหาคำฉันท์มาประกอบ ที่มาที่ไปนั้นต้องเริ่มมาจากการเขียนฉันท์และกาพย์ก่อน ที่ต้องโยงเข้าด้วยกันก็เพราะทั้งสองอย่างนี้มีประวัติความเป็นมาคู่กัน ฉันท์นั้นเป็นคำประพันธ์โบราณของอินเดียซึ่งแต่งด้วยภาษาสันสกฤต ภาษานี้ถือเป็นภาษายากซับซ้อนเรียนรู้กันในหมู่พวกพราหมณ์ชั้นสูงและวรรณะกษัตริย์ ลักษณะคำมักจะมีคำสั้นยาวที่เรียกว่าครุลหุ พราหมณ์มักจะแต่งฉันท์เพื่อสวดสรรเสริญพระเจ้า จึงปรากฏเป็นฉันท์ประเภทต่างๆ สันนิษฐานว่าฉันท์คงเข้ามาในไทยพร้อมกับศาสนาพราหมณ์และพุทธ เมื่อคนไทยจะแต่งฉันท์ภาษาของไทยมีลักษณะคำแตกต่างจากภาษาสันสกฤต จะแต่งให้เป็นร้อยกรองสละสลวยตามบังคับคำนั้นจึงต้องยืมคำบาลีและสันสกฤตมาใช้ อ่านฉันท์จึงต้องแปลอีกรอบกว่าจะเข้าใจ ฉันท์จึงถูกแปลงกายให้เป็นกาพย์เพื่อให้ง่ายต่อการใช้คำไทย คือมีการแบ่งวรรคและส่งสัมผัสเหมือนเดิมแต่เว้นเรื่องครุลหุเสีย (คุณงายจึงชอบกาพย์มากกว่าฉันท์ เพราะเหมือนเป็นอาหารต่างชาติที่ได้รับการดัดแปลงให้เหมาะลิ้นคนไทยแล้ว) ในการส่งสัมผัสสำหรับคำประพันธ์ประเภทฉันท์หรือกาพย์ซึ่งมีอยู่สี่วรรค แต่เดิมนั้นในหนึ่งบท(ขอไม่พูดถึงสัมผัสระหว่างบท) บังคับเพียงคำสุดท้ายของวรรคที่สองและสามเท่านั้น ไม่บังคับว่าต้องมีสัมผัสระหว่างวรรคที่หนึ่งกับสอง และวรรคที่สามกับสี่ แต่ด้วยวิสัยคนไทยที่รักความคล้องจอง จึงมีการเพิ่มสัมผัสเข้าไปจนถือตามกันว่าไพเราะ และนิยมใช้ตามอย่าง สัมผัสบังคับในบทจึงมีอย่างที่เห็นในปัจจุบัน มีเพียงกาพย์ยานีที่ยังเหลือเค้าเดิมอยู่บ้างคือ วรรคที่สามจะส่งสัมผัสหรือไม่ส่งสัมผัสกับวรรคที่สี่ก็ได้ เมื่ออ่านวรรณคดีเก่าก่อนจึงสร้างความสงสัยให้คนรุ่นหลังได้ว่า เหตุใดสมัยก่อนจึงไม่เขียนตามฉันทลักษณ์ที่เราเรียนรู้มา ครั้นจะว่าผู้เขียนเขาแต่งผิดก็ไม่น่าจะใช่เพราะที่อ่านเจอนั้นเป็นหนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณคดีของชาติ ผ่านตานักปราชญ์มาตั้งหลายยุคสมัย ตัวอย่างของวสันตดิลกฉันท์ ที่ไม่มีสัมผัสระหว่างวรรคที่หนึ่งและสองยังมีอีกหลายแห่งค่ะ เช่น ๏แว่นแคว้นมคธนคระรา ชคฤห์ราชบูรี ทรงราชวัตร์วิธทวี ทศธรรมะจรรยา ....................................................................... ๏เช่นหลั่งชะลอดุสิตะเท วสถานพิมานพรหม มารังสฤษดิ์ศิริอุตม ผิวะเทียบก็เทียมทัน ..................................................................... ๏ลวดลายระบายระบุกระหนาบ กระแหนภาพกระหนกพัน แผ่เกี่ยวผกาบุษปะวัล ลิและวางระหว่างเนือง ......................................................................... ๏เรียงรายจรูงรมยะบาท บริจาริกากร ปันเวรพิทักษ์อธิบวร ทิวรัตติ์นิวัทธ์วาร ............................................................................... ๏เมืองท้าวและเทียบทิพยโลก ภพะแหล่งสุราลัย เมืองท้าวและสมบุรณไพ บุละทุกประการมาน (สามัคคีเภทคำฉันท์: ชิต บุรทัต) ที่ใส่เครื่องหมายจุดไข่ปลาคั่นคือตัดบทที่มีสัมผัสระหว่างวรรคที่หนึ่งและสองออกไป เพราะถ้าอ่านตลอดเรื่องจะพบว่าคุณชิต บุรทัตนิยมให้มีสัมผัสระหว่างวรรคที่หนึ่งและสอง ไม่มีเลยที่จะมีบทที่ปราศจากสัมผัสระหว่างวรรคหนึ่งและสองอยู่ในสองบทติดต่อกัน(เท่าที่คุณงายอ่านเจอนะคะ) ยังมีอีกค่ะ ๏โอรสพระกรรทมประชา ปติพรหมบุตรขจร เจิดคุณธรรมมิกบวร ทศพิธเพียบเพ็ญ ๏เมตตาประชากรสโม- สรสุขสลายเข็ญ ทั่วรัฐมณฑลก็เย็น สิรราษฎร์สเริงรมย์ (อิลราชคำฉันท์: พระศรีสุนทรโวหาร(ผัน สาลักษณ์) ๏อันซึ่งพระองคก็ขจัด ปรปักษเบญจมาร พ่ายแพ้พระเดชภินิหาร คณพฤกษโพธิ์พลัน ๏หนึ่งข้าก็ยอกรประนม พระเนาวโลกุดรธรรม์ พระปริยัติสุขุมอัน คัมภิรภาพสาทร ๏หนึ่งข้าก็ยอกรประนม อัษฐสงฆสังวร เปนที่พำนักนิอดิศร สัตวโลกยธาตรี (ปุณโณวาทคำฉันท์: พระนาค วัดท่าทราย) หวังว่าหลายตัวอย่างจากวรรณคดีไทยจะช่วยยืนยันได้ว่า บังคับสัมผัสระหว่างวรรคของฉันท์นั้น แรกเริ่มไม่ได้มีบังคับระหว่างวรรคที่หนึ่งและสองจริงๆ แต่ภายหลังเมื่อความนิยมเปลี่ยนไป มันก็เปลี่ยนแปลงมาตามที่เห็น คงจะพอช่วยคลายข้อข้องใจได้บ้างนะคะ เพรางาย ๑๒ เมษายน ๒๕๕๖ ป.ล. ขออนุญาตนำไปโพสต์แบ่งให้คนอื่นอ่านด้วยนะคะ เพื่อนๆ ที่ต้องการเสนอหรือท้วงติงเกี่ยวกับเรื่องนี้สามารถชี้แจงแบ่งปันกันในกระทู้นี้ได้นะคะ หัวข้อ: Re: คำถามเรื่องวสันตดิลกฉันท์ เริ่มหัวข้อโดย: nattna ที่ 24 พฤษภาคม 2013, 08:30:AM ดูจากแผนผังทีไร เข้าใจว่าต้องมีสัมผัสระหว่างบท 1 และ บท 2 ทุกที
เพิ่งรู้ความจริงจากกระทู้นี้ว่า ไม่จำเป็นต้องมีสัมผัสระหว่างบท 1 และบท 2 ก็วันนี้เอง ขอบคุณคุณเพรางายและเจ้าของคำถามค่ะ เริ่มฉลาดขึ้นล่ะ ขอบคุณจริงๆ หัวข้อ: Re: คำถามเรื่องวสันตดิลกฉันท์ เริ่มหัวข้อโดย: toshare ที่ 21 สิงหาคม 2018, 11:59:PM เดิมนั้น ร้อยกรองเรียงร้อยกัน เพื่อ ความสุขสงบ สนุกสนาน แต่ ปัจจุบัน มุ่งแต่ แข่งขัน ประกวดประชันกัน จึงนับวัน ๆ ผู้คนก็ค่อย ๆ ถอยหนี อะไรยากเกิน คนทั่วไปมักรับกัน ไม่ใคร่ไหว ดอกครับ @ โอ้โอสหาย สติคะนึง...........นยะซึ่งประกอบเป็น รูปนามก็แค่ ภวะจะเห็น............บ่มิควรประเด็นหลง @ สิ่งสรรพ(ะ)ล้วนมตะมลาย.....สิบ่สายมุธรรมคง แม้ทุกข(ะ)ท้นก็จะประจง..........มิละหย่อน ฤหลบหาย นย-, นยะ [นะยะ-] น. เค้าความที่ส่อให้เข้าใจเอาเอง. (ป., ส.). ภว-, ภวะ (๑) [พะวะ-] น. ความเกิด, ความมี, ความเป็น (ป., ส.). (๒) น. ภพ. (ป., ส.). มตะ [มะตะ-] ก. ตายแล้ว. (ป.; ส. มฺฤต). ประจง ก. บรรจง, ทำให้ดี. หัวข้อ: Re: คำถามเรื่องวสันตดิลกฉันท์ เริ่มหัวข้อโดย: toshare ที่ 27 สิงหาคม 2018, 01:28:AM วสันตดิลกฉันท์ ๑๔
...จงพรพระโปรดพละลุผู้.............สละสู้กิเลสพาล เธอ!ธรรมสว่างสติประทาน............มุประโยชน์ผลิเพื่อผอง ...เธอ!ธรรมสถิต ณ มน(ะ)กาย.......สิริฉายพิสุทธิ์ครอง ดุจดาวและดวงสุริย(ะ)ส่อง...........สุประเสริฐละลด"ตน" |