หัวข้อ: ทำไม เรียก ร่าย/โคลง ดั้น เริ่มหัวข้อโดย: toshare ที่ 26 มิถุนายน 2012, 09:37:PM ขออนุญาตนำเรื่อง ร่าย/โคลงดั้น ที่ผมเคยเขียนถาม คุณกามนิต มาเป็นกระทู้
เพราะประหลาดใจว่า อะไรจะประจวบเหมาะเช่นนี้ == toshare ที่ 17 มิถุนายน 2012, 08:54:pm ...ไยเรียกโคลง ร่าย “ดั้น”........สงสัย (คุณ)กามนิตวานตอบไว..........ใคร่รู้ ร่าย โคลง”สุภาพ”เฉลยไป........ให้ประโยชน์ “พิเคราะห์คิด”พลังผู้...............มุสู้สร้างสรรค์ (๑๘๘) เกี่ยวกับ โคลง,ร่าย “สุภาพ” กรุณาดู คำถามคำตอบ ที่ "ห้องฝึกเขียนกลอนให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์" หัวข้อ โคลงสี่สุภาพ หน้า ๑๒ ตอบ: ๒๓๕, ๒๓๖, ๒๓๘ == โคลงดั้นร่ายดั้นเก่า เบาราณ ตั้งชื่อไว้แสนนาน นั่นแล้ว กามนิต บ่ อาจหาญ เดาสุ่ม คงพึ่งปวงปราชญ์แก้ว อาจแก้ปริศนา ฯ ต้องเรียนตามตรงว่าไม่ทราบ และไม่กล้าเดา เพราะยังไม่เคยพบคำอธิบายในตำรา คงต้องไปถามผู้รู้จริง ๆ ครับ กามนิต, ๑๙ มิ.ย.๕๕ == http://www.royin.go.th/th/home/ - กระดานสนทนา หน้า 2 ดิฉันสงสัยมานานแล้วว่า ทำไมจึงเรียกว่า โคลงดั้น ร่ายดั้น คำว่า ดั้น บ่งบอกลักษณะอย่างไร กวีโบราณจึงใช้คำนี้ By : พูนสุข พันธ์จูม วันที่ 19 มิ.ย 2555 , 13:14 น. ----- ความคิดเห็นที่ 1 วันที่ 19 มิ.ย 2555 , 16:37 น. ดั้น น. ชื่อโคลงและร่ายประเภทหนึ่ง เรียกว่า โคลงดั้น และ ร่ายดั้น By : อรพิม ----- ความคิดเห็นที่ 2 วันที่ 20 มิ.ย 2555 , 14:24 น. >โคลงดั้น แบ่งออกเป็น ๖ ชนิด โคลง ๒ ดั้น, โคลง ๓ ดั้น, โคลงดั้นวิวิธมาลี, โคลงดั้นบาทกุญชร, โคลงดั้นตรีพิธพรรณ, โคลงดั้นจัตวาทัณฑ์, ในที่นี้จะแสดงเพียงโคลงดั้นวิวิธมาลี คือ โคลง ๔ ดั้น วิธีการแต่งคำประพันธ์ยึดถือแนวทางเดียวกับโคลง ๔ สุภาพ จะแตกต่างกันบ้างในตำแหน่งสัมผัส อ่าน โคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย ของ พระยาตรัง. >ร่ายดั้น คือ ร่ายที่กำหนดคำในวรรคและการสัมผัสเหมือนร่ายโบราณ แต่ไม่เคร่งเรื่องการรับสัมผัสระหว่างคำ ชนิดคำ หรือ คำเอก ไม่จำเป็นต้องรับด้วยคำเอก เป็นต้น ส่วนการจบบท ใช้บาทที่สามและสี่ของโคลงดั้นมาปิดท้ายบท และอาจแต่งให้มีคำสร้อยสลับวรรคก็ได้ อ่าน ลิลืตดั้นมาตาปิตุคุณคาถาบรรยาย ของ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ). >ผังโคลงดั้นวิวิธมาลี และ ร่ายดั้น By : 211 ----- ความคิดเห็นที่ 3 วันที่ 21 มิ.ย 2555 , 11:28 น. ตอบไม่ตรงคำถาม By : ก ----- ความคิดเห็นที่ 4 วันที่ 21 มิ.ย 2555 , 11:36 น. ขอบคุณ เข้าใจและรับทราบคำตอบครับ แจ่มชัด แต่ขออนุญาตทวนคำถามของท่าน จขกท. อีกที คำถามมีอยู่ว่า ทำไมจึงเรียกว่า โคลงดั้น ร่ายดั้น คำว่า ดั้น บ่งบอกลักษณะอย่างไร กวีโบราณจึงใช้คำนี้ By : กมล หัวข้อ: Re: ทำไม เรียก ร่าย/โคลง ดั้น เริ่มหัวข้อโดย: toshare ที่ 26 มิถุนายน 2012, 09:40:PM ความคิดเห็นที่ 5 วันที่ 21 มิ.ย 2555 , 14:45 น.
จากพจนานุกรมฯปี ๔๒ ดั้น ๑ ก. ฝ่าไป, มุดด้นไป. ดั้น ๒ น. ชื่อโคลงและร่ายประเภทหนึ่ง เรียกว่า โคลงดั้น และ ร่ายดั้น. ผมคิดว่า “ดั้น” น่าจะบอกบางอย่าง อย่างนี้ครับ ถ้าดูความหมายของคำ “ดั้น” ที่ต่อหลังคำ “โคลง, ร่าย” น่าจะบอกได้ถึงการฝ่าไป, มุดด้นไป ตามความหมาย ดั้น ๑ คือพยายามต่อ(แต่ง)ไปให้ได้ แล้วจึงมาเป็นชื่อเฉพาะของคำประพันธ์ตามความหมายดั้น ๒. แต่เดิมมีโคลงห้าแบบโบราณหรือโคลงห้ามณฑกคติ ตามหลักฐานประวัติวรรณคดีมีเรื่องเดียว คือ ลิลิตโองการแช่งน้ำ(ประกาศแช่งน้ำโคลงห้า) วรรคละห้าคำ แต่เรียงวรรคอย่างกาพย์ เช่น ๏ นานาอเนกน้าวเดิมกัลป์ จักร่ำจักราพาฬเมื่อไหม้ กล่าวถึงตระวันเจ็ดอันพลุ่ง น้ำแล้งไข้ขอดหาย ฯ(หน้า ๑) (ราชบัณฑิตยสถาน พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย สมัยอยุธยา ลิลิตโองการแช่งน้ำ ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๐, ๑๒๕ หน้า) โคลงห้าคงไม่ใคร่เป็นที่นิยมจึงกำหนดลักษณะบังคับและเอกโทเพิ่มเติมเป็นโคลงดั้น ซึ่งมีมาแต่ครั้งกรุงศรีฯตอนต้น ปรากฏหลักฐานจากวรรณคดีสำคัญ คือ ลิลิตยวนพ่าย ด้วยลักษณะสัมผัสและบังคับเอกโทของโคลงดั้นที่ค่อนข้างหาคำลงยาก โดยเฉพาะรูปวรรณยุกต์โท แม้ได้คำที่มีรูปวรรณยุกต์โทแล้ว แต่เสียงอาจไม่ไพเราะหรือความอาจไม่ตรงตามต้องการ จึงต้องพยายามดั้นไปตามลักษณะบังคับของฉันทลักษณ์ให้จบบท ตัวอย่างโคลงดั้นในลิลิตยวนพ่าย (ศิลปากร, กรม ลิลิตยวนพ่าย พิมพ์ครั้งที่ ๕ สำนักพิมพ์บรรณาคาร ๒๕๑๔, ๙๓ หน้า) ๏ พรหมพิษณุบรเมศเจ้า จอมเมรุ มาศแฮ ยำเมศมารุตอร อาศนม้า (ยํ)* พรุณคนิกุเพนทรา สูรเสพย เรืองรวีวรจ้า แจ่มจันทรา ฯ(หน้า ๓), (วรฟ้าจ้า, จันทร)* ๏ เอกาทสเทพแส้ง เอาองค์ เปนพระศรสรรเพชญ ที่อ้าง (เป็น)* พระเสด็จดำรงรักษ ล้ยงโลกย ไส้แฮ ทุกเทพทุกท้าวไหงว้ ช่วยไชย ฯ(หน้า ๓) ๏ พระมามลายโศกหล้า เหลือศุข มาตรยกไตรภพฤๅ ร่ำได้ พระมาบรรเทาทุกข ทุกสิ่ง เสบอยแฮ (ทุก)* ทุกเทศทุกท้าวไท้ นอบเนือง ฯ(หน้า ๔) เมื่อเทียบคำกับ ประวัติวรรณคดีไทยสำหรับนักศึกษา (เปลื้อง ณ นคร) มีบางคำที่สะกดต่างกันตาม(...)* จากตัวอย่างพอเห็นได้ว่าทั้งสัมผัสและบังคับโทยังมีเลื่อนไปบ้าง แต่มีลักษณะเป็นโคลงสี่ดั้นบาทกุญชร “โคลงดั้น” เป็นรูปแบบฉันทลักษณ์โคลงแต่ดั้งเดิม แล้วเปลี่ยนลักษณะบังคับเอกโทให้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่ต้องสัมผัสระหว่างบท ต่อมาจึงเป็นโคลงสี่สุภาพ ได้รับความนิยมมากสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเนื่องมากระทั่งปัจจุบัน By : พีร์ บีพีเค ----- ความคิดเห็นที่ 6 วันที่ 21 มิ.ย 2555 , 16:27 น. ขอบพระคุณแทนท่านผู้ถาม สำหรับความคิดเห็นที่ 1 และ 2 ที่กรุณาตอบ คำว่า “ดั้น” เป็นชื่อของอะไร และโคลงดั้น ร่ายดั้น มีกี่ชนิด และมีแผนผังการแต่งเป็นอย่างไร ก็ไม่สงสัยหรอก แต่สงสัยเหมือนกับที่ท่านผู้ตั้งกระทู้สงสัยนั่นแหละ (และยังไม่มีคำตอบ) ว่า ทำไมจึงใช้คำว่า “ดั้น” เป็นชื่อเรียกโคลงและร่ายชนิดนั้น หรือจะลองตั้งคำถามใหม่ว่า คำว่า “ดั้น” นอกจากเป็นชื่อโคลงและร่ายประเภทหนึ่งแล้ว ยังมีความหมายว่าอะไรได้อีก จะมีความหมายคล้ายๆ กับคำว่า “มังกรดั้นเมฆ” อะไรประมาณนี้หรือเปล่า By : ไปไหนมา ฯ |