พิมพ์หน้านี้ - วิชชุมมาลาฉันท์ ๘

ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน

บทประพันธ์กลอนและบทกวีเพราะๆ => ห้องฝึกเขียนกลอนตามฉันทลักษณ์ => ข้อความที่เริ่มโดย: เพรางาย ที่ 23 ธันวาคม 2010, 03:45:PM



หัวข้อ: วิชชุมมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: เพรางาย ที่ 23 ธันวาคม 2010, 03:45:PM
วิชชุมมาลาฉันท์ ๘

          วิชชุมมาลา แปลว่า ระเบียบสายฟ้า หมายถึง ฉันท์ที่มีลีลาอย่างสายฟ้าแลบ



          คณะและพยางค์
          ฉันท์บทหนึ่งมี ๔ บาท บาทละ ๒ วรรควรรคละ ๔ คำ ๒ วรรคเป็น ๘ คำ จึงเขียน๘ หลังชื่อวิชชุมมาลาฉันท์
          วิชชุมมาลาฉันท์นี้คล้ายกาพย์สุรางคนางค์เพียงแต่เพิ่มวรรคต้นขึ้นอีก ๑ วรรคเท่านั้น รวมทั้งบทมี ๔ บาท ๘ วรรค ส่วนกาพย์สุรางคนางค์มีเพียง ๗ วรรค


(http://add.klonthaiclub.com/images/36_3649_3612_3609_3612_3.jpg)

 สัมผัส            -สัมผัสบังคับดูได้จากแผนตามเส้นโยงสัมผัส และจากตัวอย่างคำที่สัมผัสกันใช้สีต่างจากพวก

 คำครุ คำลหุ     -บังคับครุล้วนทุกวรรค
(ฐะปะนีย์ นาครทรรพ: สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 17)



ไก่เหลืองตกปลา

๏ ไก่เหลืองตกปลา      ในนาข้าวเขียว
นั่งอยู่ตัวเดียว            เปลี่ยวใจไหมเจ้า
เมฆขาวล่องฟ้า          ลอยมาบังเงา
สายลมบางเบา          รวยเย้ารำพัน

๏ ๏ ไก่เคลิ้มตาปรือ       ปลายื้อตอดตุบ
ไก่ง่วงโงกหงุบ             จึงฟื้นจากฝัน               
คว้าเบ็ดเร็วไว              ปลาไยรู้ทัน
คายเหยื่อหนีกัน           มันแสนแค้นใจ


เพรางาย  มณีโชติ


หัวข้อ: Re: วิชชุมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: เพรางาย ที่ 23 ธันวาคม 2010, 04:02:PM
เป็ดอยากกินส้ม

๏ เป็ดอยากกินส้ม     ปากขมใจอยาก
เห็นมีอยู่มาก           ตรงใกล้ชายทุ่ง
ไม่ร้องชวนใคร         ตั้งใจหมายมุ่ง
บุกป่าฝ่ายุง             อิ่มพุงแท้เทียว


๏ ส้มจุกส้มซ่า          เป็ดหาแลมอง
ส้มโอสีทอง             ขอจองขบเคี้ยว
ส้มมือหอมหอม         ค้อมกิ่งน่าเกี่ยว
ส้มจีนส้มเสี้ยว          เป็ดเหลียวปลิดเอา



เพิ่งรู้ว่าวิชชุมาลาฉันท์เล่นไม่ยาก  เลยอยากแต่งอีกสักเรื่อง

 emo_68


หัวข้อ: Re: วิชชุมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: Lจ้าVojกaoนบทนี้* ที่ 29 ธันวาคม 2010, 07:09:PM

 คราวนี้คงเป็นวิชชุมมาลาฉันจริงๆเสียทีนะ


วิชชุมาลาฉันท์: ผู้พลาดรัก

เกิดเป็นชายหนุ่ม     ยังกลุ้มเรื่องรัก
ด้วยเคยอกหัก       มานานนักหนา
นั่งรอนนอนรอ         ให้หมอใส่ยา
หวังใจอยู่ว่า             แผลน่าหายดี

