หัวข้อ: กราบลง ณ ตรงพื้นธุลีพระธาตุพนมอันศักดิ์สิทธิ์ เริ่มหัวข้อโดย: ไร้นวล^^ ที่ 03 มีนาคม 2013, 08:33:PM (http://imagehost.thaibuzz.com/ii/376image.jpg) (http://imagehost.thaibuzz.com/show.php?id=5fa5973516f58e1ecc637e965a90e199e)
(http://www.klonthaiclub.com/pic/bar_205.gif) (http://www.klonthaiclub.com) ๐เถลิงธรรมพระธาตุตั้ง................ตรึงไตร- รัตน์นา ฉัตรเศวตรเฉิดไสว......................วิวัฒน์หล้า เด่นประดับประภาสไกล................เกินดุสิต องค์อุรังคธาตุกล้า......................สถิตย์ชั้นยอดฉาย ๐ลวดลายลัญจ์ลักษณ์ล้วน.............ลลิตลออ ขาวสลับขบวรกรอ......................กนกพื้น นวลนิลปัทม์ประณตรอ.................พุทธรักษ์ จตุรัสโรจน์ระบิลฟื้น....................เฟื่องพร้องพระศาสนา ๐ระยิบระย้าอร่ามรุ้ง....................ระเมียรองค์ พระธาตุเฮย สุรีย์ส่องศุภรประสงค์...................เศรษฐ์ซ้อง ไญยธรรมพุทธศาสน์คง................พิพัฒน์ พร้อมภัสสรพระธาตุก้อง...............เก็จแก้วกระบวนธรรม ๐ล้ำลักขณานพเก้า.....................กอปรศุภางค์ พุฒเนอ เลิศลวดลายวลัญช์วาง.................วาดร้อย พริ้งเพรียวพุ่งสู่กลาง....................โพธิ์โพธ แดมนุษย์พิสุทธิ์คล้อย..................ขนบขั้นมรรคา ๐บูชาคุณศาสน์น้อม....................อัญชลี พระธาตุพนมศรี.........................สวัสดิ์เกล้า เอกบรมธาตุเจดีย์.......................บริสุทธิ- ทัศน์เฮย ธรรม์พระทศพลญาณเจ้า...............จรัสจ้าจรูญจินต์ฯ (http://www.klonthaiclub.com/pic/bar_205.gif) (http://www.klonthaiclub.com) หัวข้อ: Re: กราบลง ณ ตรงพื้นธุลีพระธาตุพนมอันศักดิ์สิทธิ์ เริ่มหัวข้อโดย: ไร้นวล^^ ที่ 03 มีนาคม 2013, 09:21:PM (ขอบคุณความรู้จากอินเตอร์เน็ต http://www.thatphanom.com/2401/(2).html)
พระธาตุพนม เป็นอุทเทสิกเจดีย์สถานอีกแห่งหนึ่งที่ผูกศรัทธาของพี่น้องชาวอีสานกับทั้งประชาชนทั่วประเทศผู้ถือพระพุทธศาสนาค่าที่เป็น ปฐมแห่งบรมเจดีย์ในสุวรรณภูมิ ในหนังสือเรียนระบุว่า พระปฐมเจดีย์ เป็นหลักชัยแห่งแรกในประเทศที่ถูกสร้างเพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงการ "เข็นล้อธรรม" ประกาศพระศาสนาที่แรกในแหลมทองนี้ โดยอาศัยเหตุจาก พระโสณะเถระ และ พระอุตตระเถระ เป็นต้นเค้าศรัทธา หากในทางปฏิบัติ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าโคกมน อ.วังสะพุง จ.เลย ได้กล่าวหนักแน่นเมื่อครั้งไปสักการะพระธาตุพนมว่า พระธาตุพนมนี้เป็นเจดีย์ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยหรือแคว้นสุวรรณภูมิเรานี่แหละ ยังเมตตาเล่าอีกว่าที่ท่านได้บวชแต่น้อยจนใหญ่และปฏิบัติจน "ข้ามทะเลทุกข์" ได้นี่ก็เพราะ... “เอาผ้าขาววาหนึ่ง กับเงินบาทหนึ่งมาทานตอนสร้างพระธาตุพนม แล้วอธิษฐานขอให้พ้นทุกข์” ครูบาอาจารย์จึงสอนนักว่า อย่าประมาทกับความดีที่ทำว่าเพียงน้อยนิดและอย่าประมาทกับความชั่วว่าเล็กน้อยไม่น่าจะให้ผล พระธาตุพนม ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 