เจอหมอสาวสวย     แถมรวยรูปทรัพย์
เธอยิ้มต้อนรับ           พร้อมกับเรียกพี่
เฝ้าคอยเอาใจ           ทำให้อย่างดี
ไม่เคยรอรี                ทุกทีทักทาย

อยู่มาวันหนึ่ง             ผมบึ่งไปหา
หมายใจอยูว่า           อยากมานัดหมาย
เธอไปทานข้าว         เพียงเพื่อเอาใจ
ใช่หวังสิ่งใด              ทำไปเพื่อเธอ

เธอนั้นน่ารัก               สุดหักใจห้าม
ผมเฝ้าติดตาม           รินรักล้นเอ่อ
ทุกคืนทุกวัน            ใฝ่ฝันอยากเจอ
กอดหมอนนอนเพ้อ    ถึงเธอผู้เดียว

รีบขับรถบึ่ง              ไปถึงที่หมาย
ผมแทบวางวาย         หัวใจเริ่มเหี่ยว
เมื่อเห็นเธอนั้น          ที่ฝันถึงเชียว
ใช่อยู่คนเดียว            เธอนั้นมีใคร

ผมต้องอกหัก            เจ็บหนักอีกหน
สุดเหลือทานทน         ด้วยคนอยู่ใกล้
ไม่เคยคิดเลย            อยากเผยความใน
สุดท้ายช้ำใจ            ผิดหวังอีกคราว

เก็บความชอกช้ำ         ตอกย้ำชีวิต
ด้วยเข้าใจผิด            เลิกคิดเรื่องสาว
หันมาเอาดี                ตัดราคีคาว
ขอบวชยืนยาว            ไม่สึกอีกเลย.

   

  คือ สงสัยน่ะครับ  ไม่ทราบว่า ที่แต่งไปนี้เป็น วิชชุมาลาฉันท์หรือกลอนสี่
แบบว่า พอแต่งได้ แต่ไม่ทราบหลักเกณฑ์  วอนผู้รู้ได้โปรดช่วยอธิบายที   
  ขอบคุณ ครับ

    โดย  Mayawin
    ๒๙   ธันวาคม  ๒๕๕๓

อืมม์.....ขอขอบคุณที่ให้ความกระจ่างครับ  งั้นขออนุญาตเปลี่ยนเป็น....เอ่อ.... emo_45

ยังไงก็ขอขอบคุณ กามนิต นะครับ ที่ให้ความกระจ่าง ทำให้ทราบความแตกต่างระหว่าง วิชชุมาลาฉันท์ กับ กลอน สี่

ขอบพระคุณหลายๆ ครับ

          Mayawin
     ๑๔  มกราคม  ๒๕๕๔

 


หัวข้อ: Re: วิชชุมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: สายใย ที่ 04 มกราคม 2011, 04:18:PM
 (http://www.klonthaiclub.com/pic/bar_153.gif)


ขอเชิญทุกท่าน มาลองพิจารณาร่วมกันนะครับ...
๑. จากแผนผังของท่านอาจารย์ ฐะปะนีย์ นาครทรรพ
     ระบุว่า วิชชุมมาลาฯ นี้ บังคับคำ ครุ ล้วน
      (ครุ = คำในแม่ ก. กา ที่ประสมด้วยสระเสียงยาว และคำที่มีตัวสะกดทั้งหมด)
     ดังนั้นจึงห้ามใช้คำเหล่านี้เช่น  เพราะ จะ ก็ เจอะ นะ อิ อิ  
๒. เรื่องสัมผัส    กระผมขอตั้งข้อสังเกตที่ สัมผัสระหว่างบท (ในกรณีที่แต่ง ๒ บทขึ้นไป ครับ)
      ถ้าดูตาม แผนผัง จะเห็นว่า  กำหนดให้ คำสุดท้ายของ บทแรก
       ต้องส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของบาทแรก ในบทที่สอง นะครับ ดังภาพ
(http://add.klonthaiclub.com/images/27_3649_3612_3609_3612_3.jpg)

แต่ถ้าดูตัวอย่างฉันท์ในhttp://kanchanapisek.or.th (อ้าง สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 17) จะส่งสัมผัสระหว่างบท ไปยังคำสุดท้ายของบาทที่สองในบทที่ ๒ ดังภาพ
(http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK17/pictures/s17-33.jpg)

  ....ข้อสังเกต  หรือว่าภาพแผนผัง จะไม่ได้เขียน สัญลักษณ์ แทน บาทแรกของบทที่ ๒ เอาไว้ กระมัง  ?
   จึงขออนุญาตแสดงความคิด มาตามที่เห็น (พอดีไม่ได้เรียน มาทางด้านภาษาครับ)
                ควรมิควร อย่างใดเชิญ อภิปรายกันได้อย่างเสรีนะขอรับ อิ อิ

                                               ด้วยใจจริง
                                               ..สายใย..



หัวข้อ: Re: วิชชุมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: เพรางาย ที่ 04 มกราคม 2011, 05:04:PM
ขอบคุณที่ถามมา  ทำให้คุณงายได้แก้ไขการรับสัมผัสผลงานของตนเอง


วิชชุมาลาฉันท์บังคับให้ต้องใช้ครุทุกวรรค  คือต้องไม่มีคำลหุเลยแม้แต่คำเดียว

คำครุ  คือคำหนัก  หมายถึงคำที่ประสมสระเสียงยาว  เช่น  อา  อี  ไอ  โอ  อือ ออ  หรือคำที่มีตัวสะกด (ไม่ว่าจะใช้สระเสียงสั้นหรือเสียงยาว  ถ้ามีตัวสะกด  ถือว่าเป็นครุทั้งหมด)  ใช้แทนรูปในฉันทลักษณ์ด้วยรูป            ั
คำลหุ  คือคำเบา  หมายถึงคำที่ประสมสระเสียงสั้น  เช่น  อะ  อิ  อุ  เอะ  โอะ  และต้องไม่มีตัวสะกดเด็ดขาด (ภาษาวิชาการเรียกว่า  คำที่ประสมสระเสียงสั้นในแม่ ก กา) ใช้แทนรูปในฉันทลักษณ์ด้วยรูป   ุ



เพรางาย
๔ มกราคม ๒๕๕๔


ขอบคุณคุณสายใยที่ท้วงติงเรื่องภาพฉันทลักษณ์  คุณงายก็ไปก็อปจากในอินเตอร์เน็ตนี่แหละ  เมื่อไปค้นตัวอย่างฉันท์ปรากฏว่าเขาไม่ได้รับสัมผัสอย่างในภาพ  คุณงายคงต้องไปทำภาพผังฉันทลักษณ์มาใหม่เพื่อความถูกต้อง 
ขออนุญาตลบภาพฉันทลักษณ์ (ที่ก็อปเขามา) ออกก่อนนะคะ

(ปล. ทำผังฉันทลักษณ์มาเปลี่ยนใหม่ให้แล้วค่ะ)

เพรางาย
๔ มกราคม ๒๕๕๔


หัวข้อ: Re: วิชชุมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: สายใย ที่ 15 มกราคม 2011, 09:24:PM
(http://www.klonthaiclub.com/pic/bar_020.gif)

ขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณาให้ความกระจ่าง

แต่ขออนุญาต เรียนถามท่านผู้รู้ว่าที่ถูกแล้ว ชื่อของฉันท์ควรเป็น
"วิชชุมาลาฉันท์ ๘"(ม.ม้า ตัวเดียว)

 หรือ "วิชชุมมาลาฉันท์ ๘"(ม.ม้า ๒ ตัว) 

เพราะลองค้นหาโดย กูเกิ้ล แล้วก็มีทั้งสองชื่อ น่ะครับ
 (http://www.klonthaiclub.com/pic/bar_020.gif)


หัวข้อ: Re: วิชชุมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: Lจ้าVojกaoนบทนี้* ที่ 15 มกราคม 2011, 09:31:PM


เห็นพี่สายใย   เข้ามาในนี้
รู้สึกยินดี       ว่ามีเรื่องไร
ที่แท้มาถาม   แก้ความสงสัย
ชื่อฉันท์อย่างไหน หาใครตอบมา

ผมยังไม่รู้   ขออยู่เฉยเฉย
ใช่ว่ามองเลย   ไม่ชายตาหา
แต่ด้วยสับสน  อับจนปัญญา
รอผู้รู้มา      ตอบปัญหาเอย

 emo_45 emo_45 emo_45 emo_45 emo_45 emo_45

ที่แต่งครั้งนี้หวังว่าคงถูกซะทีนะครับ...


หัวข้อ: Re: วิชชุมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: ไม่รู้ใจ ที่ 15 มกราคม 2011, 10:11:PM
อ้างอิง จากหนังสือ ที่มีอยู่ขณะนี้

ใช้ว่า    " วิชชุมมาลา ฉันท์ ๘ "
(หนังสือ  คู่มือเรียนเขียนกลอน โดย
ยุทธ โตอดิเทพย์ @ สุธีร์ พุ่มกุมาร
สนพ. แม่คำผาง)


ไม่รู้ใจ


 
emo_107 emo_107 emo_107



หัวข้อ: Re: วิชชุมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: Lจ้าVojกaoนบทนี้* ที่ 15 มกราคม 2011, 10:24:PM


ทักทายลุงปรางค์   อย่าวางเฉยหัน
มาพูดเรื่องฉันท์      สักวันดีไหม
ตอบคำถามนี้       ของพีสายใย
คุณไม่รู้ใจ            เขาเฉลยมา
ว่าชื่อคำฉันท์        ตำราท่านเผย
มาโพสต์เอื้อนเอ่ย   อ้างอิงตำรา
บอกชื่อตัวฉันท์      วิชชุมมาลา
ซึ่งดูเหมือนว่า      น่าเชื่อถือดี

ทักทายครับ  ลุงปรางค์  เห็นแวะเข้ามาเลยทักทายเป็นคำฉันท์ซะหน่อย  emo_45




หัวข้อ: Re: วิชชุมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: Lจ้าVojกaoนบทนี้* ที่ 15 มกราคม 2011, 10:51:PM


ทักทายทุกท่าน   อย่าพาลนิ่งเฉย
เห็นชื่ออยู่เลย     รีบเผยด่วนจี๋
ยังคงนั่งรอ        มาต่อเสียที
ถ้าเห็นไม่ดี       แต่งนี้ผิดใด
จงช่วยเอื้อนเอ่ย  เปิดเผยกับข้า
อย่ามัวชักช้า     เวลาคอยใคร
ข้าใช้แอร์การ์ด    มาดว่าเหลวไหล
ปล่อยรอช้าไป    คงหมดชั่วโมง. emo_01


เห็นมองกันอยู่นานแล้ว  คิดอะไรกันอยู่เหรอ emo_27


หัวข้อ: Re: วิชชุมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: ไพร พนาวัลย์ ที่ 15 มกราคม 2011, 10:56:PM

อันตัวลุงปรางค์ ไม่ว่างไม่เว้น
แต่งกลอนแปดเป็น ก็เด่นเหลือใจ
เรื่องกาพย์นี่หนอ คุณพ่อไม่ให้ อิอิ
โคลงก็บ่ได้  ไม่ประสาเลย

ขอบคุณ คุณ mayawin มากนะครับ ที่ให้เกียรติเชิญชวน
ผมไม่ค่อยมีเวลาค้นคว้าเลย แค่เข้ามาร่วมสนุกด้วยกลอนแปดที่ถนัด ก็เก่งแล้ว
เชิญคุณเพรางาย คุณกามนิต คุณสายใย(มิตรแท้ในเรือนใจ) และคุณ ไม่รู้ใจ
ถกกันตามสบายเพื่อค้นคว้าหาความรู้เถิด นะครับ

ลุงปรางค์ 
 


หัวข้อ: Re: วิชชุมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: พรายม่าน ที่ 15 มกราคม 2011, 11:02:PM

ค่อนข้างยืนยันได้ว่าเป็นวิชชุมมาลาฉันท์ครับ
จากหลักฐาน จารึกบนหินชนวนในวัดพระเชตุพนฯที่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๓ ทรงให้จารึกแบบแผนคำประพันธ์ "วรรณพฤติ"ระบุไว้ดังนั้น

พรายม่าน
สันทราย
๑๕.๐๑.๕๔

วิชชุ:สายฟ้า  ชุม:มารวมกัน,มีมาก มาลา:ดอกไม้,แถว,สาย "แถวสายฟ้าที่มารวมกัน" ผมว่าน่าจะพอเข้าเค้า หมายเหตุ:เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ ไม่ยืนยัน
(http://www.divshare.com/img/13784718-72c)


หัวข้อ: Re: วิชชุมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: อรุณแรก รัตติกาล ที่ 16 มกราคม 2011, 12:24:AM
ผมเป็นเด็กใหม่   ไม่รู้ภาษา
พึ่งเปิดขึ้นมา   อยากรู้เฉยเฉย
จึงเข้ามาดู   สนุกจังเอย
ได้ความรู้เลย   รวดเร็วทันใจ
ผมชอบแต่งกลอน   ว่างแล้วแต่งเล่น
เพิ่งแต่งฉันท์เป็น   ไม่ใช่วันไหน
วันนี้นี่เอง   กระทู้นี้ไง
ฝากตัวฝากใจ   ฝากมิตรไมตรี...


หัวข้อ: Re: วิชชุมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: ปรางทิพย์ ที่ 16 มกราคม 2011, 12:53:AM
เดือนดาวพราวพร่าง           เคว้งคว้างร้างเหงา
สายลมพรมเบา                  สองเราเฝ้าคอย
ต่างเมืองเขื่องขาม              ถ้อยความยามหงอย
เตือนจิตผิดรอย                  เศร้าสร้อยปล่อยเลย

รักเอ๋ยเคยฝัน                     คำมั่นสัญญา
ไม่หวานผ่านมา                        ไขว่คว้าชาเฉย
แต่นี้ที่รัก                          วงตักพักตร์เชย
ขอพรากจากเคย                  ใจเอ๋ยเปรยตรม


(http://www.klonthaiclub.com/pic/bar_069.gif) (http://www.klonthaiclub.com)


หัวข้อ: Re: วิชชุมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: Lจ้าVojกaoนบทนี้* ที่ 16 มกราคม 2011, 07:36:AM


วิชชุมมาลา    สายฟ้าเป็นพวง
ด้วยเสียงหนักหน่วง   ดุจพวงสายฟ้า
ที่ลั่นบรรลือ   ก็คือเหมือนว่า
เป็นเสียงสายฟ้า   ที่ผ่าลงทัณฑ์
โบราณจำแนก   ให้แปลกเป็นฉันท์
เสียงฟ้าลงทัณฑ์  สรรเป็นมาลา
นั่นคือระเบียบ   เปรียบพวงดังว่า
ร้อยพรรณพฤกษา  ข้ามั่วเอาเอย.    emo_45

อย่าพึ่งเชื่อนะครับ  เป็นแค่ความเห็นส่วนตัวแต่คำว่า วิชชุมาลาอาจจะแปลเป็นไทยแบบเรียบง่ายว่า พวงสายฟ้าก็ได้
หรือบางทีจะแปลให้พิศดารไปหน่อยอาจแปลว่า สร้อยสายฟ้าไปเลย(อิอิ)

หมายเหตุ  มาลา คือการเอาดอกไม้มาร้อยให้เป็นระเบียบหรือเป็นพวง  ใช้คล้องมือ หรือคล้องคอแทนสร้อย(ก็คือพวงมาลัย)
ฉะนั้น วิชชุมมาลา จึงน่าจะหมายถึง พวงสายฟ้า หรือ สร้อยสายฟ้า มากกว่า (ความเห็นส่วนตัว)


หัวข้อ: Re: วิชชุมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: เพรางาย ที่ 25 มกราคม 2011, 11:51:AM
คุณงายก็เห็นเขาใช้ทั้ง  วิชชุมาลา  และวิชชุมมาลา  เหมือนกันค่ะ 
โดยส่วนตัวแล้ว  อ่านว่า  วิชชุมาลา  มาโดยตลอด เพราะยึดว่ามันมาจากคำว่า  วิชชุ + มาลา
แต่มันก็อาจจะเป็นวิชชุมมาลาก็ได้  เพราะมันมีหลักการประสมคำในตำราไวยากรณ์บาลีและสันสกฤตที่มีหลักในการเพิ่มลดหรือเปลี่ยนเสียงสะกดบางคำเมื่อนำมาสร้างคำใหม่  ซึ่งคุณงายไม่ได้เรียนลึกซึ้งขนาดนั้น

เนื่องจากตอนนี้เพิ่งมาเห็นกระทู้  จึงยังไม่ได้ไปค้นคว้าให้มั่นใจ  ก็เลยไม่กล้ารับรองคำที่ถูกต้อง

แต่ค่อนข้างเชื่อว่าน่าจะใช้  วิชชุมมาลาฉันท์  ตามที่เพื่อนๆ หลายคนยกมา
สอบทานที่มาที่ไปเรียบร้อยแล้ว  จะแก้ไขชื่อหรือคำเรียกให้ถูกต้องต่อไปค่ะ

แต่ว่า...ดีใจจัง  ที่มีเพื่อนๆ มาคุยกัน  แสดงความคิดเห็นกัน  ในกระทู้นี้

เมื่อเช้าว่าจะลองแต่ฉันท์แบบใหม่  ไปสะดุดใจกับโคลง  เลยลองแต่งโคลงดั้นเล่น 
เผื่อจะได้มาตั้งกระทู้ใหม่ในห้องฉันทลักษณ์ 

ใครสนใจคำประพันธ์อื่นๆ ก็มาแต่งเล่นกันนะคะ



 emo_116


หัวข้อ: Re: วิชชุมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: ♥ กานต์ฑิตา ♥ ที่ 25 มกราคม 2011, 01:09:PM
ติดตามอ่านมาตลอด แต่ไม่ได้แสดงความคิดเห็น เนื่องจากต้องการไปค้นคว้าข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่น่าจะถูกต้องที่สุด จากการไปค้นคว้ามาปรากฏมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า " วิชชุมมาลาฉันท์ ๘" ถูกต้อง โดยปรากฏหลักฐานในหนังสือ "สามัคคีเภทคำฉันท์" ซึ่งนายชิต บุรทัต ได้แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ และจากการค้นคว้าประวัติของนายชิต  บุรทัต ท่านเป็นผู้มีความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ร้อยกรอง โดยเฉพาะฉันท์

แรมทางกลางเถื่อน  ห่างเพื่อนห่างผู้
หนึ่งใดนึกดู  เห็นใครไป่มี
หลายวันถั่นล่วง  เมืองหลวงธานี
นามเวสาลี  ดุ่มเดาเข้าไป

จาก สามัคคีเภทคำฉันท์ - ชิต บุรทัต

emo_107


หัวข้อ: Re: วิชชุมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: ♥ กานต์ฑิตา ♥ ที่ 25 มกราคม 2011, 03:16:PM

(http://i882.photobucket.com/albums/ac25/Kan_ry/1727_1.jpg)


จารึกเรื่องฉันท์วรรณพฤติ แผ่นที่ ๔ (วิชชุมมาลาฉันท์)


ปัจจุบันอยู่ที่ เสาพระระเบียงพระอุโบสถชั้นใน วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ฉันท์วรรณพฤติ เป็นตำราแต่งฉันท์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ทรงอาราธนากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ตั้งแต่ครั้งยังเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรสให้ทรงนิพนธ์ เมื่อ ปีขาล จุลศักราช ๑๒๐๔ (พ.ศ. ๒๓๘๕) พร้อมกับตำราฉันท์มาตราพฤติ เพื่อจารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ คัมภีร์วุตโตทัยมีการแบ่งฉันท์ออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ ฉันท์ประเภทบังคับพยางค์ เรียกว่า “วรรณพฤติ” และฉันท์ประเภทบังคับมาตรา เรียกว่า “มาตราพฤติ” แต่ละประเภทมีการแบ่งย่อยเป็นหลายชนิด ตามลักษณะบังคับของคณะฉันท์ สำหรับฉันท์วรรณพฤติในคัมภีร์วุตโตทัยมี ๘๑ ชนิด ตั้งแต่บาทละ ๖ พยางค์จนถึงบาทละ ๒๕ พยางค์ กวีได้มีการนำมาจัดวรรคและเพิ่มสัมผัสเป็นฉันท์ไทย

เนื้อหาโดยสังเขป    แสดงลักษณะบังคับของ “วิชชุมมาลาฉันท์” (ฉันท์ ๘) กล่าวคือ บทหนึ่งมี ๔ บาท บาทละ ๘ พยางค์ แบ่งเป็น ๒ วรรค วรรคละ ๔ พยางค์ ประกอบด้วย มะ คณะ ๒ คณะ และ ครุลอย ๒ ตัว มีการส่งสัมผัสแบบกลอนและเพิ่มสัมผัสระหว่างวรรคในบาทที่ ๑ กับบาทที่ ๓ สำหรับตัวอย่างฉันท์มีเนื้อหาว่าด้วย “โทษเสพสุรา ๖ ประการ” สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓)


ภาพประกอบ    ภาพถ่ายจารึกจาก : โครงการพัฒนาฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สำรวจเมื่อ ๒๑ - ๒๒ กรกฏาคม ๒๕๕๐


หัวข้อ: Re: วิชชุมมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: คอนพูธน ที่ 14 กรกฎาคม 2011, 10:54:AM
 emo_73
ริมบึง

พอแสงแดดสาน       ลองขานพลางขับ
อุ่นเรียงโอบรับ          มาคลอเพลงคราว
งามพบได้พิศ           อวลพลันเอยพราว
ฟากขอบฟ้าขาว        เสียงขานลานคำ

ผีเสื้อล้อแสง            แดดแรงโชยริน
กอไผ่ดีดพิณ            ฟังครวญชวนขำ
สีกออ้อออด             พลอดเร้าเชิญรำ
เพลินในลำนำ          ร่ายนี้เริงนาน
                           
บ้างล้อเชยลม          บินดมไม้ดอก
เกาะช้ำกลีบชอก       ผึ้งสวยช่วยสาน
ชมบัวช่อใบ              ดอกเบ่งเริ่มบาน
ช่างหวานกว่าหวาน   กลีบบัวกลางบึง
                           
สายลมปลิวลาม        ทุกยามรินหยาด
ชวนพิศงามผาด        ดั่งเพลงรำพึง
ลมที่พัดโถม             โหมโปรยโชยถึง
หวามติดใจตรึง         กลิ่นอวลชวนหอม

ลานทองคำทิพย์      คัดหยิบมาหยอด
ช่อเย้าชูยอด            กรุ่นยิ่งใจยอม
แมงดื่มชื่นดอก         เพลินดมพลางดอม
โลมไต่บินตอม         สวยเติมเรียงตาม

พอแสงแดดสาน       เคียงลานพราวลักษณ์
ยินเสียงเรียงทัก        แสงทองกล่าวถาม
ชวนเย้าเชิญยล        สวยยิ่งชมยาม
บอกฝากบนความ      แต่งฟ้าเติมฝัน ๚ะ๛
                            คอนพูทน
ขอบคุณคุณ ขอบคุณคำ ขอบคุณครับ



หัวข้อ: Re: วิชชุมมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: สมนึก นพ ที่ 14 กรกฎาคม 2011, 01:15:PM
ขอบคุณครับครู ได้รู้อีกบท
สมุดมาจด ช่วยเตือนความจำ
พอดูรูปแบบ มีแอบแปดคำ
ท้ายบทเน้นย้ำ สัมผัสห่างไกล

คล้ายวิเชียรฉันท์ สิบเอ็ดอันใหญ่
วรรคหน้าว่าไป ห้าคำนำวาง
ส่วนเหลืออีกหก ยกไปไม่ห่าง
สองแบบรู้ทาง หมายเหตุจำมี.

........ตรวจทานให้ด้วยครับผม........

นพ
14 ก.ค.54


หัวข้อ: Re: วิชชุมมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: พิมพ์วาส ที่ 18 ตุลาคม 2011, 03:52:PM
แสนเศร้าใจโศก                กรรมโรคถามหา
เกินกล่าววาจา                  ว้าวุ้นวายใจ
กรรมใดใครก่อ                  ไม่ต่อเลี่ยงได้
ขอโรคกรรมใด                  หายไปเถิดนา

หลายโรคเร้าหนัก              แจ้งชัดให้เห็น
บุญกรรมที่เป็น                  ล้วนแต่แจ้งค่า
ใครก่อกรรมมา                   เมื่อร้างไปหนา
แลได้ถึงครา                     สิ้นบุญใช้กรรม


หัวข้อ: Re: วิชชุมมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: พิมพ์วาส ที่ 28 ตุลาคม 2011, 07:42:PM
สายลมพรมหน้า         เหมือนว่าตาเห็น
ช่างตรมขมเย็น          ดั่งเช่นเป็นไป
ดวงจันทร์พลันพร่าง    อ้างว้างพรางไหว
ช่างเย็นเข็นใจ            หนาวสั่นพรั่นกาย

ดวงดาราล้อม              ให้ห้อมล้อมขอ
พาใจไหวพอ               ให้เร่เทขาย
จันทร์หวั่นพรั่นหาย       พลั่นคิดจิตวาย
ให้ปองครองหมาย         ดั่งจันทร์วันเพ็ญ

(http://www.qzub.com/bar_043.gif) (http://www.qzub.com)


หัวข้อ: Re: วิชชุมมาลาฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: จารุทัส ที่ 13 ธันวาคม 2012, 08:51:PM

                  ๐ วิชชุมมาลา      อย่างว่ามือใหม่
                  ลองเดินเข้าไป      ยังห้องฝึกนี่
                  ได้ยินเสียงทุ้ม      เสียงนุ่มน้องพี่
                  เสียงครูใจดี      ช่วยสอนผลัดกัน

                  ๐ จึงอ่านตัวอย่าง   ก้องค้างในหู
                  ลองเลียนแบบดู      เรียนรู้จักมัน
                  แลบคล้ายสายฟ้า   ลีลาของฉันท์
                  ทางใครทางมัน      ฝ่าลงตรงใจ

                  ๐ สันสนอยู่นิด      ยามคิดเลือกเสียง
                  ควรใช้หลีกเลี่ยง   เสียงคำตามใด
                  เหตุเห็นสามัญ      พัวพันร่ำไป
                  เสียงอื่นถูกไหม      คำนับครับครู

                                    emo_126