8 โดยพระมหากัสสปะเถรพร้อมทั้งพระอรหันต์ล้วนอีก 500 รูป อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนกระดูกหัวอกหรือ พระอุรังคธาตุ มาจากชมพูทวีป(ประเทศอินเดีย) เพื่อประดิษฐานไว้ยังมงคลปเทสอันปัจจุบันคือพระธาตุพนม เนื่องจากพระมหากัสสปะเถรเป็นพระอรหันตเจ้าที่พระบรมศาสดาทรงยกย่องเป็นยิ่งในทุกด้านทุกทาง กระทั่งพระองค์ทรงแลกผ้าสังฆาฏิกับพระมหากัสสปะและตรัสเรียกเสมอว่า “กัสสปะผู้เป็นบุตรของเรา” ครั้งพระศาสดาเสด็จสู่มหาปรินิพพาน พระสาวกทั้งหลายและกษัตริย์ทุกเมืองไม่อาจจุดไฟถวายพระเพลิงแก่พระบรมศพได้ กระทั่งพระมหากัสสปะธุดงค์ออกจากป่ามาถึง ครั้นก้มลงกราบพระสรีระที่ปลายพระบาทก็ปรากฏอัศจรรย์ พระบาททั้งสองได้ยื่นออกจากผ้ากัมพลที่ห่อพระบรมศพไว้ถึง 500 ชั้นทะลุผ่านพระหีบทองทึบให้พระมหากัสสปะได้กราบซบลง จากนั้นเตโชธาตุก็ลุกโพลง แผดเผาพุทธสรีระอยู่ 7 วันจนหมดสิ้นคงเหลือแต่พระอัฐิธาตุ 7 ชิ้นที่ไฟไม่อาจทำลายได้คือ พระอุณหิส(กระดูกกระหม่อม) 1 พระเขี้ยวแก้ว(ฟันส่วนเขี้ยว) ทั้ง 4 พระรากขวัญ(กระดูกไหปลาร้า) ทั้ง 2 นอกนั้นแตกย่อยลงอย่างใหญ่สุดมีสัณฐานเท่าเมล็ดถั่วแตก อย่างกลางเท่าเมล็ดข้าวสาร อย่างเล็กเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด รวมกันตวงได้ 16 ทะนาน จากนั้นโทณพราหมณ์ผู้ได้รับการตั้งให้เป็นคนแจกจ่ายพระบรมสารีริกธาตุได้ทำการ แฮป เอาพระทาฒธาตุหรือพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาซี่บนไว้เป็นสมบัติตัวโดยซ่อนไว้ในผ้าโพกศีรษะ ปรากฏว่าพระอินทร์ส่องทิพยเนตรมาดูเห็นความไม่ซื่อของโทณพราหมณ์ก็คิดว่า ตาพราหมณ์นี้ไม่บังควรได้ของดีวิเศษเป็นเลิศประเสริฐในโลกเช่นนี้ไป ด้วยไม่อาจทำสักการวิธีอันสมควรแก่พระบรมธาตุได้ จึงตัดสินใจลงจากดาวดึงส์เทวโลกมา ขมาย คือแฮปต่ออีกทีหนึ่งไปประดิษฐานไว้ยังพระจุฬามณีเจดีย์สถานในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาซี่ล่างถูกอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่เมืองกลิงคราฐและปัจจุบันไปอยู่ลังกาทวีป (เมืองแคนดี้ในประเทศศรีลังกา) พระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้ายซี่บนประดิษฐานที่เมืองคันธารราฐ (แถบตะวันออกกลางแถวเมืองบามิยัน) พระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้ายซี่ล่างประดิษฐานอยู่ ณ นาคพิภพ พระรากขวัญเบื้องขวาองค์อัมรินทราธิราชและหมู่เทพดามาอัญเชิญไปไว้ยังพระเกศแก้วจุฬามณีคู่กับพระเขี้ยวแก้วในเทวโลก พระรากขวัญเบื้องซ้ายกับพระอุณหิสท้าวฆฏิการพรหมมาอัญเชิญไปประดิษฐานยังพระมหาทุสเจดีย์ในพรหมโลก พระมหากัสสปะเถรผู้เป็นพุทธบุตร เมื่อกราบคารวะพระบรมศพแล้วก็เกิดปาฏิหาริย์คือพระอุรังคธาตุได้เสด็จออกจากพระหีบทองมาสู่ฝ่ามือขวาก่อนเตโชธาตุจะลุกเปลว ท่านจึงดำเนินการตามพุทธดำรัสก่อนปรินิพพานคือให้นำพระอุรังคธาตุไปประดิษฐานไว้ ณ ดอยกปณคีรี เมืองศรีโคตบูรณ์ หัวข้อ: Re: กราบลง ณ ตรงพื้นธุลีพระธาตุพนมอันศักดิ์สิทธิ์ เริ่มหัวข้อโดย: ไร้นวล^^ ที่ 03 มีนาคม 2013, 09:37:PM มีเรื่องมหัศจรรย์โดยแท้เมื่อพระธาตุพนมล้ม ยกมาเป็นบางเรื่องที่สำคัญเท่านั้นคือ
1. เมื่อพระธาตุชั้นที่หนึ่งพังทลายลง พระธาตุชั้นที่สองก็เอียงลงมาลักษณะคว่ำลงสู่พื้นดิน ด้วยลักษณาการนี้ถาดสำริดที่รองรับเจดีย์ศิลาและบุษบกทองคำต้องตกลงมาสู่พื้นในลักษณะคว่ำและวัตถุสิ่งของในถาดอันเป็นของชิ้นเล็กชิ้นน้อยต้องกระจัดกระจายไปทั่ว แต่เมื่อตกถึงพื้นกลับอยู่ในลักษณะเก่าคือหงายรองรับเจดีย์ศิลาและบุษบกทองคำอยู่เช่นเดิมไม่มีวัตถุใดกระเด็นออกมา เหมือนกับมีคนจับยกลงมาวางไว้มากกว่าจะตกลงมาเองเป็นที่น่าอัศจรรย์ 2. ขณะตรวจผอบได้พบว่ามีพระอุรังคธาตุอยู่จริงย่อมเป็นที่โล่งอก จะได้รู้เห็นกันชัด ๆ ไปเลยว่ามีพระบรมธาตุบรรจุอยู่ในพระเจดีย์จริงมิใช่เรื่องแต่ง และในแก้วผลึกที่ใสยิ่งกว่าใสนั้น มีกระดูกลักษณะที่ยังไม่ได้เผา 8 ชิ้นตรงกับที่ตำราระบุไว้จริงว่า พระมหากัสสปะเถรเจ้าตั้งจิตอธิษฐานแล้วพระอุรังคธาตุก็เสด็จออกจากพระบรมศพมาสู่ฝ่ามือขวาของพระมหากัสสปะก่อนที่ไฟทิพย์จะลุกโชนขึ้นเผาพระพุทธสรีระ และเมื่อทำการเปิดฝาทองคำที่ปิดแก้วผลึกนั้นออกดูปรากฏกลิ่นหอมเย็นคล้ายน้ำมันจันทน์โชยไปไกลเป็นระยะถึง 10 เมตรเศษทั่วบริเวณ บางคนถึงกับว่าเทพยดามาโปรยดอกไม้ทิพย์บูชาพระอุรังคธาตุ 3. ฉัตรทองคำยอดพระบรมธาตุได้ปาฏิหาริย์ไปพิงอยู่ที่ฝาผนังกำแพงหอพระแก้วโดยมีรอยขูดขีดเสียหายเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความสูงที่อยู่บนสุดด้วยระยะ 57 เมตร และทองคำเป็นโลหะที่นิ่มมากแรงกระแทกขนาดนั้นกลับไม่เสียหายอย่างที่วิตกแต่แรก ที่สำคัญมิได้ล้มแต่ไปพิง 4. รูปหล่อโลหะสี่องค์ขนาดเท่าคนจริงของพระมหาเถระองค์สำคัญผู้มีอุปการคุณต่อพระธาตุพนมและมหาชนทั่วไป ซึ่งรูปหล่อทั้งหมดนี้ประดิษฐานอยู่อย่างใกล้ชิดองค์พระธาตุพนมตลอดทิศทั้งสี่ เมื่อพระธาตุล้มรูปจำลองเหล่านี้กลับไม่ได้รับความเสียหายเลยแม้แต่น้อย ขอย้ำว่าแม้แต่น้อย ดูรูปการณ์ดุจดังพระธาตุล้มแล้วจึงนำรูปเหมือนทั้งสี่ไปตั้งภายหลังน่าอัศจรรย์นัก รูปหล่อทั้งสี่องค์ประกอบด้วย ท่านเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (พระครูขี้หอม) ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด นันตโร) ท่านพระครูศีลาภิรัต (หมี อินทวังโส) และ ท่านพระเทพรัตนโมลี (แก้ว อุทุมมาลา) พระธาตุพนมองค์ใหม่ถูกสร้างขึ้นในวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 แรม 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะโรง วันนี้เป็นปีงูใหญ่ได้ลงเสาเข็มพระธาตุองค์ใหม่ โดยการสร้างครั้งนี้เป็นแบบสร้างครอบของเก่าลงไปเลยทีเดียว เพราะตอนพระธาตุล้มเป็นส่วนต่อชั้นที่สองซึ่งมาเติมสมัยพญาสุมิตตธรรมวงศาขึ้นไปที่ล้มลง ในส่วนของอุโมงค์และฐานเดิมยังคงอยู่ พระธาตุพนมองค์ใหม่สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2521 ประกอบพิธียกฉัตรเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2522 โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นองค์ประธานพิธี ประกอบพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุเมื่อวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ |